"คำนูณ" ยก 4 ข้อ "ศาลรธน." กุมอำนาจมหาศาล - ชี้ถูกควบคุมเหมือน "องค์กรอิสระ"

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"คำนูณ สิทธิสมาน" โพสต์เฟซฯระบุถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้นของศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำลังเป็นที่จับตามองจากทุกฝ่าย แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ถูกควบคุมด้วย ม.231 หากมีความผิดจะถูกดำเนินคดีเหมือนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและตำแหน่งการเมืองด้วย ...

 

วันนี้ (10 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ค "Kamnoon sidhisamarn" ถึงอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ในร่างรัฐธรรมนูญร่างเบื้องต้นของ กรธ. ว่า ศาลรัฐธรรมนูญสร้างจุดเปลี่ยนทางการเมืองในห้วงวิกฤตของประเทศที่ผ่านมา 10 ปีแล้ว 5 ครั้งใหญ่ คือกลางปี 2550 (ยุบพรรคไทยรักไทย) ปลายปี 2551 (ยุบ 3 พรรครวมทั้งพรรคพลังประชาชน) กลางปี 2555 (ยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ) ครึ่งหลังของปี 2556 (ยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 รายมาตรา) และต้นปี 2557 (มีผลให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรพ้นตำแหน่งนายกฯ) ยังมีครั้งใหญ่รองลงมาอีกสองสามครั้งโดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2556 ต่อต้นปี 2557
         


อำนาจที่เพิ่มขึ้นจากเดิมของศาลรัฐธรรมนูญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงถูกจับตาจากทุกฝ่ายเป็นธรรมดา
         


มาดูกันชัด ๆ ว่าอำนาจในส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมมีอะไรบ้าง เรียงลำดับตามความสำคัญในมุมมองของผม

 

1. อำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ - มาตรา 205 (2) เป็นอำนาจที่เขียนไว้สั้น ๆ แต่กว้างขวางมาก จุดมุ่งหมายเพื่อยับยั้งวิกฤตทุกประเภท
         


2. อำนาจวินิจฉัยกรณีไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากกรณีนั้นไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่จะยกมา ปรับใช้ได้ - มาตรา 207
         


นี่เป็นอำนาจกว้างขวางมากพอ ๆ กับข้อ 1 เพราะเดิมเคยเป็นบทบัญญัติมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ที่อยู่ในบททั่วไปของรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของทุกองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐ คราวนี้โยกจากบททั่วไปมาอยู่ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญที่แยกออกมาจากหมวดศาลเป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน เมื่อรวมอำนาจข้อ 2 เข้ากับข้อ 1 จะถือเป็นอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดที่ครอบคลุมทุกปัญหา นัยว่าจะเป็นการยับยั้งวิกฤตได้ทุกระดับโดยไม่ต้องพึ่งการรัฐประหาร
         


3. อำนาจวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านขั้นตอนรัฐสภาที่ยากมากแล้ว มีลักษณะ 3 ประการนี้หรือไม่ (1) เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ (2) เรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลและองค์กรอิสระ (3) เรื่องที่ทำให้ศาลและองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ได้ ถ้าเข้าลักษณะประการใดประการหนึ่ง ใน 3 ประการนี้แล้วทำไม่ได้โดยลำพังรัฐสภาต้องไปประชามติก่อน - มาตรา 253 (8) (9) นี่ก็เป็นอำนาจที่ไม่เคยมีองค์กรใดตามรัฐธรรมนูญเคยมีมาก่อน ถ้าจะมีข้อสังเกตก็คือใน (2) และ (3) เป็นการวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับองค์กรตนเองด้วย
      
  

4. อำนาจกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ส.ส., ส.ว. และครม. จะต้องปฏิบัติ และการวางมาตรฐานว่าการณ์ใดจึงจะเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง - มาตรา 215 และ 265 นี่เป็นอำนาจที่สำคัญมาก เดิมรัฐธรรมนูญ 2550 ให้แต่ละองค์กรกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมกันเองตามเงื่อนไขบังคับขั้นต่ำที่ รัฐธรรมนูญวางไว้ และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้กำกับมาตรฐาน
         


5. อำนาจวินิจฉัยวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งส.ส., ส.ว., รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี - มาตรา 231 เดิมตามรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นส่วนหนึ่งในอำนาจถอดถอนของวุฒิสภา เท่าที่อ่านมาหลายรอบ อำนาจที่เพิ่มขึ้นก็มีเพียงเท่านี้ อาจจะยุบรวมข้อ 4 กับ 5 เข้าด้วยกันก็ได้ ก็พูดได้ว่าเพิ่มขึ้นแค่ 4 กลุ่ม ไม่มาก แต่บังเอิญเบิ้ม ๆ ทั้งนั้น
         


นอกจากนั้นเป็นอำนาจเดิมตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ เช่น วินิจฉัยคุณสมบัติของส.ส. ส.ว. และรัฐมนตรี เพียงแต่คุณสมบัติที่เพิ่มขึ้นอย่างเข้มข้น ก็ทำให้อำนาจวินิจฉัยที่มีอยู่แต่เดิมมีความสำคัญต่อการเมืองยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก ต้องพูดอีกด้านด้วยว่าอำนาจมากเช่นนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกควบคุมอย่างไร
         


ตอบได้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกควบคุมและดำเนินคดีได้เหมือนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและตำแหน่งการเมืองอื่น ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงด้วย - มาตรา 231 (1) (2) โอกาสต่อไปจะมาเล่าถึงอำนาจขององค์กรอิสระที่เพิ่มขึ้นไม่มากแต่มีนัยสำคัญ

 

 

"คำนูณ" ยก 4 ข้อ "ศาลรธน." กุมอำนาจมหาศาล - ชี้ถูกควบคุมเหมือน "องค์กรอิสระ"