วัฒนาซัดรัฐทำข้าวราคาตก ยังหน้ามืดชูจำนำข้าวช่วยชาวนา ทั้งที่ผลาญเงินชาติกว่า 5 แสนล้าน (รายละเอียด)

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม www.tnews.co.th

เงียบหายไประยะหนึ่งในช่วงที่ประเทศอยู่ในภาวะเศร้าโศก หลังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13  ต.ค. ที่ผ่านมา  แต่ล่าสุดนายวัฒนา  เมืองสุข  อดีตส.ส.เพื่อไทย    ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กโจมตีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกระลอก โดยอ้างว่า ได้ติดตามราคาข้าวเปลือกของฤดูกาลผลิต 2559/2560 ซึ่งจะมีปริมาณข้าวออกสู่ตลาดในช่วง 2-3 เดือนนี้ประมาณ 22-25 ล้านตัน ราคาข้าวเปลือกเจ้าและหอมมะลิเหลือตันละ 5-6,000 บาท เท่านั้น และการยกเลิกนโยบายรับจำนำข้าวมีส่วนสำคัญทำให้ชาวนาได้รับความเดือดร้อน เพราะ   “ จากที่ชาวนาเคยขายได้ในราคาตันละ  15,000-20,000 บาท   ตามนโยบายการแทรกแซงตลาดของพรรคเพื่อไทย ทำให้ชาวนาต้องขาดทุนเพราะต้นทุนการผลิตตกตันละประมาณ 10,000 บาท  เป็นผลให้เงินของชาวนาหายไปประมาณ 250,000 ล้านบาท  เงินจำนวนนี้จะเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคอีกหลายรอบทำให้กำลังซื้อหายไปไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านล้านบาท จึงไม่ต้องสงสัยว่าเหตุใดเศรษฐกิจของไทยจึงแย่และไม่มีทางจะฟื้นตัว”

 

นอกจากนี้ นายวัฒนายังกล่าวหาว่า รัฐบาลปัจจุบันนำเอานโยบายรับจำข้าวมาใช้เป็นเครื่องมือทำลายพรรคเพื่อไทย  “ นอกจากการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามแล้ว รัฐบาลยังปิดหูปิดตาประชาชนโดยรองนายกฝ่ายเศรษฐกิจแสดงความโกรธเกรี้ยวผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจไทยที่กำลังแย่ อ้างว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงเศร้าโศกและอ่อนไหวไม่ควรใช้จังหวะนี้ออกมาพูด แต่รัฐบาลกลับออกมาโฆษณาชวนเชื่อสร้างความสับสนให้ประชาชนได้แทบทุกวัน ที่แย่ไปกว่านั้นคือการอ้างกฎหมายจัดการกับคนที่ไม่มีทางสู้ กรณีหัวหน้ารัฐบาลออกคำสั่งทางปกครองเรียกร้องให้นายกยิ่งลักษณ์ชำระค่าเสียหายจากการดำเนินนโยบายช่วยเหลือชาวนา แต่นิรโทษกรรมตัวเองและพรรคพวกไม่ต้องรับผิดชอบไว้ล่วงหน้า ครั้นพอมีชาวนาเห็นใจจะบริจาคเงินช่วยเหลือนายกยิ่งลักษณ์ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม”

 

แน่นอนว่าประเด็นหลักที่นายวัฒนาสอดแทรกมาโดยตลอด ก็คือ  การโจมตีรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์  ว่ามีเป้าหมายทำลายล้างพรรคเพื่อไทย   ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงนโยบายรับจำนำข้าวโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีปัญหามาโดยตลอด    ทั้งเรื่องการทุจริตโดยการระบายข้าวจีทูจีผ่านบริษัทสยามอินดิก้า     และการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจนไม่อาจแบกรับภาระต่อไปได้    เพียงแต่นายวัฒนาเลือกจะนำเสนอในบางมุมของข้อเท็จจริงเพื่อปลุกเร้าให้ประชาชนเห็นว่าการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องในนโยบายรับจำนำข้าวเป็นเรื่องการกลั่นแกล้งทางการเมือง 

วันที่  18  มิถุนายน   2556    ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาล  น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  ยอมรับอย่างเป็นรูปธรรมว่า นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคา  15,000  บาทตามที่ประกาศเป็นนโยบายหาเสียงไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้โดยผลกระทบหลาย ๆ  ด้าน 

 

โดยข้อมูลดังกล่าวถูกเปิดเผยจาก  นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ระบุว่าที่ ประชุมคณะรัฐมนตรี  ได้รับทราบรายงานและมีมติยอมรับตัวเลขการขาดทุนตามหลักการคิดคำนวณของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว และมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ไปพิจารณาแนวทางการรับจำนำรอบใหม่  โดยนำข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.  ไปพิจารณาคัดเลือกแนวทางการปรับลดราคารับจำนำ ในเบื้องต้นมี 3 แนวทางคือ

