ต้องฟังปชช.!!! "มาร์ก" ชี้รธน.ต้องตามเจตจำนงปชช.  ด้าน "วิรัตน์" เตือนอย่าตีความคำถามพ่วงเกินกรอบ

ติดตามข่าวสารที่ www.Tnew.co.th

 

"มาร์ก" ชี้เมื่อประชามติผ่าน รธน.ต้องทำตามเจตนารมณ์ประชาชน ด้าน "วิรัตน์" เตือนอย่าตีความคำถามพ่วงเกินขอบเขต  คือ 5 ปีให้ส.ว.มีสิทธิลงมติได้ แต่ต้องไม่ลบล้างหลักให้ส.ส.เลือกนายกฯ

 

วันนี้ (20 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นทางการเมือง กรณีคำถามพ่วงในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีปัญหาการตีความเกี่ยวกับการให้ส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ตามหลักการแล้วเมื่อประชาชนลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง  ผู้ร่างจะต้องทำตามเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งตนขออ่านรายละเอียดในคำถามพ่วงก่อน จึงจะบอกได้ว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะให้ส.ว.มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกฯ เพราะตอนนี้ดูแล้วทั้งบทเฉพาะกาลเขียนอย่างหนึ่ง แต่บทถาวรก็เขียนอีกอย่าง และคำถามพ่วงก็เขียนอีกแบบ ซึ่งไม่สอดคล้องกัน จึงต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

 

ขณะที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ความพยายามของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บางส่วนที่ตีความว่าให้อำนาจ ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ว่า ตามปกติผู้ที่มีอำนาจลงมติเลือกนายกฯ คือสภาผู้แทนราษฎร  แต่กรณีคำถามพ่วงเป็นเรื่องบทเฉพาะกาล 5 ปี ซึ่งหลักก็ให้สภาผู้แทนฯ เป็นผู้เลือกนายกฯ อยู่แล้ว แต่ยกเว้นให้ ส.ว. มีสิทธิเลือกด้วย  ดังนั้น การตีความต้องไม่เกินไปจากสาระในคำถามพ่วง คือระยะ 5 ปีที่ให้ ส.ว.มีสิทธิลงมติได้ แต่ต้องไม่ลบล้างหลักที่ให้ส.ส.เลือกนายกฯ ตามรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ 3 ชื่อ 

 

"ดังนั้น ถ้าตามเจตจำนงของคำถามพ่วง ส.ว.แค่มีสิทธิร่วมลงมติกับส.ว.ในระยะ 5 ปีเท่านั้น คงไม่เลยไปถึงเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ  ทั้งนี้ถ้าเกินจากเจตจำนงของคำถามพ่วง คงต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด ทั้งนี้ตนไม่ทราบว่าสนช.ต้องการอะไรจึงอยากให้ส.ว.เสนอชื่อนายกฯได้ ถ้าเกินกรอบไป ก็ทำให้ของดีๆเสียหายได้ และอาจทำให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้รับความเสียหายไปด้วย ดังนั้นสุดท้ายก็จบที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะผ่านไปได้ เพราะแค่คำถามพ่วงก็ยากอยู่แล้ว เป็นการไปเพิ่มงานให้ศาลรัฐธรรมนูญเสียมากกว่า" นายวิรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย