"กรธ." ปลื้มคนภาคกลาง พอใจ "รธน.ปราบโกง" !! รับแจกร่างรธน.ไม่ทั่วถึง มีผลกระทบ

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th

 

"โฆษกกรธ." แถลงผลการรับฟังความเห็นคนภาคกลาง เรื่องร่างรธน.ประเด็นสิทธิเสรีภาพ  ยังมีช่องโหว่เรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิง-ชาย   และมีบางส่วนยังกังวล เรื่องที่มาของสว. แม้จะมาจากสายอาชีพ ไม่ได้อิงพรรคการเมือง แต่วิธีการเลือกไขว้  ไม่สามารถการันตีคุณภาพผู้สมัครได้  -พร้อมข้อเสนอให้เพิ่มตุลาการศาลรธน.จาก 9 คน เป็น 11 คน  รวมถึงอายุตำแหน่งควรอยู่ที่ 70 ปี  -ยอมรับไม่แจกจ่ายร่างรธน.ตามครัวเรือนทั่วประเทศ ถึงร้อยละ 80 มีผลกระทบบ้าง  

 

 

 

วันนี้ ( 11 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงถึงผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เวทีภาคกลาง ตลอด 2 วันที่ผ่านมาว่า ประเด็นสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยภาพรวมส่วนใหญ่มีความพึงพอใจ เนื่องจากได้กำหนดบทบัญญัติสิทธิเสรีภาพ ไว้อย่างครอบคลุม แต่มีข้อสังเกตอยากให้กำหนดสิทธิของแรงงาน ให้มีความชัดเจนเท่ากับมาตรฐานสากล และอยากให้กำหนดสิทธิความเท่าเทียมของหญิง-ชายไว้ให้ชัดเจนเช่นเดียวกัน ส่วนกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ส. และ ส.ว.นั้น ผู้เข้าร่วมเสวนา ก็เห็นด้วยกับการออกแบบระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม แต่มีข้อห่วงใยเกี่ยวกับการกำหนดให้มีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เพราะเกรงว่าจะมีการทุ่มเงินเพื่อซื้อเสียง ดังนั้นจึงอยากให้ กรธ.อธิบายวิธีการลงคะแนนบัตรเลือกตั้งใบเดียวให้รอบคอบ และชี้แจงว่าไม่ได้เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน เพราะอดีตที่ผ่านมา ประชาชนจะคุ้นเคยกับการลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้ง จำนวน 2 ใบ

 

 


          นายชาติชาย กล่าวต่อว่า ส่วนกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นประเด็นที่ผู้เข้าร่วมเสวนาถกเถียงกันมาก แต่ส่วนใหญ่ก็รู้สึกดีใจที่กำหนดให้ ส.ว. มาจากกลุ่มประชาชนในสาขาอาชีพด้านต่างๆ จำนวน 20 กลุ่ม โดยที่ไม่ได้อิงกับพรรคการเมือง แต่ได้ฝากข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการเลือกข้ามกลุ่มหรือเลือกไขว้ เพราะเกรงว่าวิธีการเช่นนี้ จะทำให้ผู้เลือกไม่สามารถรู้ได้ว่า คนไหนมีความรู้ ความสามารถอย่างแท้จริง ควรที่จะกำหนดเลือกกันเองภายในกลุ่มน่าจะเหมาะสมกว่า ขณะเดียวกันอยากให้ กรธ. ออกแบบวิธีการคัดกรองคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัคร ส.ว. เพื่อจะได้คนที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้ามาทำหน้าที่

 

 

 


