คิดไรอยู่!! "วันชัย" จี้สนช.เร่งแก้ร่างรธน.ให้ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ อ้างผ่านประชามติแล้ว เตือน"กรธ.-สนช."ขัดแย้งระวังเข้าทางฝ่ายตรงข้าม

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้ (21 ส.ค.)  นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่แสดงประชามติมาชัดเจนแล้วว่า 5 ปีแรกนี้ให้นายกรัฐมนตรีมาจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา  อันมีเจตจำนงตรงกันของชาวบ้านว่า 5 ปีนี้เท่านั้นให้ ส.ส.และ ส.ว.ที่เป็นสมาชิกรัฐสภาร่วมกันเลือกนายกฯ มาบริหารบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยมั่นคง ช่วยกันดูแลพัฒนาบ้านเมืองให้เข้าที่เข้าทาง แล้วค่อยส่งไม้ต่อให้ ส.ส.มารับผิดชอบเต็มที่เต็มกำลัง  ตามระบอบประชาธิปไตยแบบสากลต่อไป


ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องตีความให้ซับซ้อน ประเด็นที่ถกเถียงกันว่า ส.ว.มีสิทธิที่จะเสนอชื่อนายกฯหรือไม่ ตนเห็นว่า ไม่น่าจะต้องมาถกเถียงกัน เพราะในรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ก็ใช้คำว่าพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งก็หมายความว่า ให้มีสิทธิทั้งเสนอชื่อและโหวต เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา ก็ควรเอาความต้องการของประชาชนไปแก้ใส่ไว้ในบทเฉพาะกาล แค่นี้ก็จบ
        

นายวันชัย กล่าวต่อว่า  เมื่อเลือกตั้งแล้วเปิดประชุมมาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ในฐานะสมาชิกรัฐสภาก็ร่วมกันพิจารณาว่าจะเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะเอานายกฯ จากบัญชีรายชื่อหรือนอกบัญชีรายชื่อ ก็ว่ากันไป  ประชาชนเขาให้เป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาแล้ว  ใครได้รับเลือกด้วยเสียงข้างมาก คนๆ นั้นก็เป็นนายกฯ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายๆ ไม่มีลับลมคมในอะไร เป็นไปตามความต้องการของประชาชนที่แท้จริง  อย่าเอาความรู้สึกของใครคนใดคนหนึ่งมาเป็นที่ตั้ง  ไม่มีอะไรที่จะต้องเป็นห่วง  อย่ามัวไปนั่งคิดตีความอย่างแคบอย่างกว้าง อย่างนี้ทำได้อย่างนั้นทำไม่ได้  มุ่งเดินไปข้างหน้าเพื่อการปฏิรูปเพื่อการแก้ปัญหาของประเทศจะดีกว่า  อย่ามัวดึงกันไปดึงกันมา เอาแพ้เอาชนะกัน ประเทศชาติจะเสียหาย

นายวันชัย  กล่าวอีกว่า เจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนคือ ใน 5 ปีแรกนี้ ให้สมาชิกรัฐสภาร่วมกันโหวตเลือกนายกฯ นี่คือหลักการที่สำคัญ ส่วนวิธีการจะใช้วิธีเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อก่อนถ้าเลือกได้ก็เลือกกันไป แต่ถ้าเลือกไม่ได้จะเลือกนายกฯจากบุคคลในบัญชีหรือนอกบัญชีก็ว่ากันไป นั่นอาจเป็นวิธีการที่ทำให้เกิดความลงตัว  เป็นการเคารพเสียงจากบัญชีรายชื่อเสียก่อนก็ได้  ถ้าไม่ได้จึงมาใช้วิธีอื่นต่อไป  มันก็เป็นเรื่องที่ผสมผสาน เกิดความพอดีและลงตัวไปด้วยกันได้ทุกฝ่าย  อันเป็นการยึดในหลักการและก็หาวิธีการให้มันปฏิบัติได้แบบลงตัว


" ถ้าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ สนช. ซึ่งมาจากแม่น้ำสายเดียวกัน แต่กลับขัดแย้งกันไปคนละทิศคนละทาง ยิ่งจะเข้าทางของฝ่ายตรงข้าม  ถือโอกาสเอาความขัดแย้งและความคิดเห็นที่แตกแยกมาขยายผลเป็นประเด็นทางการเมือง  การลงประชามติทำมาด้วยดีอยู่แล้ว บ้านเมืองก็น่าจะเดินไปได้ด้วยดี  ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไม่น่าจะทำให้ประชาชนผิดหวังและเสียความรู้สึก" นายวันชัยกล่าว