 

แนวทางที่1 การปรับราคาลงจากราคาปัจจุบัน 15-20%

 

แนวทางที่ 2 การใช้ราคาทุนการผลิตของเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรฯคำนวณได้บวกกับกำไรที่เพิ่มขึ้นอีก 25%

 

และแนวทางที่ 3 ใช้ราคาตลาดและเพิ่มราคาให้อีก 10% รวมทั้งจำกัดวงเงินในการรับจำนำต่อครัวเรือนที่ 3-5 แสนบาท โดยระบุแนวทางการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 (เริ่ม ต.ค.56) จะต้องขาดทุนไม่เกิน 7 หมื่นล้านบาท

 

ท้ายสุดเป็นอย่างที่ประชาชนคนไทยรับรู้  คือ  รัฐบาล  โดยคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร เป็นประธานคณะกรรมการก็ยอมเปลี่ยนแปลงคำมั่นผ่านนโยบายหาเสียง  โดยการปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่ฤดูกาลผลิตข้าวนาปรังปี 2556   ลดจาก 1.5 หมื่นบาทต่อตัน (ความชื้นไม่เกิน 15%) เหลือเพียง  1.2 หมื่นบาทต่อตัน และจำกัดวงเงินการนำข้าวเข้าสู่โครงการรับจำนำเหลือรายละไม่เกิน 5 แสนบาท  โดยอ้างว่า ราคา 1.2 หมื่นบาทต่อตันนี้  คำนวณต้นทุนการผลิตเฉลี่ยแล้วเกษตรกรมีต้นทุนประมาณ 8 พันบาทต่อตัน  เท่ากับชาวนายังคงมีกำไรจากการผลิตอีก 40%  และทั้งนี้การปรับลดราคาลงก็เพื่อรักษาวินัยทางการคลังไม่ให้โครงการขาดทุนเกินปีละ 1 แสนล้านบาทตามกรอบที่วางไว้

 

ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อเท็จจริงบางส่วนที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นต่อพฤติการณ์ของนายวัฒนาว่ามีเจตนาโดยบริสุทธิ์ใจหรือไม่อย่างไร   และจริงหรือไม่ที่จะพูดเฉพาะบางมุมข้อดีของโครงการรับจำนำข้าว  ซึ่งท้ายสุดก็ไม่สามารถเดินหน้าได้ตลอดรอดฝั่ง

     

ล่าสุดเมื่อวันที่  22  เมษายน  2559    นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  หนึ่งในพยานฝ่ายโจทก์คดีโครงการรับจำนำข้าว   ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

เบิกความต่อองค์คณะศาลฎีกาว่า  โครงการรับจำนำข้าวว่า มีการใช้เงินในโครงการรวม 5 ฤดูการผลิต จำนวน 878 แสนล้านบาทเศษ   ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนี้ยังไม่รวมดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าดูแลคุณภาพข้าว  ซึ่งหากมีการรวมยอดปิดบัญชีจนถึง 30 ก.ย.57 โครงการจะมีวงเงินใช้จ่ายประมาณ 9 แสนล้านบาทเศษ

 

โดยพยานเป็นหนึ่งในอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวชุดที่ คสช.แต่งตั้ง โดยโครงการจำนำข้าวตามกรอบมติคณะรัฐมนตรี จำเลยใช้วงเงิน 4.1 แสนล้านบาท และเงินกู้ของ ธ.ก.ส. 9 หมื่นล้านบาท โดยในช่วง 2 ปีแรกของโครงการรับจำนำข้าว ใช้เงินในโครงการน้อยกว่ากรอบวงเงินที่ได้กำหนดไว้ แต่ต่อมาในช่วงปีหลัง ภายหลังมีการรับจำนำข้าวแบบต่อเนื่อง ก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้แหล่งเงินกู้มากขึ้น และยังให้นำเงินระบายข้าวมาใช้หมุนเวียน ทำให้กรอบวงเงินการใช้โครงการสูงขึ้น

ขณะที่จากการตรวจสอบบัญชีหลังจากวันที่  31 มี.ค.59     ธ.ก.ส.ยังมีหนี้ค้างในโครงการอยู่ 536,000  ล้านบาทเศษ    คิดเป็นเฉพาะดอกเบี้ยวันละ 36  ล้านบาทเศษ  และยังคงเหลือข้าวของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์   รอการระบายอีกประมาณ 12 ล้านตันเศษ    ซึ่งการระบายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวได้น้อย    สาเหตุหลักมาจากราคาขายตามกลไกตลาดโลก และราคาที่รัฐบาลรับจำนำ  ซึ่งมีส่วนต่างจากราคาตลาดหรือคิดเป็นอัตราที่สูงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ 

