"มีชัย" เตรียมปรับแก้เนื้อหาร่างรธน. โยกกำนัน-ผญบ. นั่ง "ผู้ช่วยนายอำเภอ" หวังสร้างความผาสุกให้ปชช.

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th

 

"มีชัย ฤชุพันธุ์" เผยมีการปรับแก้ร่างรธน. ในส่วนการเมืองท้องถิ่น พร้อมโยกกำนัน-ผญบ. นั่ง "ผู้ช่วยนายอำเภอ" และเปลี่ยนทัศนติจากผู้มีอำนาจ เป็นให้บริการประชาชน 

 

 

 

วันนี้ ( 25 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า   นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวบรรยายในหัวข้อร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ให้กับตัวแทนข้าชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ส่วนราชการและฝ่ายความมมั่นคง รวมถึงตัวแทนนักเรียน นักศึกษา ผู้นำชุมชน ในพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี กว่า 1,000 คน ที่เข้าร่วมโครงการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ปกป้องเทิดทูนสถาบัน ซึ่งจัดโดยส่วนอำเภอบางกรวย จ.นนทบุรี ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จ.นนทบุรี ตอนหนึ่งถึงการปรับปรุงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ว่าขอฝากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่อาจต้องเปลี่ยนไปเป็นผู้ช่วยนายอำเภอ เพื่อไม่กระทบกระทั่งกับท้องถิ่น ที่เขามองในอีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งนี้ในกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องถิ่นเดิม มีความมุ่งหมายให้เป็นตัวหลักสำคัญในการปกครองคนในหมู่บ้าน แต่การปกครองปัจจุบันได้เปลี่ยนไป เพราะคนปกครองขณะนี้คือองค์กรปกครองส่วนตำบล (อบต.) ดังนั้นบทบาทของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านจะกลายเป็นการบริการราชการปกครอง ทั้งนี้ระหว่างเดินทางมายังโรงเรียนเทพศิรินทร์ ตนนึกได้สิ่งหนึ่งว่า สิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้มีการปฏิรูประบบราชการ แต่ยังขาดการปฏิรูปทัศนคติของข้าราชการ ให้เปลี่ยนจากผู้มีอำนาจ ไปเป็นทัศนคติที่มุ่งบริการให้เกิดความผาสุขกับประชาชน หากปรับทัศนคติตรงนี้ได้เชื่อว่าความสำราญของระบบราชการกับราษฎรจะดีขึ้น และอยู่ร่วมกันแบบอยู่เย็นเป็นสุขมากขึ้น ซึ่งตนจะนำไปปรับปรุง และปรับปรุงให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

 

 

 


          "ผมถือเป็นคนที่เคราะห์ร้ายที่สุด เพราะได้เข้ามาทำหน้าที่ออกแบบกติกาบ้านเมืองในระยะเวลาที่ความคิดเห็นแตกต่าง และยากที่ทำให้ทุกฝ่ายพอใจได้ แต่ก็คิดว่าทำในสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประชาชนและประเทศระยะยาว ทั้งนี้ตนมองว่าบ้านทุกบ้าน ทุกโรงเรียน มหาวทิยาลัย หมู่บ้าน อำเภอ ตำบล จังหวัด สมาคม ชุมชนทุกแห่งต้องมีกฎ ที่บอกว่าใครมีหน้าที่ มีสิทธิอะไร และใครเป็นคนชี้ขาด ซึ่งเหมือนกับประเทศต้องมีกฎ และกฎของประเทศที่สูงสุดซึ่งผู้ใดจะละเมิดมิได้ นั่นคือความหมายของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องเป็นกฎสูงสุดที่ใช้ดูแลประชาชนทั้งประเทศให้อยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งผมเชื่อว่าถ้ารัฐธรรมนูญนี้ออกใช้บังคับ บ้านเมืองจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประชาชนจะมีกลุ่มคอยจับตาดูและขจัดการทุจริตให้ค่อยๆ ลดลงไปให้ได้"นายมีชัย กล่าว

 

 

 

 


          ภายหลังจากการกล่าวบรรยายแล้ว นายมีชัย ให้สัมภาษณ์อีกครั้งต่อประเด็นการทำความเข้าใจในข้อเสนอแนะของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในข้อ 16 ที่ต้องการให้มีการแบ่งใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วง เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ว่า ไม่มีประเด็นอะไร เพราะเท่าที่คุยกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ คือ การให้คำแนะนำว่าหากสิ่งที่มีข้อเสนอมาแล้วอาจทำให้กฎเกณฑ์ที่กรธ.วางไว้เสียหาย ไม่ควรปรับแก้ แต่หากจะออมชอม ให้นำไปเขียนในบทเฉพาะกาล ซึ่งกรธ. ได้เขียนไว้แล้ว แต่จากนี้ต้องไปพิจารณาปรับเพื่อให้เกิดความนุ่มนวลมากขึ้น ส่วนที่หลายฝ่ายนำข้อเสนอไปตีความว่าจะก่อให้เกิดมีกลไกพิเศษในร่างรัฐธรรมนูญและมีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ตนมองว่าหากจะมีจะไม่ใช่กลไกอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ เพราะกลไกที่ตนมอง นั้นหมายถึง กรณีที่กำหนดให้ต้องทำอะไรบ้าง เช่น กำหนดรัฐบาลต้องมีกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง หากรัฐบาลไม่ทำอาจกำหนดว่ารัฐบาลจะกู้เงินไม่ได้ ซึ่งกลไกดังกล่าวเป็นภาคบังคับที่ตามกฎหมายกำหนด ซึ่งกรณีจะเขียนแบบดังกล่าวได้ต้องเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล ส่วนอำนาจที่จะเหนือรัฐบาลจากการเลือกตั้งนั้นยืนยันว่าไม่มีเพราะเมื่อมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ต้องไป

