"คณิน" แจง 10 ข้อเสีย !! บัตรเลือกตั้งใบเดียวทำการเมือง ไร้คนดีเข้าสภา

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th

 


"คณิน บุญสุวรรณ"  เผยการเลือกตั้งแบบกาบัตรใบเดียว ไม่ใช่แค่ทำให้รบ.อ่อนแอเท่านั้น พร้อมแจงข้อเสียการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วน  10 ประการ ยกตัวอย่างเช่น ส.ส.เหลือแค่แบบแบ่งเขต เท่ากับมัดมือชกประชาชน และที่สำคัญรัฐบาลขาดเสถียรภาพในการจัดตั้งรัฐบาล

 

 

 

วันนี้ ( 11 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 กล่าวถึงการเลือกตั้งแบบกาบัตรใบเดียวว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่จะทำให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งอ่อนแอ ไม่ได้มีเพียงการเลือกตั้งแบบกาบัตรใบเดียวเท่านั้น แต่มีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น การกำหนดให้การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา การบริหารราชการแผ่นดิน และการตรากฎหมาย ต้องอยู่ในกรอบหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ การให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่าการแปรญัตติหรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ มีผลทำให้ ส.ส. , ส.ว. กรรมาธิการ หรือรัฐมนตรีมีส่วนในการใช้งบประมาณซึ่งจะมีผลให้ ครม.ทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งและถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต การกำหนดให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายที่จะแถลงต่อประชาชนไปให้ กกต. ตรวจสอบเสียก่อนว่าเป็นนโยบายประชานิยมหรือไม่ การกำหนดให้ กกต., ป.ป.ช. และ คตง. มีอำนาจทักท้วงการดำเนินโครงการ ของรัฐบาลจนต้องหยุดชะงักหรือยกเลิกไปเลย การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยับยั้ง ร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีเสนอและรัฐสภาให้ความเห็นชอบมิให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำใดของคณะรัฐมนตรีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือขัดต่อหลักนิติธรรมหรือไม่ เป็นต้น

 

 

 


          นายคณิน กล่าวว่า การเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนโดยการกาบัตรเดียวนั้น มีข้อเสียโดยสรุป 10 ประการ ดังนี้

 

 


          1. ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน เพราะในขณะที่ ส.ส. มี 2 ประเภท แต่กลับให้ประชาชนมีสิทธิเลือกได้เพียง ส.ส. เขตเท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน พูดง่ายๆ คือ มัดมือชกนั่นเอง

 

 


          2. เป็นการรอนสิทธิหรือบังคับจิตใจของประชาชนมิให้ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” จึงทำให้ประชาชนมีสภาพเหมือนถูก “ขโมย” สิทธิที่จะลงคะแนนเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ

 


          3. ทำให้พรรคที่ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.เขตมีจำนวนมากเท่าไร โอกาสที่จะได้ที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก็ลดน้อยลงเท่านั้น ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริง

 

 


          4. ทำให้เป็นการยากที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้

 

 


          5. ทำให้พรรคการเมืองที่มีที่นั่งมากที่สุดในสภาอาจถูกผลักให้เป็นฝ่ายค้าน โดยพรรคอันดับสองและพรรคที่เหลือทั้งหมดจับมือกัน ซึ่งขัดแย้งกับหลักการปกครองโดยเสียงข้างมาก“Majority rule”

 

 


          6. เปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอกและรัฐบาลผสม ที่พรรคอันดับหนึ่งไม่ได้เป็นรัฐบาลซึ่งกระทบต่อภาพลักษณ์และเป็นที่เย้ยหยันของประชาคมโลก ตลอดจนความไม่เชื่อมั่นในเสถียรภาพของรัฐบาลอีกต่างหาก

 

 

 


          7. ทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอและตกอยู่ในวังวนของการแย่งชิง กดดัน ต่อรองตำแหน่ง และผลประโยชน์จนผู้นำรัฐบาลทนต่อแรงเสียดทานไม่ไหว ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ คนนอก หรือนายกฯ ที่เป็น ส.ส. ยิ่งถ้าเป็นนายกฯ คนนอกยิ่งจะโดนหนักจากพรรคร่วมรัฐบาล

 

 


          8. ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอและแตกแยกจากปัจจัยที่นอกจากจะต้องเสนอชื่อนายกฯ ถึง 3 คน และแย่งกันอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ แล้ว ยังทำให้ขาดแรงจูงใจและเกี่ยงงอนกัน หาคะแนนนิยมให้กับผู้สมัคร ส.ส. เขตของพรรคอีกด้วย

 

 


          9. ขัดแย้งกับการโฆษณาชวนเชื่อของ กรธ. ที่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ส่งเสริมให้คนดี เข้าสู่สภา เพราะโอกาสของคนดีที่จะเข้าสู่สภาโดยผ่านทางบัญชีรายชื่อแทบจะเป็นศูนย์

 

 

 


          10. เปิดช่องให้พรรคขนาดกลางเนื้อหอมจนบรรดานายทุนแย่งกันประมูลซื้อพรรค และเป็นนายทุนให้ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคเอาเงินไปซื้อเสียง