"สปท." นัดถก "ร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ" 16 ก.พ.นี้ - กำหนดกรอบคลุม 12 ด้าน

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"สปท." นัดประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ 16 ก.พ.นี้ วางกรอบครอบคลุมอย่างน้อย 12 ด้าน ทุกรัฐบาลต้องอยู่ภายใต้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ หากฝ่าฝืนโดน "ป.ป.ช." ฟันแน่ !!

 

วันนี้ (12 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)ได้บรรจุวาระการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มี พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ เป็นประธาน ในวันที่ 16 ก.พ. โดยมีทั้งสิ้น 5 หมวด 61 มาตราเข้าสู่ที่ประชุม สปท. ในวันที่ 16 ก.พ.นี้ โดยมีเนื้อหาสำคัญ ดังนี้ คณะกรรมการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มี 25 คน ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา เป็นกรรมการโดยตำแหน่งและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ อีก 22 คน ที่มาจากการสรรหา มีหน้าที่กำหนดแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์ที่ต้องครอบคลุมอย่างน้อย 12 ด้าน คือ 1.ความมั่นคงทางทหาร 2.การเมือง 3.การบริหารราชการแผ่นดิน 4.กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 5.การปกครองท้องถิ่น 6.การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 7.เศรษฐกิจ การเกษตร การอุตสาหกรรม การบริการการเงิน การคลัง และงบประมาณ 8.พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการผังเมือง 9.สาธารณสุข 10.การคมนาคมและเทคโนโลยีการสื่อสาร 11.สังคมศิลปะและวัฒนธรรม 12.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและอื่นๆ
         


การจัดทำและการดำเนินนโยบายหรือแผนงานของรัฐสภา ครม. รวมทั้งหน่วยงานและองค์กรของรัฐ ต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติตามพ.ร.บฉบับนี้และยุทธศาสตร์ชาติจะมีผลผูกพันรัฐสภาและครม.ทุกสมัย พร้อมทั้งมีอำนาจตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติของรัฐสภา ครม. องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ และเปิดเผยผลการตรวจสอบต่อสาธารณะ กรณีพบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ จนทำให้ประเทศเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง แต่ไม่ปรากฎการทุจริตให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ เสนอต่อวุฒิสภา เพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ แต่หากปรากฎการทุจริต ให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
         


ส่วนที่ 2 คณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติ จำนวนไม่เกิน 29 คน มาจากหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ 17 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 12 คนที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีอำนาจหน้าที่ กำกับดูแล ผลักดันให้มีการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติติดตามตรวจสอบ และประเมินผล ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการรวบรวมข้อมูลความเห็นและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาทิศทางยุทธศาสตร์ชาติให้สะท้อนความต้องการของประเทศ และประชาชน