เด็กพท.ตบเท้ายื่น40รายชื่อ จี้ป.ป.ช.ทบทวนตั้งอนุฯสอบปมเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ชี้ก้าวก่าย-ไม่มีอำนาจ

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้ ( 19 ก.ย.)   ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)   นายประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคน  เป็นตัวแทนนำรายชื่อ 40 รายชื่อ มายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้มีคำสั่งทบทวนการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ กรณีกล่าวหา นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมกับอดีต ส.ส.อีก 40 ราย กรณีร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง  การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... เมื่อปี 56 โดยเห็นว่า  เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.นั้น ว่า  สาเหตุที่มายื่นหนังสือของให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทบทวนคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ กรณีนี้นั้น เนื่องจากเห็นว่า การกระทำของพวกตน คือ การทำหน้าที่ของ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่หน้าที่ของ ป.ป.ช.คือ การตรวจสอบเรื่องทุจริต และร่ำรวยผิดปกติ  ดังนั้น การที่มาก้าวก่ายเรื่องภายในสภาผู้แทนฯ ทำให้พวกตนรู้สึกไม่สบายใจ  ทำให้เสื่อมเสียเชื่อเสียง  จิตใจล่มสลาย ทั้งที่เป็นผู้แทนจากประชาชน  และต่อไปอาจทำให้การเสนอร่างกฎหมายโดย ส.ส.นั้น มีความผิดขึ้นได้


นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า  พวกตนที่เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ขณะนั้นมีความขัดแย้งเยอะ และมีคดีความเกี่ยวกับการเมืองในชั้นศาลเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในฐานะเป็น ส.ส.เป็นตัวแทนของประชาชน จึงควรช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้  และจากการสอบถามทั้งอัยการ ตำรวจ และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  ก็ให้ความเห็นตรงกันว่า  คดีเหล่านี้มีเยอะ และรกศาล จึงดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ  เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเป็นทำหน้าที่ตามกรอบของกฎหมาย


ขณะที่ นางสุณีย์ เหลืองวิจิตร  อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ  เป็นหน้าที่และสิทธิโดยชอบธรรมของการทำงานในสภาผู้แทนฯ เป็นไปตามมาตรา 90 และ 142 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 และถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนิติบัญญัติ  ส่วนที่กล่าวหาว่า  เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำการทุจริตก็ไม่เป็นความจริง  แต่มุ่งเน้นนิรโทษกรรมให้กับประชาชนทุกกลุ่ม  ทุกสี  ที่เกี่ยวกับการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองโดยไม่รวมถึงแกนนำผู้มีอำนาจสั่งการ  ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายนิรโทษกรรมที่เคยประกาศใช้ในอดีตกว่า 20 ฉบับ ดังนั้น การตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ เรื่องนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.