"อ.นิด้า" รุมติงร่างรธน. !! เชื่อไม่ถึง 10 ปีเกิดรปห.อีกครั้ง - ผิดหวังปม "ปฏิรูปการศึกษา"

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"สมบัติ ธำรงธัญวงศ์-อุดม ทุมโฆสิต" รุมติงร่างรัฐธรรมนูญ !! ระบบสัดส่วนผสมทำให้ได้รัฐบาลอ่อนแอ ยั่วยวนรัฐประหารและเชื่อว่าไม่ถึง 10 ปีจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ผิดหวังปมปฏิรูปการศึกษาโดยลดขั้นพื้นฐานจาก 12 ปี เหลือ 9 ปี - มีโห่แน่ หากคสช.สืบทอดอำนาจ !!

 

วันนี้ (2 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีการสัมมนาภายใต้หัวข้อ "เติมเต็มรัฐธรรมนูญ เพื่ออนาคตประเทศไทย" โดย นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า เรื่องเด่นในรัฐธรรมนูญคือเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ครั้งนี้เราเขียนไว้ว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมีสิทธิทั้งตามที่เขียนไว้และไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่ไปกระทบสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น รัฐมีหน้าที่ตอบสนองสิ่งต่างๆ ที่เป็นสิทธิของประชาชน
        


ด้าน นายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า จุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น มีมาตรการกำหนดระยะเวลา การเปิดประชุมสภา เรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเรื่องการพิจารณางบประมาณ เพราะที่ผ่านมาเงินที่รั่วไหลมากก็มาจากจุดนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้โทษเข้มมาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจจะพ้นไปทั้งคณะเลยก็ได้
         


แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นห่วงประเด็นแรก คือ เรื่องหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ไปปรับของเดิมในเรื่องของการใช้สิทธิและเสรีภาพ ว่าจะไปกระทบต่อความมั่นคงของรัฐไม่ได้ เท่ากับคราวนี้จะใช้สิทธิชุมนุมเรียกร้องอะไรไม่ได้เลย ดังนั้น อะไรที่นิ่งแล้วเช่นเรื่องสิทธิ ซึ่งเป็นหลักการที่นิ่งมาตั้งแต่ปี 2540 แล้วก็อย่าไปกวนให้มันขุ่น ควรจะคงหลักการนี้ไว้
         


ต่อมาคือเรื่องหน้าที่ของรัฐ ซึ่งการไปเขียนไว้ว่าเป็นหน้าที่ของรัฐแทนที่จะเป็นสิทธิ จะทำให้ตั้งแต่นี้จะมีการไปร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่ากระทรวงนั้นไม่ทำอันนี้ กระทรวงนี้ไม่ทำอันนั้น ซึ่งกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน แล้ว ป.ป.ช.ก็ไม่รู้จะวินิจฉัยอย่างไร เพราะเขาไม่มีงบประมาณมาทำ ตรงนี้จะกลายเป็นภาระมากกว่าการแก้ปัญหา
         


ต่อมาคือหมวดสถาบันการเมือง 1.เรื่องระบบการเลือกตั้ง ร่างฉบับนี้เป็นระบบสัดส่วนผสม ข้อดีคือทำให้ความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคใดพรรคหนึ่งมาคำนวนที่นั่งในสภาได้ชัดเจน แต่ที่น่าห่วงคือการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว จะทำให้พรรคการเมืองเป็นระบบทุนและเข้มแข็งมากขึ้น แต่หากเป็นระบบ 2 ใบ ยังมีโอกาสให้พรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กได้เกิด นอกจากนี้ เวลาที่มีปัญหาต้องเลือกตั้งใหม่ แต่คะแนน 1 คะแนน มีผลต่อการคำนวนที่นั่งในสภาไปแล้วจะทำอย่างไร
         


ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าพรรคการเมืองจะไม่ส่งคนดีเข้ามาเลือกตั้ง เพราะคนดีของคนร่างกับของประชาชนนั้นคนละความหมาย ดังนั้น ระบบเลือกตั้งใบเดียวนี้ไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพของ ส.ส.และหากพรรคใหญ่ 2 พรรคไม่รับร่าง กรธ.ก็จะมีปัญหา ซึ่งพรรคใหญ่อันดับ 1 ไม่รับอยู่แล้ว แต่ถ้าพรรคใหญ่อันดับ 2 มองว่าจะรับหรือไม่ด้วยเงื่อนไขเรื่องการเลือกตั้งบัตรใบเดียวนี้ก็อาจเป็นไปได้ว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กรธ.ก็ควรมองจุดนี้ด้วย
         


นายบรรเจิด กล่าวอีกว่า ประเด็นต่อมาคือการเสนอรายชื่อนายกฯ 3 คน ตนคิดว่าไม่สอดคล้องกับระบบการเมือง ซึ่งพรรคใหญ่คงไม่เสนอ พรรคที่จะเสนอคือพรรคขนาดกลาง ในที่สุดก็อาจจะได้นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเป็น ส.ส.รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมาก ดูเป็นระบบการปกครองโดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบบนี้จะทำให้รัฐสภาไม่ทำงาน สู้ส่งจดหมายใบเดียวไปที่ศาลรัฐธรรมนูญดีกว่า และศาลรัฐธรรมนูญก็จะเป็นปัญหาทางการเมืองเสียเอง ซึ่งคนเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะถูกเจาะไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งนี้สิ่งที่อยากฝากคือ อยากให้รัฐธรรมนูญแก้ได้ง่ายๆ อย่าไปฝืน เพราะหากฝืนจะถูกฉีก เอาแค่พอเหมาะพอควรก็พอ
         