          โฆษกกรธ. กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับศาลและองค์กรอิสระ มีการเสนอให้เพิ่มองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จาก 9 คน เพิ่มเป็น 11 คน รวมถึงอายุของตุลาการฯ ควรให้อยู่ดำรงตำแหน่งถึงอายุ 70 ปี เหมือนกับองค์กรอื่นๆ ส่วนศาลปกครอง ก็มีการเสนอให้ปรับองค์ประกอบผู้ทรงคุณวุฒิของตุลาการศาลปกครอง ให้มีความครอบคลุมทุกมิติ เพื่อที่จะได้ทำหน้าที่ในการพิจารณาคดี ตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชน ส่วนองค์กรอิสระ ขอให้มีตัวแทนของภาคประชาชน เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหาด้วย ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ควรปรับลดวาระการดำรงตำแหน่งจากเดิมที่กำหนดไว้9 ปี เป็น 7 ปี เหมือนองค์กรอื่นๆ

 

 


          นายชาติชาย กล่าวต่อว่า กระบวนการการทำงานของ กรธ. หลังจากนี้ที่ทุกภาคส่วนได้ส่งความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญมายัง กรธ. ในวันที่ 15 ก.พ.แล้ว จะนำทุกความเห็นและข้อเสนอแนะ มาพิจารณาไล่เรียงไปตามหมวดและมาตราต่าง ๆ และเปรียบเทียบว่าในแต่ละหมวดแต่ละมาตรา มีการเสนอประเด็นใดบ้าง และเมื่อ กรธ.ได้ปรับแก้ไขประเด็นใด ก็จะชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ โดยจะเร่งดำเนินการให้ทัน เพื่อที่จะได้ส่งร่างสุดท้ายให้ ครม.ภายในวันที่ 29 มี.ค.นี้

 

 

 


          เมื่อถามว่า รัฐบาลมีข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะไม่แจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้ครบร้อยละ 80 ของครัวเรือนทั่วประเทศ จะส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของประชาชนต่อการลงประชามติหรือไม่ นายชาติชาย กล่าวยอมรับว่า มีผลกระทบอยู่บ้าง เพราะหลักการสำคัญของ กรธ.ตั้งใจที่จะทำให้ประชาชน ทั้งผู้มีสิทธิออกเสียงและผู้ไม่มีสิทธิ ได้สนใจและเข้าหาข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญได้ง่าย แต่เมื่อมีแนวคิดที่จะไม่แจกจ่ายให้ครบทุกครัวเรือน ก็ไม่เป็นไร ทาง กรธ. ก็คงต้องหาวิธีการเพื่อส่งต่อข้อมูลออกไปให้ประชาชนได้รับรู้มากที่สุด ซึ่งเบื้องต้นอาจนำเสนอในรูปแบบของอินโฟกราฟฟิค สรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจะมีการจัดทำในรูปแบบของแอพพลิเคชั่น แต่ถ้ามีความเป็นไปก็อยากให้รัฐบาลทบทวน โดยอาจจะจัดทำเป็นฉบับย่อๆ ที่บรรจุเนื้อหาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วน ก็จะเป็นผลดีต่อประชาชน

 

 

 


          ทางด้านนายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประเด็นการทำประชามติ ว่า เห็นด้วยกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ตัดสินใจปรับแก้ไข เพราะประเด็นนี้หลายฝ่ายก็เรียกร้องให้ดำเนินการปรับปรุงเพื่อให้เกิดความชัดเจน และเมื่อปรับแก้ไขแล้วก็เชื่อว่าจะช่วยทำให้บรรยากาศหลังจากนี้ดีขึ้น ส่วนถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการทำประชามติแล้วจะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดขึ้นมาพิจารณานั้นก็แล้วแต่ความเหมาะสม แต่หากจะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ กรธ. จัดทำขึ้นมา ก็คงต้องย้อนถามกลับไปว่าเมื่อจะใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เหตุใดไม่ช่วยกันทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติไปเสียเลย ส่วนตัวมองว่าหากทุกคนอ่านร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด ก็เชื่อว่าประชาชน พรรคการเมือง รวมทั้งคนที่เห็นแย้ง จะมีความเข้าใจสาระร่างรัฐธรรมนูญที่ชัดเจนมากขึ้น.