"ไพบูลย์" สุดมั่น !! "สมเด็จช่วง" โอบอุ้ม "ธัมมชโย" - บี้ดีเอสไอ งัดม.157 ทะลวงไส้ "พศ.-มส."

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"ไพบูลย์ นิติตะวัน" เชื่อแบบสุดมั่น !! "สมเด็จช่วง" มีการช่วยเหลือ "ธัมมชโย" ไม่ให้เป็นปาราชิก เนื่อจากมีผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกันหลายประการ พร้อมขอให้ "ดีเอสไอ" ใช้มาตรา 157 กำราบ "มส.-พศ." เชื่อว่าเกี่ยวพันกับคดียักยอกทรัพย์ยูเนี่ยนคลองจั่น ...

 

วันนี้ (15 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พร้อม นพ.มโน เลาหวณิช อดีตพระลูกวัดพระธรรมกาย ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชและประธานกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) โดยมี พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกดีเอสไอ เป็นผู้รับเรื่องแทน
         

 

นายไพบูลย์ กล่าวว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ประชุมมส. ซึ่งมีสมเด็จช่วง เป็นประธานการประชุม ได้มีมติรับรองเห็นชอบรายงานตามที่รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ว่า มส.ไม่สามารถดำเนินการตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากคดีของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย สิ้นสุดในคณะผู้พิจารณาชั้นต้นแล้ว จึงถือว่าพระธัมมชโย ไม่ได้อาบัติปาราชิก โดยมส.ไม่มีอำนาจยกมาพิจารณาเอง ตนจึงเห็นว่ามติของมส.ดังกล่าว เป็นการปฏิเสธที่จะดำเนินการตามที่ดีเอสไอมีหนังสือแจ้งไปให้พิจารณาดำเนินการให้พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก ตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช
    
    


นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่อ้างว่าการดำเนินการให้เป็นไปตามพระลิขิตได้สิ้นสุดไปแล้วนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นกรณีที่นายมานพ พลไพรินทร์ และนายสมพร เทพสิทธา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระธัมมชโยว่าล่วงละเมิดพระธรรมวินัยด้วยการบิดเบือนหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา รวมถึงการยักยอกทรัพย์ ฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชน ซึ่งในเรื่องนี้อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.205 มาตรา 8 โดยหลังจากปี 2542 แล้ว ยังไม่ได้มีการดำเนินการตามกฎหมาย แต่เมื่อ มส. มีมติแล้วเบี่ยงเบนเรื่อง โดยอ้างว่าเป็นเรื่องเดียวกันนั้น จึงเห็นว่าน่าจะมีปัญหาการดำเนินการเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย
        

 

"ปรากฏว่าสมเด็จช่วงได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระธัมมชโยอย่างยิ่ง มีหลักฐานในสื่อสาธารณะรับทราบกันโดยทั่วไปว่ามีผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกันหลายประการ ดังนั้น จึงเห็นว่าที่สมเด็จช่วงเป็นกรรมการ มส. มาตั้งแต่ก่อนหน้าปี 2542 แล้ว ได้ทราบเรื่องมาโดยตลอด และปัจจุบันสมเด็จช่วง ก็เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชและยังเป็นประธานมส. ดังนั้น จึงมีความเชื่อและสงสัยมากว่าสมเด็จช่วงอาจเป็นผู้ให้การช่วยเหลือ เนื่องจากไม่อยากให้พระธัมมชโย ต้องสละสมณเพศจากพระลิขิต จึงให้การช่วยเหลือบ่ายเบี่ยงไม่ให้ต้องดำเนินการ" นายไพบูลย์ กล่าว
         

 

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามกฎหมายมาตรา 157 และความผิดฐานอื่นหรือไม่ และขอให้ดีเอสไอรับกรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากเป็นความผิดที่อาจเกี่ยวพันกับกรณีสอบสวนพระธัมมชโยร่วมกันฟอกเงินหรือรับของโจรจากสหกรณ์ฯคลองจั่น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังมีข้อกฎหมายที่คำพิพากษาศาลฎีกาบอกไว้ว่าคดีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพระภิกษุ พระปกครอง ก็คือ มส. จะไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐในนิยามของ ป.ป.ช. แต่อยู่ในอำนาจของดีเอสไอ จึงเดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้
         

 

ด้าน พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า หลังจากนี้ตนจะนำเรื่องไปพิจารณาก่อนนำเรื่องเสนอให้กับอธิบดีดีเอสไอต่อไป ส่วนหนังสือที่ พศ. จะส่งผลการประชุมกรณีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯที่พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกนั้น ล่าสุดทาง พศ. แจ้งว่าจะส่งหนังสือชี้แจงมายังดีเอสไอ แต่ว่าขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือชี้แจงดังกล่าวมา ซึ่งทางดีเอสไอยังคงรอหนังสืออยู่
         

 

ส่วนกรณีดีเอสไอเตรียมแถลงข่าวผลสอบรถหรูโบราณ ทะเบียนขม 99 ของสมเด็จช่วง ในวันที่ 18 ก.พ.นี้ เบื้องต้นยังแถลงในวันดังกล่าวเช่นเดิม โดยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการแต่อย่างใด ซึ่งรายละเอียดเป็นอย่างไรนั้นคงต้องรอติดตามดูในวันนั้น