"ปานเทพ" สวน "บิ๊กตู่" พลังงานแพงไม่ใช่เพราะ "คปพ." ตามกล่าว

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

 

"ปานเทพ"  สวน "บิ๊กตู่" อย่าโยนความผิดให้ คปพ. หากราคาพลังงานแพง จากเหตุการผลิตปิโตรเลียมแหล่งบงกช-เอราวัณล่าช้า เพราะรัฐฯ ไม่เคยตอบสนองข้อเรียกร้อง คปพ.แต่อย่างใดเลย
      
      

วันนี้ (4 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ กรณีที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน 2559 ให้ คปพ. รับผิดชอบถ้าราคาพลังงานแพงขึ้น ถ้าเกิดการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ และ บงกช ล่าช้า จนเกิดปัญหาก๊าซแอลพีจีขาดแคลน และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ว่า คำพูดดังกล่าวนั้น เต็มไปด้วยอคติ ขาดความรู้ และความเข้าใจ หลงผิดในข้อมูลสำคัญ ฟังและจำแต่ข้อมูลของกระทรวงพลังงานด้านเดียวมาพูด ไม่เคยเปิดใจศึกษาข้อเสนอของ คปพ. ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้
      
      

ขอย้ำว่า คปพ. ไม่ได้มีอำนาจในรัฐบาลในเรื่องการบริหารปิโตรเลียม ในขณะเดียวกันข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรมของ คปพ. มากมาย ก็กลับไม่ได้รับการตอบสนองใด ๆ จากรัฐบาล แล้วจะให้ คปพ. รับผิดชอบได้อย่างไร?
      
     
 เช่น ข้อเสนอการบูรณาการด้านพลังงานทั้งระบบ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้รัฐบาลควบคู่ไปกับการสร้างการแข่งขันเสรีการให้สิทธิผลิตปิโตรเลียมให้ทันเวลา โดยไม่สะดุดและทำให้การผลิตไฟฟ้าไม่ขาดแคลน, การไม่สร้างโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็นให้เป็นภาระค่าไฟฟ้ากับคนไทยทั้งประเทศ, ข้อเสนอให้ปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้ลดลงทั้งระบบ,
      
      

การแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ ให้โปร่งใส โดยให้ภาคประชาชนส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน
      
      
      

ข้อเสนอที่กล่าวมาข้างต้นนี้ นำไปสู่การมีพลังงานที่เพียงพอ ประเทศชาติได้ผลตอบแทนสูงสุดจากการแข่งขันเสรี ประชาชนได้ใช้ราคาน้ำมันที่เป็นธรรมตามราคาตลาดโลก และได้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ แล้วจะเกิดผลเสียต่อประเทศชาติตรงไหน?
      
      


ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมักกล่าวหาภาคประชาชน ว่า เอาแต่คัดค้านโดยไม่มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม แต่พอ คปพ. มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมบนข้อมูลและหลักวิชาการ รัฐบาลกลับไม่เคยตอบข้อเสนอเหล่านี้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ว่า ทำไมจึงทำไม่ได้ มัวแต่จะอ้างว่าต้องเร่งรีบ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงหากดำเนินการตามข้อเสนอของ คปพ. ตั้งแต่ปีที่แล้ว ป่านนี้ก็คงมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ และเปิดประมูลการจ้างผลิตและการแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียมไปตั้งนานแล้ว
      
      

ดังนั้น การพูดว่าให้ คปพ. ต้องรับผิดชอบเรื่องพลังงาน เพียงเพราะ คปพ. แถลงข่าวจับได้ว่าจะมีกระบวนการที่จะเจรจาประเคนแหล่งปิโตรเลียม 2 แห่ง คือ เอราวัณ และ บงกช โดยไม่เกิดการประมูลแข่งขัน ถูกต้องแล้วหรือ?
      
      

หรือ การที่ คปพ. แถลงข่าวเพราะจับได้ว่า มติ กพช. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 นั้นมีความคลุมเครือในเรื่องวิธีการประมูลและจะนำไปสู่การไม่ทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติได้จริง แล้วมาโทษว่าถ้าพลังงานแพงต้องให้ คปพ.รับผิดชอบนั้นเป็นธรรมแล้วหรือ?
      
      

 

ทำไมนายกรัฐมนตรีไม่ลองถามมุมกลับว่า กลัวอะไรกับข้อเสนอทำให้เกิดการแข่งขันเสรีด้วยวิธีการประมูลค่าจ้างผลิตต่ำสุดในแหล่งเอราวัณและบงกชที่จะกลับมาเป็นของรัฐ?
      
      
หรือถามกลับว่าหากไม่เกิดการแข่งขันตัวเงินที่รัฐจะได้ผลตอบแทนสูงสุดอย่างเป็นรูปธรรม และอย่างโปร่งใสแล้วรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จะรับผิดชอบไหม และรับผิดชอบอย่างไร?
      
