ฟังชัดๆ "เจ๊หน่อย" ประกาศไม่รับร่างรธน.ด้วยเหตุผลแบบนี้ ที่คน"เพื่อไทย"ฟังแล้วถึงกับดิ้นพล่าน

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้ (4 ส.ค.)   คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย  ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยได้เชิญชวนประชาชนไปใช้สิทธิ์ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม ที่จะถึงนี้  โดยระบุว่า

"๗ สิงหาคม ร่วมตัดสินอนาคตประเทศไทย

 

การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันอาทิตย์ที่ ๗ สิงหาคมนี้ มีความสำคัญยิ่งต่อการตัดสินอนาคตของพวกเราชาวไทยทุกคน  ร่วมกันไปใช้สิทธิ และโปรดพิจารณาศึกษาเนื้อหาสาระด้วยตนเอง ว่าร่าง รธน. นี้เป็นประโยชน์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศไทยของเราในอนาคต   แต่สำหรับดิฉันจากการได้ศึกษาร่าง รธน.ฉบับนี้แล้วจึงมีความห่วงใย และมีความเห็นส่วนตัวว่า

 

๑) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดอ่อนสำคัญคือ ออกแบบมาเพื่อให้แก้ไขได้ยากที่สุดเป็นครั้งแรกในรอบ ๘๔ ปี ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกเป็นต้นมา จึงจะใช้วิธี รับไปก่อน ค่อยไปแก้ไข “ไม่ได้”

 

๒) ร่าง รธน.นี้ จะผ่าน หรือ ไม่ผ่าน ก็ต้องเลือกตั้งในปลายปี ๒๕๖๐ ตาม ROAD MAP ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศไว้อย่างแน่นอน !! จึงไม่จำเป็นที่ต้องไปลงมติรับร่าง รธน.เพียงเพื่อต้องการให้มีการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะแม้ รธน.ผ่าน ก็ไม่ได้มีการเลือกตั้งทันที เนื่องจากมีการกำหนดให้ต้องไปออกกฎหมายลูกอีก ๑๐ ฉบับ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกประมาณ ๑๕-๑๗ เดือนหลังจากประกาศใช้ รธน.  ตาม ROAD MAP ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การเลือกตั้งครั้งหน้าจะอยู่ในช่วงปลายปี ๒๕๖๐ ไม่ว่าร่าง รธน. จะ “ผ่าน” หรือ "ไม่ผ่าน"   “ดังนั้นการรับร่าง รธน. จึงไม่ได้ทำให้การเลือกตั้งเร็วขึ้น”

๓) เป็นร่าง รธน.ที่จะทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่สามารถทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชน รวมทั้งผลักดันการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ และอาจจะสร้างความขัดแย้งในอนาคตหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าต่อไปอีก เพราะการสร้างกลไกให้ ส.ว. ๒๕๐ คน ที่เกือบทั้งหมดคสช.คัดเลือก มาทำหน้าที่ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และควบคุมกำกับฝ่ายบริหารที่มาจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ ส.ว.เห็นชอบว่า ใครจะได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกรรมการในองค์กรอิสระ เช่น ปปช. กกต. เป็นต้น

 

ยิ่งไปกว่านั้น กลไกที่เขียนให้อำนาจฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระกำกับควบคุม โดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่เหมาะสม รัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีสภาพไม่ต่างจาก “เป็ดง่อย” ที่ไม่สามารถทำงานแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาประเทศได้
การลงประชามติครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ว่าเราจะเดินออกจากวิกฤตการเมือง ซึ่งเป็นปัญหารบกวนโอกาสในการทำมาหากินของคนไทย รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาประเทศทุกด้านมาช้านานนี้ ได้หรือไม่
ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ร่าง รธน.ฉบับนี้มีทั้งคนออกมาสนับสนุนและคัดค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ออกมาคัดค้านนั้นไม่ใช่เฉพาะจากพรรคการเมืองใหญ่ทุกพรรคเท่านั้น

 

แต่ยังมีนักวิชาการที่มี “ความเป็นกลาง” หลายต่อหลายคน รวมถึงองค์กรภาคเอกชน รวมทั้งผู้ที่เคยสนับสนุนให้ทหารทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ก็ออกมาร่วมคัดค้านด้วย ย่อมแสดงว่าร่าง รธน.ฉบับนี้ มีข้อเสียมากกว่าข้อดี

ดังนั้นแทนที่จะต้องใช้ รธน. ที่เราทราบดีว่าอาจจะสร้างปัญหาความขัดแย้งในอนาคต รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว เรามาช่วยกันร่าง รธน.ฉบับใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ “สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของประชาชน” เพื่อให้ได้ รธน. ที่มาจากประชาชน และเพื่อประชาชน ปัญหาขัดแย้งในอนาคตก็จะหมดไป ไม่ดีกว่าหรือคะ

 

ถ้า รธน. สามารถปราบโกงได้จริง ดิฉันยินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่จากการศึกษา รธน.อย่างละเอียดแล้ว ไม่มีมาตรการปราบปรามการทุจริตเป็นการทั่วไป จึงไม่อาจที่จะปราบปรามการทุจริตได้จริง แต่ที่น่าวิตกไปกว่านั้น คือปัญหาที่น่าห่วงใยว่าเศรษฐกิจของประเทศ และการพัฒนาประเทศไทย จะเดินไปได้อย่างไร ภายใต้กติกาที่ฝืนวิถีประชาธิปไตยเช่นนี้

 

โดยส่วนตัวดิฉันจึง “ไม่เห็นชอบ” ร่าง รธน.ฉบับนี้ โดยมุ่งหวังให้คนไทยมีโอกาสได้ร่วมคิดร่วมร่าง รธน. ฉบับใหม่ ที่ไม่สร้างปัญหาต่อการพัฒนาประเทศ และสร้างปัญหาความขัดแย้งเหมือนร่าง รธน.ฉบับนี้ ซึ่งเรายังมีเวลาเหลือเฟือ เพราะตาม ROAD MAP ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กว่าจะได้เลือกตั้งครั้งใหม่คือช่วงปลายปี ๒๕๖๐ อยู่แล้ว"