"อ๋อย" มั่นใจมาจากไหน ?? เชื่อคสช.ปฏิรูปไม่สำเร็จ - "กรธ." วางหมากสู่รัฐประหารอีกครั้ง

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"จาตุรนต์ ฉายแสง" บ่นอุบ !! เชื่อคสช.ปฏิรูปประเทศไม่สำเร็จ ไม่มีความชัดเจน เพราะขาดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน บี้เลือกตั้งโดยเร็ว - อัด "กรธ." ร่างรัฐธรรมนูญกลับไปสู่รัฐประหารอีกครั้ง เชื่อมีการฉีกทิ้งแน่ !!

 


วันนี้ (10 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดงานเสวนา เรื่อง "ทิศทางรัฐธรรมนูญไทยในยุคการปฏิรูป เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี คณะสังคมศาสตร์" ณ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์  โดยมีนักการเมืองชื่อดังเข้าร่วมเสวนาด้วย และมีนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
         

 


โดยนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า การปฏิรูปทางการเมืองที่สำคัญในขณะนี้คือ การทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ. ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าร่างรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติที่เป็นยาแรง ไม่ให้คนที่ซื้อสิทธิขายเสียง, มีคดีทุจริต เข้าสู่วงการการเมืองตลอดชีวิต ขณะที่มาตรการปราบปรามการคอร์รัปชั่นได้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้านความรวดเร็วมากยิ่งขึ้นโดยมีกรอบเวลาทำงานที่ชัดเจน ขณะที่การปฏิรูปการเมืองที่เป็นหัวใจสำคัญ ต้องทำอย่างไรให้การเลือกตั้งสุจริต โปร่งใสมากที่สุด ส่วนการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ สปท. คณะหนึ่งศึกษาและคาดว่าจะนำเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมเร็วๆ นี้ คือ การควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ไว้ด้วยกัน
         

 


"ผมไม่คิดว่าจะมีการปฏิวัติเกิดขึ้นในยุคดิจิตอล ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับการใช้อาวุธปืนมาชิงอำนาจของประชาชนไป หากเทียบก็ได้เท่ากับคนเลวที่มาฉุดตัวลูกสาวชาวบ้านไป แต่คำถามคือ หากฉุดไปแล้วดูแลลูกสาวดีหรือไม่ เช่นเดียวกับเมื่อเอาสิทธิเสรีภาพประชาชนไปแล้ว ทำเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่หรือไม่ เหมือนกับคนทุจริตเลือกตั้งแล้วทำประโยชน์เพื่อคนส่วนใหญ่หรือไม่ ซึ่งผมมองที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น อย่ามองว่าตรรกะผมเลว ดังนั้นหากการเมืองดี นักการเมืองดี ทำงานเพื่อประชาชนไม่คอร์รัปชั่น ทหารจะไม่กล้าปฏิวัติหรือไม่มีใครต่อต้านหรือขับไล่ ผมมองว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อยู่ได้เพราะคนเห็นว่าดี หากวันหนึ่งไม่ดี กอบโกยประโยชน์เข้าตัวเอง เชื่อว่าจะมีคนไล่ ผมอีกคนก็จะลุกไล่" นายวันชัย กล่าว
         

 


