แฉชัดๆ!! "ชาญชัย"เปิดข้อมูล"ทอท."เอื้อ"คิงเพาวเวอร์" ระบุเกิดขึ้นตั้งแต่ยุค"แม้ว"

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้ ( 30 ก.ย.)   นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์  อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์  ในฐานะอดีตรองประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ปปช.) สภาผู้แทนราษฎร  แถลงว่า  หลังจากตนเรียกร้องให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.)  ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐสั่งให้กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ติดตั้งระบบรับรู้รายได้จากการขายสินค้าหน้าร้าน และสต็อคสินค้าคงคลัง(พ้อยต์ออฟเซล) ตามสัญญาที่ ทสภ.1-01/2548 เพราะ ทอท. ได้จัดซื้อเตรียมมาตั้งแต่ปี 48 รวม 100 จุด  และ ทอท.ได้แถลงยืนยันต่อสื่อมวลชนและรายงานต่อ สตง.ว่า ได้ติดตั้งระบบพีโอเอส มาตั้งแต่ปี 2549 แต่ทาง สตง.ตรวจพบว่า ไม่มีการติดตั้งใช้งานในระบบพ้อยต์ออฟเซล  นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานเป็นรายงานการประชุมบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 55 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ว่าคณะกรรมการบริหาร ทอท.ได้ทำเรื่องของบประมาณ 312 ล้านบาท เพื่อขอจัดซื้อจัดหาระบบพ้อยต์ออฟเซล ด้วยวิธีพิเศษอีก 194 จุด  จึงขอถามว่า "ของเก่าซื้อมากองไว้ไม่ใช้ แต่กลับมาขอเบิกเงินซื้อของใหม่ทำไม"


นายชาญชัย กล่าวต่อว่า  นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าเพิ่งจะมีการติดตั้งระบบพ้อยต์ออฟเซล เมื่อ 5 เดือนที่ผ่านมา  จากรายงานถึงผู้ว่าฯ สตง.เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 59 ชี้ให้เห็นว่า คณะผู้บริหาร ทอท. ทำรายงานเท็จต่อบอร์ดทอท. ผู้ถือหุ้นทอท. ผู้ว่า สตง. และสื่อมวลชน  เป็นพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่ละเลย ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยสตง.ได้ระบุพฤติกรรมว่า เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานรัฐและเป็นช่องว่างของการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใส  แม้ปัจจุบันทดลองติดตั้งเชื่อมต่อระบบนี้แล้ว  แต่ก็พบว่ายอดตัวเลขของการขายสินค้าและบริการที่แสดงผลสรุปรายวันต่อ ทอท. และกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์  ก็ยังไม่ตรงกัน โดยมีรายงานผลการตรวจสอบของ สตง.เป็นหลักฐานเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 59


" สาเหตุที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกล้าทำถึงขนาดนี้ เพราะมีการเมืองเข้ามา ในสมัยที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ และเป็นประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ได้มีการประชุม กทภ.ครั้งที่ 3 / 2546 วาระที่ 3.4.4 (2)  เรื่องสั่งให้กฤษฎีกาทบทวนความเห็นไม่ต้องนำสินค้าคงคลังมารวมเป็นทุนร่วมกับหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐพ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ)  ซึ่งนายทักษิณได้สั่งการให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯขณะนั้น กับ ทอท. ทำหนังสือถึงกฤษฎีกาให้ลดหย่อนเงื่อนไขการที่จะเอาสินค้าคงคลังมารวมทรัพย์สิน คือ ที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้าง ทั้งระหว่างของรัฐและเอกชนที่กำลังจะก่อสร้างว่ามีมูลค่าเกินพันล้านหรือไม่  ซึ่งถ้าเกินก็ต้องใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพื่อต้องการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มบริษัทนี้ ให้ได้รับการต่อสัญญาใหม่โดยไม่ต้องประมูลแข่งขันใหม่  จึงเป็นเหตุให้เกิดการหลีกเลี่ยงไม่ใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ กับโครงการนี้  ทำให้ไม่ต้องมีการประมูลแข่งขันแต่กลับใช้วิธีการเจรจาด้วยวิธีพิเศษแทน "  นายชาญชัยกล่าว 


นอกจากนี้   ยังมีหลักฐานการประชุมของคณะทำงานพิจารณารายละเอียดการขอต่อสัญญาเพื่อเข้าประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่   ของ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ถึง 4 ครั้ง  และยังมีการเปิดช่องให้เอกชนเข้ามากำหนดเงื่อนไขในทีโออาร์ ตั้งแต่การประชุมครั้งแรก  เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 47 ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง  ซึ่งขัดต่อระเบียบวิธีปฏิบัติราชการ  ที่ปกติหน่วยงานรัฐจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการอนุมัติ  หรือจ้างให้ร่วมงาน  หรือจัดซื้อจัดจ้างโดยฝ่ายรัฐจะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และต้องขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด  ก่อนที่จะเรียกให้เอกชนหรือผู้ประกอบการมาทราบเงื่อนไข


" แต่กรณีนี้ ทอท. กลับให้ตัวแทนของบริษัทนี้เข้ามาร่วมกำหนดเงื่อนไข โดยมีหนังสือว่าด้วยการขอต่อสัญญาของ บริษัท คิง เพาเวอร์ ลงวันที่ 13 ม.ค.47 เป็นหลักฐาน แต่ยังดีว่า กฤษฎีการไม่ยอมโดยย้ำว่าต้องทำสัญญาใหม่  เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงคำขอต่อสัญญานี้   จึงถือว่าเป็นการทำผิดระเบียบราชการและกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มาตั้งแต่เริ่มแรก ที่น่าสังเกตที่สุดคือ ทาง ทอท. กลับมีหนังสือราชการแจ้งให้ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด จ่ายเงินค่าว่าจ้างในการศึกษารับรองโครงการกับสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ศึกษาโครงการนี้ให้ ทอท. แทนอีกด้วย "