"สปท." เห็นชอบ "กฎหมาย-พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ" - ไม่มีอำนาจลงโทษโดยตรง !!

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"สปท." มีมติ 164 เสียง เห็นชอบร่างพ.ร.บ.และกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ ไม่มีอำนาจของคปป.แอบแฝง - ไม่มีอำนาจลงโทษโดยตรง แต่เป็นเครื่องชี้วัดการกระทำที่ไม่ถูกต้องเพื่อส่งไปตามกระบวนการปกติเท่านั้น

 

วันนี้ (16 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภา การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท.เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เรื่องการจัดทำ การกำหนด และการขับเคลื่อนกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ และร่างพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว

 


โดย พ.ต.ต. ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธาน กมธ.ชี้แจงว่า กฎหมายที่เสนอเข้าสภาฯ วันนี้เป็นเพียงกลไก ไม่ใช่สารัตถะของยุทธศาสตร์ชาติ เพราะยังต้องการความเห็นของสมาชิก สปท.เพื่อนำไปปรับแก้ ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่วางไว้สามารถแก้ได้ เพราะเป็นแผนการพัฒนาเพื่อให้รัฐบาลทุกสมัยรับช่วงต่อ ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจำนวน 25 คนนั้น ไม่ได้ตั้งขึ้นมาลอยๆ เพราะคณะกรรมการประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธาน สปท. และบุคคลที่ สนช.สรรหาและคัดเลือกให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 22 คน เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรก เพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบและใช้บังคับ และกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติจำนวน 29 คน รวมทั้งดำเนินการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติภายใน 90 วันนับแต่ร่าง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ ส่วนวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ก็ไม่ได้ดำรงอยู่ตลอดไป เพราะเมื่ออยู่ครบ 4 ปีต้องจับฉลากออกกึ่งหนึ่งเพื่อไปสรรหาใหม่จาก 7 กลุ่ม อาทิ หัวหน้าจากส่วนราชการ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ กลุ่มภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาชน ซึ่งไม่ใช่มีแต่เจ้าหน้าที่ทหารอย่างที่เข้าใจกัน
         

 

พ.ต.ต.ยงยุทธ กล่าวต่อไปว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติกำหนดให้นำข้อมูลวาระปฏิรูปและวาระพัฒนาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สปท.ที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และข้อมูลอื่นๆ อาจเป็นประโยชน์ต่อชาติใช้ประกอบ และต้องการให้ยุทธศาสตร์ชาติบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้เสนอให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาแล้ว พร้อมทั้งต้องการให้กฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติมีผลบังคับใช้ปี 2559 หรือในรัฐบาลนี้ เชื่อว่าผลที่ได้จากกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ระดับชาติที่เป็นแม่บทหลักในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทำให้การพัฒนาทุกด้านเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แผนพัฒนามีการบูรณาการจัดลำดับให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและประชาชน อย่างไรก็ตามหากไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ อาทิ ฝ่ายการเมืองทำให้เสียหายร้ายแรงแต่ไม่ปรากฏว่าทุจริต ให้กรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ หากเป็นข้าราชการให้มีบทกำหนดโทษทางวินัย หากส่อว่าทุจริตหรือประพฤติมิชอบก็ส่งให้คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการ
         

 

จากนั้นที่ประชุมเปิดให้สมาชิก สปท.อภิปรายแสดงความเห็น โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน อภิปรายว่า ภายใต้สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันความขัดแย้งยังไม่เป็นที่ยุติ ประเด็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเป็นอำนาจอธิปไตยที่ 4 หรือจะเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) แฝงมาหรือไม่ ตนขอช่วยชี้แจงว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเป็นเพียงหน่วยงานรัฐประเภทหนึ่ง ไม่ได้ใช้อำนาจอธิปไตยทางใดทางหนึ่ง โดยแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา สำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นองค์กรที่บูรณาการให้ไทยมีทิศทางนโยบายกลางที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปเพราะการเมือง เปรียบเสมือนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ขยายไปทุกภาคส่วน และไม่เหมือน คปป. เนื่องจาก คปป. เป็นองค์กรเฉพาะกิจ 5 ปี และเป็นกลไกปฏิรูปและสร้างความปรองดอง รวมถึงใช้อำนาจแทนคณะรัฐมนตรีได้เมื่อมีวิกฤตร้ายแรง แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอยู่ตลอดไป และไม่มีอำนาจดังกล่าว
         

 