 

 

 

 


          ผู้สื่อข่าวถามถึงมองความต้องการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ที่ต้องการมีช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีให้เกิดความสมดุลอย่างไร นายมีชัย กล่าวว่า เป็นส่วนของการปฏิรูปที่ต้องการให้ทำให้เสร็จภายใน 5 ปี ทั้งนี้ในบทเฉพาะกาล กรธ. ยังไม่ได้เขียนกลไกเรื่องการปฏิรูป แต่ช่วงการปรับปรุงนั้น จะเขียนชัดเจนว่าจะมีการปฏิรูปเรื่องอะไร เพื่ออะไร และเพื่อบรรลุอะไร รวมถึงกำหนดช่วงเวลาปฏิรูปที่ต้องทำให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้จะกำหนดด้วยว่าหากทำไม่ได้ตามที่กำหนดจะมีบทลงโทษเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ส่วนประเด็นที่เป็นความกังวลต่อสถานการณ์ขัดแย้งหลังจากมีรัฐธรรมนูญใหม่นั้น กรธ.จัดสรรไว้แล้ว โดยกลไกที่แก้ปัญหาขัดแย้งถูกเขียนไว้ในตัวบทรัฐธรรมนูญ แต่คนยังอ่านไม่เจอ

 

 

 

 


          ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าข้อเสนอที่ให้ยกเว้นบางบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญในบทถาวร เช่น ข้อเสนอให้ คสช. ตั้งส.ว.ชุดแรกจะพิจารณาอย่างไร นายมีชัย กล่าวว่า กรธ.ยังพิจารณาไม่ถึง ทั้งนี้ยอมรับว่าทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พยายามผลักดันให้กรธ.แก้ไขวิธีได้มาของส.ว. ซึ่งกรธ.พยายามนั่งคิดอยู่ว่าจะทำอย่างไร โดยการปรับปรุงเนื้อหาขณะนี้ได้นำข้อเสนอของภาคส่วนต่างๆ มาปรับปรุงเนื้อหา หากแก้ไขให้ได้ก็จะแก้ไขให้ ทั้งนี้เมื่อไปถึงจุดที่เป็นปัญหาว่าแก้ไม่ได้จะทำอย่างไร หากไม่แก้อะไรเลย ก็จะลำบาก ดังนั้นต้องนำกลับไปพิจารณา

 

 

 


          ถามต่อว่าข้อเสนอของครม. ต่อบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ มองว่าหากทำตามจะเป็นจุดเสี่ยงที่นำไปสู่วิกฤตหรือไม่ นายมีชัย ว่า “เดี๋ยวนะ เวลานี้เราพูดกันคนละเรื่อง คุณมุ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง ที่กรธ. รับรู้เป็นคนละเรื่อง เหมือนกับการเขียนงานที่เนื้อหายาวมาก หากส่งไปยังกองบรรณาธิการ แล้วเขาไม่ลง คุณจะเขียนโน๊ตไปหรือไม่ว่าหากลงหมดไม่ได้ให้ลงตรงไหนบ้าง แล้วมีอะไรที่พิสดารหรือไม่ คุณไปเข้าใจว่ากำลังจะสร้างกลไกอะไรพิเศษ ซึ่งผมพยายามกำลังจะบอกว่าไม่ใช่ อันนี้บอกว่าถ้าไม่ได้ทำจะทำอย่างไร เหมือนกับคุณส่งไปแล้วเขาลงไม่ได้หมด ทำอย่างไรก็ต้องบอกว่าให้เอาประเด็นแรกก่อน หากคุณพุ่งเป้าไปผิด ก็จะถามผิดอยู่อย่างนี้ และวนไปอยู่อย่างนี้”

 

 

 


          เมื่อถามถึงความกังวลต่อกรณีที่ฝ่ายการเมืองออกมาโจมตีร่างรัฐธรรมนูญว่าทำในเกาหลีเหนือ ที่อาจจะกระทบต่อความเข้าใจในเนื้อหาและประชามติหรือไม่ นายมีชัย ถามว่า “ใครพูดว่าไปร่างที่เกาหลีเหนือ” เมื่อตอบกลับว่า “นายทักษิณ ชินวัตร” นายมีชัย ไม่ได้ตอบในประเด็นนี้และเดินเลี่ยงออกจากการให้สัมภาษณ์ทันที