ขณะที่ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เจตนาดีมาก แต่โครงสร้างรัฐธรรมนูญที่ใช้ระบบสัดส่วนผสม แล้วทำให้รัฐบาลอ่อนแอ เป็นโครงสร้างที่ยั่วยวนให้มีการรัฐประหาร ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะถึง 10 ปี ก็น่าจะมีรัฐประหารเกิดขึ้น ไม่มีประเทศไหนที่ออกแบบให้รัฐบาลอ่อนแอแล้วพาประเทศไปรอด ทั้งนี้ รัฐบาลที่อ่อนแอประเทศไทยมีมาตลอดก่อนปี 2540 เช่น รัฐบาลคึกฤทธิ์ และรัฐบาลชวน แล้วเราก็เห็นแล้วว่าพาประเทศไปไม่รอด ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมไม่มีโอกาสที่พรรคใดจะได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งเลย สูตรนี้ถามว่าใครจะตั้งรัฐบาล แล้วถ้าพรรคขนาดกลางรวมตัวกันต่อรองก็สามารถตั้งนายกฯ คนนอกได้เลย ไม่ต้องรอให้มีวิกฤติอะไรทั้งนั้น ลองนึกสภาพรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่รัฐบาลไม่มีอำนาจ เพราะเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง นายกฯ ไม่กล้าสั่งพรรคร่วม แม้จะโกงจะกินก็ไม่กล้าบอก เพราะอย่างนี้จึงเป็นการยั่วยวนรัฐประหาร
         


อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญเปรียบเหมือนอวัยวะ หัวใจก็ดี ตับก็ดี ปอดก็ดี อวัยวะทุกอย่างดีหมด แต่ดันเป็นโรคหัวใจรั่ว แล้วเราจะอยู่อย่างไร ซึ่งเสถียรภาพของรัฐบาลก็คือหัวใจนี่เอง ถ้ารั่วก็อยู่ไม่ได้ ขอยกตัวอย่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้มแข็งมาก แถมมีมาตรา 44 แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้อีกหลายเรื่อง แล้วรัฐบาลที่อ่อนแอจะแก้ปัญหาอะไรได้หรือ และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีมาตรา 44 ให้ใช้หรือ ทั้งนี้ ขอฝาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ว่า ตนหาเหตุผลมาโต้ท่านได้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญต้องเข้าใจโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตย
         


นายสมบัติ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ประเด็นนี้ถือว่าเป็นประเด็นที่อัปยศที่สุด และตนรู้สึกผิดหวังกับนายชาติชายที่สอนเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรบุคคล ถือว่าถอยหลังไป 20 ปี เพราะเดิมรัฐบาลจะต้องให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี และนโยบายพรรคการเมืองยังได้เพิ่มเติมไปอีก แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเขียนแค่ 9 ปี
         


ส่วน นายอุดม ทุมโฆสิต อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าวว่า ตนมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดอ่อนค่อนข้างมาก และหากไม่ปรับแก้ตนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านแน่นอน ทั้งพรรคการเมืองใหญ่ไม่เอา ภาคประชาสังคมเท่าที่ฟังเขาก็ไม่เอา และท้องถิ่นไม่เอา แต่หากจะปรับปรุงต้องไม่ปรับปรุงเพื่อเอาใจใคร แต่ต้องปรับหลักการให้ดี คือต้องจัดระเบียบการปกครองให้ประเทศมีดุลยภาพ รัฐธรรมนูญต้องก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันให้ได้ และรัฐธรรมนูญต้องชี้ทิศทางในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร
         


อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับมาดูประเทศไทย ยิ่งเรามีประชาธิปไตยปัญหาก็ยิ่งมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการทุจริต ความเหลื่อมล้ำ มีการออกมาชุมนุมเต็มท้องถนนไม่เว้นแต่ละวัน เราจึงมีความจำเป็นต้องจัดระบบการปกครองให้มีดุลยภาพที่เหมาะสม หากเป็นปัญหาเกี่ยวกับประชาชนก็น่าจะมอบอำนาจให้ประชาชนได้จัดการแก้ไขด้วยตนเอง แต่เรากลับรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางมาก
         


นายอุดม กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อเทียบกับปี 2540 และ 2550 แล้ว ถือว่าถอยหลัง เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 เขียนเรื่องการกระจายอำนาจไว้ชัดเจน ตนคิดว่ารัฐบาลนี้ไม่เข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจ และไม่คิดที่จะกระจายอำนาจ นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งคือเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการรัฐประหารคือการปฏิรูปประเทศ เมื่อการปฏิรูปเป็นสิ่งจำเป็นรัฐธรรมนูญได้เขียนเรื่องการปฏิรูปไว้ 3 มาตรา 1.เรื่องการศึกษา 2.ตำรวจ และ 3.ใส่จุดไว้ให้ สปท.เข้ามาเติมเต็ม ตนขอเสนอว่า เรื่องการปฏิรูปต้องทำให้ชัดเจน ต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องการปฏิรูป
         


ทั้งนี้ แน่นอนว่าการปฏิรูปต้องมีระยะเปลี่ยนผ่าน คนก็กลัวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสืบทอดอำนาจ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีการสืบทอดอำนาจ เพราะถ้าจะสืบทอดอำนาจก็ขอให้ช่วยกันโห่ และขอให้นำคนดีมีความสามารถเข้ามาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และยกเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลใหม่ต้องเคารพและปฏิบัติตาม