ด้านน.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่าทิศทางการปฏิรูปที่ประเทศไทยอยากเห็น คือ ให้คนไทยได้กินอิ่มและนอนอุ่น ซึ่งกระบวนการปฏิรูป รวมถึงการทำร่างรัฐธรรมนูญไม่นำไปสู่ความต้องการดังกล่าว โดยขณะนี้มีคนระบุถึงประชาธิปไตยทางการเมืองอยู่จำนวนมาก แต่ตนมองว่าสิ่งที่เป็นฐานประชาธิปไตยทางการเมืองได้ คือประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพราะการเมืองคือการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้กับประชาชน โดยมีนักการเมืองเป็นผู้จัดสรรดังกล่าว ทั้งนี้ที่ผ่านมาเมื่อนักการเมืองมีอำนาจจะเน้นการทำนโยบายสาธารณะที่มุ่งเน้นประโยชน์ส่วนตัวทำให้เกิดปัญหาทั้งความเหลื่อมล้ำและการผูกขาดทรัพยากรไว้กับคนบางกลุ่มเท่านั้น สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับของกรธ. นั้น พบว่าได้ตัดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการคัดค้านในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล เช่น การตัดการมีส่วนร่วมและการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมออกไป ถือเป็นการตามใจนายทุนที่ต้องการให้ตัดประเด็นการมีส่วนร่วมเพื่อไม่ต้องการให้ใครคัดค้าน ดังนั้นตนมองว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ลดทอนสิ่งที่ดีในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ออกเพื่อประโยชน์ของคนที่มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามแม้จะกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ และหากรัฐไม่ทำจะนำไปสู่การพ้นจากตำแหน่งได้นั้น เชื่อว่าไม่ใช่มาตรการลงโทษรัฐได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐบาลใช้อำนาจพิเศษในการแก้ปัญหาทุกเรื่อง จนเสพติด และเชื่อว่ารัฐบาลปกติจะไม่แก้ปัญหาอะไรได้เลย เพราะขาดอำนาจพิเศษ ดังนั้นส่วนตัวมองว่าการปฏิรูปที่ได้ผลคือพัฒนากลไกปกติให้สามารถใช้งานได้แทนการใช้อำนาจพิเศษ
         

 


"ขอตั้งฉายาให้กับร่างรัฐธรรมนูญของกรธ. เป็นฉบับทุนขุนนาง เพราะสร้างให้รัฐเป็นใหญ่ ซึ่งสวนทางกับสังคมโลก ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสร้างดุลยภาพ และตรวจสอบ ทั้งนี้น่ากังวลว่าหากร่างรัฐธรรมนูญให้ข้าราชการเป็นใหญ่ เสี่ยงต่อการเข้าครอบงำของกลุ่มทุนได้ แม้ประเด็นดังกล่าวจะเกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ทำไมร่างรัฐธรรมนูญต้องเปิดช่องว่าง แทนที่จะสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้เกิดการถ่วงดุลและการบริหารแบบมีดุลยภาพ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างอยู่นี้ไม่เคยแตะต้องกลุ่มทุนผูกขาดเลย แม้จะให้ชื่อว่าเป็นฉบับปราบโกงก็ตาม" น.ส.รสนา กล่าว
         

 


ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาหลายด้านที่ควรปฏิรูป เช่น ขีดการแข่งขันทางการค้านกับตลาดโลก, ลดความเหลื่อมล้ำส่วนตัว, การปรับตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีอัตราเร็วกว่ากลุ่มประเทศยุโรป, ระบบยุติธรรม, สิทธิมนุษยชน ส่วนตัวมองว่าขณะนี้ประเทศไทยโตช้าและมีแนวโน้มว่าจะโตช้าไปอีกหลายปี และการปฏิรูปตามที่สังคมเรียกร้องเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจน แม้จะตั้งคณะทำงานเพื่อเสนอเรื่องปฏิรูป แต่รัฐบาลกลับชี้แจงต่อกระทรวงในข้อเสนอปฏิรูปว่าทำไม่ได้ เช่น เรื่องพลังงาน ทั้งนี้มีข้อเสนอให้ทำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่รัฐบาลบอกให้ชะลอไปก่อน,  การปฏิรูปตำรวจ แม้มีการปรับเปลี่ยนเรื่องการแต่งตั้งหรือระบบสอบสวน แต่การปฏิรูปดังกล่าวที่เสนอเป็นกฎหมาย รัฐบาลขอแขวนไว้ก่อน, การปฏิรูปวงการพระสงฆ์ซึ่งไม่ทราบว่าปฏิรูปอย่างไรถึงมาวนอยู่แต่การตั้งพระสังฆราชพระองค์ใหม่, การปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อม ที่ล่าสุดพบว่าการสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ต้องทำการสำรวจ ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นต้น ดังนั้นการปฏิรูปที่เกิดขึ้นไม่มีแม้แต่เรื่องเดียวที่มีความชัดเจน หรือมีทิศทางสู่อนาคต
         

