นายกฯประชุมพัฒนาชายแดนใต้ ไฟเขียวโครงการเมืองต้นแบบ"สามเหลี่ยมมั่นคง" ย้ำชัดยึดแนว"ประชารัฐ"

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

นายกรัฐมนตรีประชุมแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดชายแดนใต้  พร้อมเห็นชอบโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" เน้นย้ำทำงานตามแนวคิดสานพลังประชารัฐ ผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ของเอกชน

 

 

วันนี้ ( 25 ก.ค.)  ที่ห้องประชุมพระนราภิบาล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส   เวลา 14.00น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม        ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับส่วนราชการ ภาคเอกชน และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยมี ผู้บริหารส่วนราชการ ภาคเอกชนเข้าร่วม


นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวก่อนการประชุมว่า  สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่เพื่อให้เกิดความร่วมมือ มุ่งเน้นเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปสู่อนาคตที่ดี และเพื่ออนาคตของลูกหลานรุ่นต่อไปผ่านการทำงาน 2 แนวทางคือ จากข้างบนลงข้างล่าง และจากข้างล่างขึ้นข้างบน โดยเฉพาะการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนใต้ รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณลงสู่พื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนโดยเร็วจากงบประมาณ 2 ส่วน คือ งบประมาณประจำกระทรวง และงบประมาณเร่งด่วนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาไปสู่ความเจริญในพื้นที่และขยายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV


จากนั้น เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ (ศอ.บต.) ได้นำเสนอผลการหารือร่วมกับ     ภาคธุรกิจเอกชน ประกอบด้วย ประธานหอการค้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้ประกอบการในพื้นที่ร่วมกันให้แนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังนี้ ข้อเสนอเรื่อง โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยสร้างเมืองต้นแบบการพัฒนาที่มีอัตลักษณ์ประจำสอดคล้องกับศักยภาพของความเป็นเมืองในปัจจุบัน เป็นเมืองต้นแบบแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจที่แตกต่างไปตามศักยภาพแต่สามารถเชื่อมโยงระหว่างกันและส่งเสริมการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (Synergy) ได้แก่ เมืองหนองจิก ปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน มุ่งเน้นการพัฒนาการค้าขาย วิสาหกิจชุมชน การเกษตร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความมั่นคงทางพลังงาน นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างชุมชนที่ประกอบอาชีพสนับสนุนพื้นที่การพัฒนาหลัก (Connectiing Point)  เช่น นำอาชีพในท้องถิ่นมาต่อยอดขยายผล เช่น ตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร มีการทำการตลาดแบบ E-Market เชื่อมไปยังเมืองอื่นๆ


เมืองเบตง ยะลา เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการค้าขาย วิสาหกิจชุมชน การเกษตร ตลอดจนการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการพึ่งตนเอง และการค้าขายชายแดนข้ามแดนประเทศมาเลเซียสู่เมืองปีนังและเมืองเปรัก รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และการสร้างต้นแบบของความมั่นคงทางพลังงาน


เมืองสุไหงโกลก นราธิวาส เป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนา การค้าข้ามแดนประเทศมาเลเซีย และวิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้อง มุ่งส่งเสริมธุรกิจขนาดใหญ่ สร้างธุรกิจรุ่นใหม่ การเชื่อมต่อไปยังวิสาหกิจชุมชนใช้การดำเนินการขับเคลื่อนตามแนวคิด สานพลังประชารัฐ เป็นกลไกการทำงาน โดยผลักดันให้มีการลงทุนขนาดใหญ่


 

 

นายกฯประชุมพัฒนาชายแดนใต้ ไฟเขียวโครงการเมืองต้นแบบ"สามเหลี่ยมมั่นคง" ย้ำชัดยึดแนว"ประชารัฐ"

 

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบตามที่ ศอ.บต. เสนอ ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" บรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรม  ส่วนข้อเสนอเงื่อนไขของภาคเอกชนเพื่อจูงใจธุรกิจขนาดใหญ่และเอกชนที่มีศักยภาพ นายกรัฐมนตรีรับข้อเสนอ โดยให้สำนักงานคณะกรรมพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรวบรวมข้อเสนอ แล้วนำเสนอผ่านสำนักส่งเสริมการลงทุนให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง  โดยขอให้พิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ ให้เรียบร้อย ครอบคลุมภาพรวมใหญ่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล 4.0 พร้อมให้พิจารณาปัจจัยภายนอก และผลกระทบที่จะตามมาจากการดำเนินโครงการให้รอบด้าน ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการต่าง ๆ  แต่ต้องดูงบประมาณและรายได้ของประเทศเป็นหลัก เพราะรัฐบาลต้องการใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด  สำหรับการลงทุนต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนในการลงทุน นอกเหนือจากการลงทุนของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ดำเนินโครงการเร่งด่วนที่สามารถดำเนินได้โดยเร็วให้เกิดเป็นรูปธรรมภายในปี 2560


สำหรับการดำเนินการนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ความสำคัญกับการทำงานตามแนวคิด "สานพลังประชารัฐ" ผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ของธุรกิจเอกชน ซึ่งประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะคำนึงถึงประชาชนโดยเฉพาะลูกหลาน ในอนาคตที่จะมีงานมีการทำ สามารถหารายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้  ไม่ต้องเดินทางไปทำงานในต่างบ้านต่างเมือง


ส่วนข้อเสนอของจังหวัดนราธิวาส เรื่อง การเร่งรัดการดำเนินโครงการพัฒนาด่านศุลกากรบูเก๊ะตา ตำบลโล๊ะจูด อำเภอแว้ง นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้เร่งดำเนินการให้สร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 เพื่อให้ทันเปิดใช้ในปี 2560