      

ดังนั้น การที่จะล่าช้าออกไป เพียงเพราะอ้างว่า คปพ. คัดค้าน แต่กลับไม่สนองตอบข้อเสนอและทางออกที่เป็นรูปธรรมของ คปพ. ความรับผิดชอบจึงย่อมต้องเป็นรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่ คปพ.
      
      

ในประการต่อมาที่นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้างว่า แหล่งเอราวัณ และ บงกช ที่กำลังจะหมดอายุ นั้นมีกระเปาะเล็ก มีปิโตรเลียมน้อย ไม่คุ้มค่าการลงทุนนั้นเป็นเหตุผลที่ไม่น่าจะฟังขึ้น เพราะทั้ง 2 แหล่งได้พิสูจน์แล้วว่ามีปริมาณปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูงมากตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ธุรกิจทั้งเชฟรอน และ ปตท.สผ. ก็มีกำไรมหาศาลจากปิโตรเลียมที่ได้ 2 แหล่งนี้ จึงไม่ควรจะอ้างว่ากระเปาะเล็ก มีน้อย ไม่คุ้มการลงทุนไปปะปนเหมือนแหล่งปิโตรเลียมอื่น ๆ เพราะเมื่อหมดอายุสัมปทานแล้ว ทรัพย์สินที่เอกชนลงทุนในเอราวัณ และ บงกช ย่อมตกเป็นของรัฐอยู่แล้ว
      
      

เพราะเอราวัณ และ บงกช นอกจากจะมีปิโตรเลียมที่มีศักยภาพแล้ว ลูกค้าก็มีชัดเจน แถมเครื่องมือและเครื่องจักรก็ตกเป็นของรัฐอีก เหตุใดยังจะใช้วิธีการใช้ดุลพินิจให้คะแนนการให้เอกชนยื่น “ข้อเสนอ” แทนการแข่งขัน “ราคาค่าจ้างผลิต” ต่ำสุด ที่จะเป็นหลักประกันว่าจะสร้างผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดจากการแข่งขันในตลาดเสรี และโปร่งใส?
      
      

ในประเด็นนี้นายกรัฐมนตรีพูดในรายการเหมือนเข้าใจผิด และคลาดเคลื่อนอย่างแรง ว่า คปพ. เสนอให้รัฐบาลผลิตปิโตรเลียมด้วยตัวเอง รัฐบาลซึ่งไม่มีความพร้อมด้านคนและเครื่องมือ
      
      

แต่ความจริง คปพ. เสนอให้นำแหล่งเอราวัณ และ บงกช กลับมาเป็นของรัฐ 100% แล้วเปิดประมูลให้เอกชนแข่งขันมาผลิตปิโตรเลียมด้วยค่าจ้างผลิตต่ำที่สุด และจ่ายค่าจ้างเป็นปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ และ บงกช โดยใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่รัฐจะได้รับกลับคืนมาเมื่อหมดอายุสัมปทานลง
      
      

อย่าบอกว่าคนไทยทำไม่ได้ ไม่มีความพร้อม เพราะ ปตท.สผ. ก็เป็นริษัทไทยที่ทั้งสำรวจขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียม และบริษัทต่างชาติที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมส่วนใหญ่ก็จ้างคนไทยแทบทั้งสิ้น และผู้ที่จะรับจ้างผลิตก็มีอยู่หลายบริษัททั่วโลก จึงไม่เกี่ยวกับคน หรือเครื่องมือไม่พร้อม ตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้างแต่ประการใด ถ้าใช้วิธีการประมูลจ้างผลิต
      
      

ส่วนประเด็นที่นายกรัฐมนตรีกล่าวหา คปพ. ว่า ต้องการให้ประชาชนใช้ราคาพลังงานต่ำกว่าตลาดโลกนั้นไม่เป็นความจริง เพราะ คปพ. ได้เคยเสนอให้ปรับโครงสร้างราคาพลังงานใหม่ให้เป็นธรรมตามราคาตลาดโลกที่ลดลงไปอย่างมาก เพราะราคาที่คนไทยใช้อยู่นั้นสูงกว่าตลาดโลกต่างหาก
      
      

ปรากฏหลักฐาน คือ หนังสือ คปพ. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่อง ขอเรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อลดราคาน้ำมัน ลดราคาแอลพีจี ลดราคาเอ็นจีวีสำหรับภาคขนส่ง ลดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับที่ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และ ลดราคาไฟฟ้า เนื่องในโอกาสที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาต่ำลงมากที่สุดในรอบ 13 ปี (พร้อมเอกสารแนบ) ตามหลักฐานปรากฏตามลิงก์ด้านล่าง


    
ดังนั้น ถ้าจะโทษราคาพลังงานแพง กับ คปพ. ในวันข้างหน้า ก็ต้องถามว่า ถ้าห่วงใยประชาชนขนาดนั้น เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้ลดราคาลงเสียตั้งแต่วันนี้ตามข้อเสนอของ คปพ.!!?

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : MANAGER