ยกฟ้อง "อภิชาต" มือป่วนชูป้ายต้านรปห.ที่หอศิลป์ !! ชี้ โจทก์ไม่มีอำนาจสอบสวนในที่เกิดเหตุ

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th

 

วันนี้ ( 11 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เวลา 09.00 น. ที่ศาลแขวงปทุมวัน ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 363/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 134/2559 ซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จ.ส.อ.อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ นักกิจกรรมและนักวิชาการด้านกฎหมายรุ่นใหม่ เป็นจำเลยในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และมาตรา 8, 11 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 215 วรรคแรก, 216 และ 368 วรรคแรก จากกรณีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร เพื่อคัดค้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557

 

 


          ศาลพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยในประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ ซึ่งศาลเห็นว่า โจทก์มิได้นำสืบข้อเท็จจริงว่า ความผิดในข้อหาตามที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนั้น เป็นความผิดที่เกิดขึ้นในท้องที่ที่อยู่ในเขตอำนาจการสอบสวนของกองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันเป็นหน่วยงานที่ร้อยตำรวจโทชลิต มณีพราว พนักงานสอบสวนคดีนี้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ซึ่งจะทำให้ร้อยตำรวจโทชลิตมีอำนาจในการสอบสวนความผิดนั้นได้ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ลักษณะที่ 2 เรื่องการจัดระเบียบราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในมาตรา 10 ได้บัญญัติไว้ว่า

 

 

 


          “สำนักงานตำรวจแห่งชาติแบ่งส่วนราชการดังต่อไปนี้ (1) สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (2) กองบัญชาการ” และในวรรคสองของมาตราดังกล่าวได้บัญญัติไว้ว่า “การแบ่งส่วนราชการตาม (1) เป็นกองบัญชาการหรือการจัดตั้งกองบัญชาการตาม (2) ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และการแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่น ให้ออกเป็นกฎกระทรวงและให้กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ในพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงนั้นแล้วแต่กรณี”แสดงว่าการแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นกองบังคับการจะต้องออกเป็นกฎกระทรวง และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองบังคับการจะต้องกำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับเดียวกัน

 

 

 


          การออกกฎกระทรวงกำหนดอำนาจและหน้าที่ของกองบังคับการถือเป็นข้อบังคับซึ่งระบุอำนาจและหน้าที่ของตำรวจภายในกองบังคับการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 16 เมื่อไม่ปรากฏจากคำเบิกความของพยานโจทก์ปากร้อยตำรวจโทชลิต และไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์โดยมีกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาแสดงเป็นพยานหลักฐาน เพื่อให้รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการปราบปราม และกฎกระทรวงดังกล่าว ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของกองบังคับการปราบปรามไว้ว่า ความผิดในข้อหาตามที่ฟ้องซึ่งเกิดในท้องที่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร นั้น อยู่ในเขตอำนาจและหน้าที่การสอบสวนของกองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

 

 


          ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบมาจึงฟังไม่ได้ว่า กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจและหน้าที่ในการสอบสวนความผิดอาญาที่เกิดขึ้นในท้องที่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ตามข้อกล่าวหาในคดีนี้ และฟังไม่ได้ต่อไปอีกด้วยว่า ร้อยตำรวจโทชลิต พนักงานสอบสวน กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนความผิดที่เกิดขึ้นในท้องที่ตามข้อกล่าวหาในคดีนี้เช่นกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ร้อยตำรวจโทชลิตมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนคดีนี้ กรณีจึงฟังไม่ได้ว่ามีการสอบสวนความผิด ต่อไปอีก พิพากษายกฟ้อง