มวยถูกคู่!! "ชูชาติ"โพสต์โต้"สดศรี" ป้องแบนคนโกง  ปลุก 65 ล้านเสียงตัดสินอนาคตประเทศ

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้ (13 ก.ย.)  นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษา หัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์เฟซบุ๊ก "Chuchart Srisaeng" ถึงกรณีที่นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แสดงความไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับเนื้อหาของร่าง พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับที่ กกต.กำหนดให้ผู้สมัคร หรือ ส.ส.ที่ถูกศาลฏีกาพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต เนื่องจากนางสดศรี มองว่าเป็นโทษที่ร้ายแรงสำหรับนักการเมือง เหมือนทำให้มองว่านักการเมืองเป็นอาชญากร เพราะคดีอาญาบางคดีศาลยังลงโทษจำคุกเพียง 20 ปีเท่านั้น  จึงเชื่อว่านักการเมืองคงไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ว่าถ้าข่าวดังกล่าวเป็นความจริง  ย่อมแสดงให้เห็นว่านางสดศรีเห็นอกเห็นใจนักการเมืองที่มีอยู่อย่างมากไม่เกิน 20,000 คน โดยเฉพาะนักการเมืองที่ถูกศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดน่าจะมีไม่เกิน 500 คน มากๆ

นางสดศรีคงทราบดีหรือไม่ทราบว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ฯลฯ บัญญัติไว้ในทำนองเดียวกันว่า ผู้ที่ถูกให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากราชการหรือหน่วยงานของรัฐ  ไม่มีสิทธิสมัครสอบเข้ารับราชข้าราชการตุลาการ ข้าราชการพลเรือน หรือข้าราชการประเภทอื่นๆ ตลอดชีวิต

นักการเมืองที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร ย่อมมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยทุกคน มีความสำคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองหรือความล้าหลังล่มจมของประเทศชาติ

ถ้านักการเมืองคนใดทุจริตตั้งแต่มีการเลือกตั้งแล้ว เมื่อได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าเป็นฝ่ายนิติบัญญัติหรือได้เป็นฝ่ายบริหารด้วย ก็เชื่อได้ว่านักการเมืองคนนั้นต้องแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างแน่นอน ดังที่เห็นกันอยู่ตลอดมา และนี่แหละคือความล่มจมของประเทศชาติ

แม้ว่าการเลือกตั้งไม่ได้เป็นโทษทางอาญา การประพฤติผิดวินัยของข้าราชการทุกประเภทก็ไม่ได้เป็นโทษทางอาญาเช่นเดียวกัน แต่ข้าราชการผู้ถูกลงโทษทางวินัยก็ไม่อาจสมัครเข้ารับราชการได้อีกตลอดชีวิต

ดังนั้นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับของ กกต.ที่กำหนดว่าหากผู้สมัครหรือ ส.ส.คนใดถูกศาลฎีกามีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต ก็ไม่แตกต่างจากข้าราชการซึ่งประพฤติผิดวินัยที่ไม่อาจเข้ารับราชการตลอดชีวิต จึงถูกต้องเหมาะสมอย่างยิ่งแล้ว

นักการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต กับข้าราชการที่ถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้ารับการอีก ต่างก็สามารถประกอบอาชีพอื่นๆ ได้ เฉกเช่นประชาชนทั่วๆ ไม่ได้เดือดร้อนอะไรเลย

สำหรับนักการเมืองที่มีเจตนาดีต้องการเข้ามาทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ไม่เคยแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ไม่เคยทุจริตในการเลือกตั้ง ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมก็คงเห็นด้วย

ส่วนนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งโดยการซื้อเสียงหรือทุจริตในการเลือกตั้งหรือกระทำความผิดอื่นๆ และถูกศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งก็ต้องไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของผู้เสียประโยชน์

กรณีนี้จึงอยู่ที่ประชาชนไทย 65 ล้านคนว่า ยังเห็นอกเห็นใจให้นักการเมืองที่ถูกศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง ควรให้คนเหล่านี้เข้ามาทำงานการเมืองมีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งได้อีกหรือไม่

นี่คือเรื่องสำคัญของประเทศชาติที่คนไทยทุกคนต้องตัดสินใจ ครับ