นายคำนูณ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนสบายใจว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่ คปป. และอำนาจอธิปไตยอื่นแฝงมา แต่ตัวบทบัญญัติบางประการก็ส่อให้คิดเช่นนั้นได้ จึงขอให้แก้ไข 11 ประการ คือ 1.บทเฉพาะกาลกำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติชุดแรกมีประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง โดยไม่มีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาไว้ ทำให้เกิดช่องว่างและตีความได้ว่าจะไม่สามารถเข้ามาเป็นกรรมการโดยตำแหน่งได้ และเมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้วให้ดำเนินการสรรหากรรมการชุดใหม่ทั้งหมด จะทำให้เกิดความหวาดระแวงน้อยกว่า ซึ่งระยะเวลาก่อนจะมีรัฐบาลใหม่ 1 ปี แผนยุทธศาสตร์ชาติเสร็จแล้ว จึงไม่มีเหตุผลจะให้กรรมการอยู่ต่อ
         

 

นายคำนูณ กล่าวต่อไปว่า 2.การให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ชาติควรให้เป็นอำนาจสูงสุดของรัฐสภา 3.การกำหนดรายได้ให้เทียบเท่าประมุขอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ไม่จำเป็นต้องระบุ ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา 4.ควรตัดอำนาจในการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลออก เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 5.อำนาจชี้ขาดหน่วยงานรัฐ ควรให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี 6.อำนาจยกเว้นไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ควรให้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี 7.ควรกำหนดอายุขั้นสูงของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและกรรมการบริหาร 8.วาระการดำรงตำแหน่งควรให้ต่ำกว่า 8 ปี และวาระของกรรมการบริหารควรกำหนดไว้ 9.ไม่ควรให้สถานะของสำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเทียบเท่ากับศาลและองค์กรอิสระ 10.ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ และ 11.ควรต้องระบุให้ชัดเจนว่ายุทธศาสตร์ชาตินั้นจะรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึงด้วยวิธีการใด
         

 

นายนิกร จำนง อภิปรายว่า การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติโดยวางระยะเวลายาวนานจะทำให้เกิดปัญหาได้ เนื่องจากเราเป็นประเทศเล็กที่กำลังพัฒนา อาจจะโดนแรงกดดันจนทำให้เปลี่ยนแผนพัฒนา อีกทั้งขาดการมีส่วนร่วมชองประชาชน อย่างไรก็ตามตนเห็นด้วยที่จะต้องมียุทธศาสตร์ชาติ แต่กรอบการทำงานต้องไม่กดดันการทำงานของรัฐบาลมาก และเห็นว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์มีอำนาจมากเกินไป อาทิ การเสนอให้วุฒิสภาลงโทษคณะรัฐมนตรีหรือบุคคลหากไม่ปฏิบัติตาม
         

 

ด้านนายกษิต ภิรมย์ อภิปรายว่า อำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นการบอกว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่ คปป. ซ่อนรูปถือเป็นการหลอกตัวเอง อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติไม่มีอะไรที่เป็นส่วนร่วมของประชาชนเลย หากแต่เป็นการเสริมอาณาจักรของข้าราชการ และหากบอกว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นเพียงกรอบการทำงาน สรุปเป็นแผนหรือกรอบกันแน่ เพราะถ้าเป็นเพียงกรอบ ส่วนตัวคิดว่าไม่ต้องมีก็ได้เพราะโลกเปลี่ยนไปทุกวัน เพราะในเมื่อ ครม.จะทำแผนยุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้ว จึงไม่เห็นว่าการออก พ.ร.บ.นี้จะเป็นหน้าที่ใดๆ ของ สปท. หรือของ กมธ. และเห็นว่าควรเอาเรื่องนี้ออกไปจากสภาฯ
         

 

หลังสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างของ พ.ต.ต.ยงยุทธ ชี้แจงว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ไม่ได้ระบุว่า กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่เวลาเราร่าง พ.ร.บ. นี้ ก็จะอิงกับร่างรัฐธรรมนูญอยู่เสมอ ทั้งนี้ยืนยันว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ไม่มีอำนาจลงโทษโดยตรง เป็นเพียงเครื่องเอ็กซเรย์การกระทำที่ไม่ถูกต้องเพื่อส่งไปตามกระบวนการปกติเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ผ่าตัด มีอดีตนักการเมืองคนหนึ่งเคยกล่าวด้วยว่า ถ้าเรามีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในยุคที่มีโครงการจำนำข้าว ก็อาจจะไม่เกิดความเสียหายมากขนาดนี้
         

 

จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อรายงานและร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยคะแนนเสียง 164 ต่อ 6 งดออกเสียง 4 โดย กมธ. จะนำข้อคิดเห็นของสมาชิกไปปรับปรุงก่อนส่งให้ประธาน สปท. และ ครม. เพื่อดำเนินการต่อไป