"อดีตอสส." ปัดกังวล !! ปมไม่ฎีกา "ธรรมรักษ์" จ้างพรรคเล็กลงลต. - ท้ายื่นคำร้องตรวจสอบได้

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"อรรถพล ใหญ่สว่าง" ไม่กังวล !! ในกรณีไม่ยื่นฎีกา "พล.อ.ธรรมรักษ์" จ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง เผยความเห็นตั้งแต่อัยการเจ้าของสำนวนไล่มาจนถึงคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์สอดคล้องกันว่าไม่ผิด ก็คือไม่ผิด พร้อมท้าให้ตรวจสอบ ...

 

วันนี้ (13 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวถึงกรณีที่นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบกรณีที่อัยการไม่ยื่นฎีกาในส่วนของ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา หรือบิ๊กแอ๊ด อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และอดีตรมว.กลาโหม จำเลยที่ 1 คดีว่าจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง ว่า ตนไม่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะการมีความเห็นการสั่งคดีของตนทุกคดี ต้องอยู่บนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน รวมถึงข้อกฎหมายว่ามีอำนาจทำได้หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าในชั้นศาลพยานโจทก์ที่เบิกความแล้วกลับคำให้การ จนไม่สามารถที่จะยืนยันได้ว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ ได้กระทำความผิดจริง ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พิพากษา และพนักงานอัยการก็ได้พิจารณาถึงเหตุผลดังกล่าวแล้ว มีความเห็นควรไม่ยื่นฎีกาเสนอขึ้นมาตามขั้นตอนมายังตนในฐานะ อสส.ขณะนั้น ตนได้อ่านคำพิพากษาศาลของชั้นต้น และศาลอุทธรณ์โดยละเอียดประกอบกับความเห็นเริ่มจากพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนมาถึงตน จนตนมีความเห็นว่า ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาโดยยึดพยานหลักฐานจากคำเบิกความของพยานในชั้นศาลชั้นต้น น่าเชื่อว่าพยานหลักฐานดังกล่าว รวมทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ประกอบกับการพิจารณาคดีอาญานั้น ใช้หลักการค้นหาความจริงตามระบบกล่าวหาเป็นหลัก มีส่วนที่เป็นระบบไต่สวนมาบ้าง
         


"ศาลอุทธรณ์ก็มีความเห็นว่า ในส่วนของ พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่า กระทำผิดร่วมด้วย ผมก็มีความเห็นสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ รวมถึงความเห็นตั้งแต่อัยการเจ้าของสำนวนไล่มา ดังนั้นการปฎิบัติงานของผมก็เป็นไปตามข้อเท็จจริง ตามพยานหลักฐานและข้อกฎหมายทุกประการ ผมเป็นอาจารย์สอนวิชานี้มากว่า 40 ปี ผมจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นไม่ได้ หากใครมีความเห็นแตกต่างและจะตรวจสอบอย่างไร ก็สามารถยื่นคำร้องไปได้ ผมไม่มีความกังวลแต่อย่างใด" นายอรรถพล กล่าว
         


เมื่อถามว่า มีการเสนอความเห็นยังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าอัยการควรมีอิสระในการสั่งคดี แต่ควรมีองค์กรตรวจสอบด้วย เช่น ถ้าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ แล้วอัยการไม่อุทธรณ์หรือฎีกา ต้องเอาคำสั่งดังกล่าวแจ้ง ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือองค์กรอิสระ ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการ ?

 


นายอรรถพล กล่าวว่า ในกรณีของอัยการอยากให้ไปศึกษาพนักงานอัยการทั่วโลกว่า เวลาจำเลยมีคดีอย่างไรแล้ว อย่างไหนที่เป็นสากล ซึ่งตนมองว่าจะต้องให้อำนาจอิสระในอำนาจของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ส่วนจะมีความเห็นอย่างไรตนไม่อยากก้าวล่วง และในกรณีที่อัยการไม่อุทธรณ์หรืออัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ก็มีการตรวจสอบอยู่แล้ว