"สปท." เห็นชอบร่างพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง - กั้นพรรคการเมืองนำไปหาเสียง !!

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"สปท." เห็นชอบร่างพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 160 เสียง เพื่อบรรเทาผลกระทบกับประชาชนและเป็นเครื่องมือรักษาระดับน้ำมัน - ช่วยให้กองทุนไม่ติดลบเหมือนการเมืองยุคก่อน และป้องกันพรรคการเมืองนำกองทุนไปหาเสียง ...

 

วันนี้ (15 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่รัฐสภา การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณารายงานบทบาท หน้าที่ และการใช้ประโยชน์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน

 

โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช รองประธาน กมธ.คนที่ 1 รายงานว่า เนื่องจากกองทุนน้ำมัน มีบทบาทมากในการกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด ซึ่งยังคงมีข้อกังขาถึงความเหมาะสมการใช้กองทุนเป็นเรื่องมือในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลยุคต่างๆ ซึ่งทาง กมธ. ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีเหตุผลคือ เพื่อการบริหารกองทุนฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนมีส่วนร่วม และป้องกันการแทรกแซงการใช้กองทุนฯ เกินวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะผันผวน มีผลต่อราคาขายปลีก ซึ่งจำเป็นที่จะต้องรักษาระดับราคา เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชนด้วย นอกจากนี้ยังได้กำหนดมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยมีระยะเวลาและวงเงินที่ใช้ในการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างชัดเจน
         


ภายหลังจากที่สมาชิกได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง นายคุรุจิต นาครทรรพ ประธาน กมธ. ชี้แจงว่า กองทุนนี้ตั้งขึ้นเพราะเราประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาน้ำมันมีการผกผัน จนประชาชนชนได้รับผลกระทบ ดังนั้นกองทุนดังกล่าวมีไว้เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบกับประชาชน แม้ขณะนี้ราคาน้ำมันจะถูก แต่เราก็ต้องเตรียมการให้พร้อมไว้ ถ้ายกเลิกกองทุนดังกล่าว รัฐก็จะไม่มีเครื่องมือจำเป็นไว้ใช้ได้ทันท่วงที ประกอบกับที่ผ่านมา กองทุนนี้มีคณะกรรมการเป็นภาครัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในร่าง พ.ร.บ. นี้เปิดให้มีคณะกรรมการมาจากผู้ทรงคุณวุฒิด้วย ดังนั้นในภาพรวมการทำงานของคณะกรรมการจะช่วยให้กองทุนไม่ติดลบเหมือนอย่างบางยุค ที่ปล่อยให้กองทุนน้ำมันติดลบเพราะมีการหาเสียง ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเงินจำเป็นต้องส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับรองก่อน
         

 

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับรายงานและร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวด้วยคะแนน 160 ต่อ 4 งดออกเสียง 8 คะแนน โดย กมธ. จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะ ไปปรับปรุงก่อนเสนอให้ประธาน สปท. และ ครม. ต่อไป