"วิษณุ" แจงยิบเหตุออกคำสั่งคสช.-ม.44 มากถึง 104 ฉ. แย้มจ่อแปลงร่างบางฉบับเป็นพ.ร.บ.

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้ ( 15 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล  นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ระบุในการแถลงผลงานรัฐบาล ครบรอบ 2 ปี การที่รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกคำสั่งและประกาศตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาแล้วรวม 104 ฉบับ ว่า คำสั่งที่ออกมาตามมาตรา 44 รวมแล้วมีจำนวน 104 ฉบับ ซึ่งเมื่อนำมาแยกประเภทแล้วจะเห็นว่ามีครึ่งหนึ่งออกมาเพื่อใช้สำหรับการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งเมื่อแต่งตั้งโยกย้ายเสร็จ เรื่องก็จบ สาเหตุที่ต้องใช้มาตรา 44 ในการออกคำสั่ง เพื่อให้มีการดำเนินการสอบสวนข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริต และขณะนี้ยังมีการสอบสวนอยู่ ยังไม่เสร็จ อีกทั้งเป็นที่รู้กันว่าการมาเป็นข้าราชการนั้นเข้ามาง่าย แต่การเอาออกจากข้าราชการนั้นทำได้ยาก เพราะเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามปกติ ผู้ถูกกล่าวหาสามารถอุทธรณ์ได้ แม้ถูกชี้มูลว่าทำความผิด แต่บุคคลนั้นก็สามารถไปร้องต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม(ก.พ.ค.) ได้ แต่ถ้าก.พ.ค.ชี้ว่าบุคคลนั้นมีความผิดก็สามารถร้องต่อศาลปกครองได้ หากศาลปกครองระบุว่าเขามีความผิดบุคคลนั้นยังสามารถร้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก ดังนั้นกระบวนการเหล่านี้ถือว่าใช้เวลานาน แต่การออกคำสั่งตามมาตรา 44 ทำให้เรื่องเสร็จได้รวดเร็ว จึงจะเห็นว่าใน 104 ฉบับนั้นเป็นการออกคำสั่งเพื่อสอบสวนดังกล่าวถึงครึ่งหนึ่ง
         

นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนอีกครึ่งหนึ่งใช้แก้ปัญหาที่ไม่สามารถใช้วิธีปกติได้ เช่น ปัญหาเรื่องการบินพลเรือน หรือปัญหาอื่นที่ต่างประเทศเรียกร้องประเทศไทยให้รีบแก้ไข และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น การบุกรุกที่ดินภูทับเบิก กรณีที่ดินสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้หากใช้วิธีปกติ คงมีการถกเถียงกันยืดยาว สุดท้ายก็จะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าไม่ใช่การเสพติดการใช้อำนาจตามมาตรา 44 และนับจากนี้ รัฐบาลจะใช้มาตรา 44 ให้น้อยลง โดยเฉพาะเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว แต่ทุกวันนี้ยังคงมีหลายหน่วยงานที่มาร้องขอให้ออกคำสั่งคสช. เพราะต้องการความรวดเร็วในการแก้ปัญหา แต่เราถือว่าคำสั่งคสช.เป็นกฎหมาย หากร่างโดยไม่ใช้ความละเอียดรอบคอบแล้ววันหนึ่งเกิดทะเลาะกันจนเรื่องขึ้นศาล ศาลอาจตีความไม่ถูก เพราะตามปกติ ในการตีความพ.ร.บ. ศาลจะดูที่เจตนาเป็นหลัก ดังนั้น ถ้าเป็นคำสั่งคสช.จะมองไม่เห็นเจตนารมณ์ ฉะนั้นในบางเรื่องก็ไม่ควรออกเป็นคำสั่งคสช.
         

รองนายกฯ กล่าวอีกว่า  ตนได้แจ้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า  ภาระทางกฎหมายของรัฐบาลนับจากนี้จะมี 4 ด้าน  1.การผลักดันกฎหมายที่รัฐบาลต้องการออกกฎหมายนั้นที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องของประชาชน   2.การผลักดันกฎหมายที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้ออกกฎหมายนั้น  ซึ่งใน 1-2 วันนี้  จะเรียกประชุมทุกกระทรวง  เพื่อมอบหมายว่าใครควรจะเป็นเจ้าภาพ    3.รัฐบาลต้องทำสิ่งที่รัฐธรรมนูญระบุไว้โดยไม่มีระบุในบทเฉพาะกาล  ยกเว้นไว้ให้ แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำทันที  ไม่ต้องรอกฎหมาย  ซึ่งมีอยู่หลายเรื่อง เช่น การศึกษาฟรี 12 ปี   4.ต้องทบทวนคำสั่งคสช.ทั้ง 104 ฉบับว่าฉบับใดบ้างที่ควรถูกยกเลิก หรือฉบับใดควรคงเอาไว้  ฉบับใดที่ควรถูกแปลงโฉมไปเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)  เพื่อให้มีความยั่งยืนเพราะมีอยู่หลายเรื่อง  อาทิ การแก้ปัญหาเกี่ยวกับองค์การการบินพลเรือน  การค้ามนุษย์  ซึ่งสาเหตุที่ต้องทบทวนคำสั่งคสช.  เพราะเห็นว่าอนาคตเมื่อบ้านเมืองเป็นปกติ   ก็ไม่ควรมีคำสั่งคสช.เหลืออยู่  ไม่ควรทิ้งภาระให้กับรัฐบาลชุดใหม่   อย่างไรก็ตาม ตนจะประชุมร่วมกับฝ่ายกฎหมายของ คสช.เพื่อหารือถึงเรื่องนี้อีกครั้ง