 


"การใช้อำนาจพิเศษเพื่อโยกย้ายข้าราชการรวมถึงการตรวจสอบที่ผ่านมา มีคำถามว่าจะสร้างทิศทางที่ดีในอนาคตได้อย่างไร ไม่ใช่ทำในสิ่งที่ตรงข้ามด้วยการใช้อำนาจพิเศษ ใช้อำนาจทหาร หรือระบบของคสช. ดังนั้นผมมองว่าการปฏิรูปปัจจุบันไม่สำเร็จเพราะขาดการแลกเปลี่ยนความเห็นที่หลากหลาย แต่เรากลับทำกระบวนการเหล่านี้เพราะคนส่วนน้อยที่ไม่มีความชอบธรรมรวมถึงไม่มีข้อพิสูจน์ว่าเป็นการปฏิรูปจริงหรือไม่ ส่วนการวางแนวทางปฏิรูประยะยาว 20 ปี และเตรียมเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นสิ่งที่อันตรายเพราะการวางแผนระยะยาวโดยขาดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ โดยไม่คิดถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก หากถามว่าปัจจุบันถามว่าปฏิรูปอะไร คำตอบคือ ไม่ต้องปฏิรูปปล่อยให้ประชาชนกำหนดเอง และขณะนี้ควรเร่งวางกติกาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว" นายจาตุรนต์ กล่าว
         

 


นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับของกรธ.จะนำประเทศไทยไปสู่การรัฐประหารอีกรอบ ทั้งประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยาก เหมือนกับบังคับให้ฉีกรัฐธรรมนูญ รวมถึงการลดบทบาทของประชาชนในการตรวจสอบการบริหารราชการด้านต่างๆ ในเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ, การให้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินปัญหาวิกฤตประเทศ แม้จะเพิ่มเติมองค์ประกอบหลายฝ่าย แต่หัวใจหลักคือศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ดังนั้นกระบวนการดังกล่าวจะเอื้อให้เกิดวิกฤตในประเทศ และให้องค์กรอิสระล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ง่าย
         

 


นายจาตุรนต์ กล่าวถึงข้อเสนอที่มาของส.ว.ให้มาจากการสรรหาหรือแต่งตั้ง โดยระบุเนื้อหาให้คสช.แต่งตั้ง และให้คสช.ร่วมเป็นส.ว. รวมถึงวางบทบาทให้ส.ว.เลือกนายกฯ นั้น ตามคำวิจารณ์คือจะทำให้ส.ว.มีอำนาจมาก ทั้งการประชุมร่วมกับส.ส. ในเรื่องสำคัญๆ ซึ่งหากส.ว.ไม่เห็นด้วยจะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ ขณะที่ท่าทีของนายมีชัย บอกว่ายังไม่เห็นเอกสารเรื่องดังกล่าวจึงไม่ชี้แจงและกลายเป็นความอึมครึมในสังคม ทำให้การเมืองเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นขั้นตอนวัดใจ กรธ. ว่าจะกล้าไม่ทำตาม คสช. ในเรื่องที่เห็นว่าไม่ควรทำตามหรือไม่ แม้จะออกตัวว่าไม่เห็นรายละเอียด แต่กลับมีการพูดคุยกันแล้ว รวมถึงเป็นขั้นตอนวัดใจ คสช.  ต่อความต้องการอำนาจส.ว. ที่จะยืนยันรายละเอียดอะไรไปยังกรธ. และสุดท้ายเป็นขั้นตอนวัดใจของประชาชน ว่าจะโหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้การรณรงค์ประชามติต้องเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นได้ โดยอย่าใช้ข้อหาบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญกับผู้ที่เห็นต่าง