และนี่ก็คือ ความเสียหายภายใต้โครงการรับจำนำข้าว ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย  ซึ่งหาโครงการรับจำนำข้าว 15,000 บาท ทุกเมล็ดดีจริงแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะปรับลดราคารับจำนำและกำหนดปริมาณทำไม ซึ่งปัจจุบันนี้อดีตนายกก็กำลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทั้งคดีความอาญาและคดีความแพ่ง

ส่วนสถานการณ์ราคารับซื้อข้าว ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2559 โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

ข้าวเปลือกเจ้า 5% นาปรัง ปีการผลิต 2559  

จ.ปทุมธานี ราคา 7,900 บาท /ตัน

จ.นครปฐม ราคา 7,700-8,000 บาท/ตัน

จ.พิษณุโลก ราคา 7,900-8,200 บาท/ตัน

ข้าวเปลือก หอมมะลิ ปีการผลิต 58-59

จ.กาฬสินธุ์ ราคา 10,500-11,500 บาท/ตัน

จ.อุดรธานี ราคา 9,900 – 12,000 บาท/ตัน

จ.สุรินทร์ ราคา 10,100-10,500 บาท/ตัน

ข้าวเปลือก ปทุมธานี นาปรัง ปีการผลิต 2559

จ.สุพรรณบุรี ราคา 8,700-8,900 บาท/ตัน

จ.ชัยนาท ราคา 9,000-9,200 บาท/ตัน

จ.อ่างทอง 9,100-9,300 บาท/ตัน

ถ้าหากเราย้อนดูมาตรการการช่วยเหลือชาวนา ของรัฐบาลที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 22 มิ.ย.59 ได้ออกมาตรการ 4 โครงการ ให้ ธ.ก.ส.ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/60 จำนวน 3.7 ล้านราย วงเงินงบประมาณรวมกว่า 45,000 ล้านบาท

1.มาตรการดูแลหนี้สินเดิมผ่านโครงการพักชำระหนี้เงินต้นและลดดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินและลดต้นทุนการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรรายย่อย ลูกค้า ธ.ก.ส.ที่มีหนี้เงินกู้เพื่อการผลิตข้าวไม่เกิน 500,000 บาท จำนวนประมาณ 2 ล้านราย

2.โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย มุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ วางแผนการผลิตเพื่อเพิ่มรายได้และการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ธ.ก.ส.ดำเนินการร่วมกับศูนย์เรียนรู้ชุมชนต่างๆ เน้นการให้ความรู้ในการปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อเพิ่มรายได้จากการผลิตครบวงจรและการพัฒนาอาชีพเสริมตามแนวทาง “การตลาดนำการผลิต” ในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract Farming) มีการจัดการด้านการผลิตที่มีตลาดรองรับชัดเจน จำนวน 15,000 ราย เริ่มดำเนินการ 1 กรกฎาคม 2559 – 31 ธันวาคม 2560 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 258 ล้านบาท

3.มาตรการรักษาเสถียรภาพการผลิตผ่านโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 เพื่อให้เกษตรกรทั่วไปและเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส.ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัยเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ 7 ประเภท ได้แก่ อุทกภัย ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บ และอัคคีภัย รวมทั้งภัยจากศัตรูพืชและโรคระบาด มีพื้นที่เป้าหมาย 30 ล้านไร่ โดยมีอัตราค่าเบี้ยประกันภัยเท่ากันทั่วประเทศอัตราไร่ละ 100 บาท รัฐบาลอุดหนุนไร่ละ 60 บาท เกษตรกรชำระไร่ละ 40 บาท สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ธ.ก.ส.จะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยส่วนของเกษตรกรให้ทั้งหมด สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายในส่วนของภาครัฐจำนวน 2,071 ล้านบาท

และ4.โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 จำนวนประมาณ 3.7 ล้านราย โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่ รวมงบประมาณของโครงการทั้งสิ้น 37,860 ล้านบาท โดย ครม.เห็นชอบในหลักการและกรอบวงเงินตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งนี้ให้กระทรวงการคลังกำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรายละเอียดก่อนดำเนินการตามโครงการต่อไป

ซึ่งนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เผยว่า ธ.ก.ส.จะเร่งจ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาท ให้เกษตรกรโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ทันฤดูการผลติข้าวรอบใหม่ โดยมีคณะกรรมการร่วมร่วมขับเคลื่อนโครงการให้มีขั้นตอนที่รัดกุมมากขึ้น

 

และล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.ย.59 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย อัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่าน ธ.ก.ส. เพิ่มรายได้และบรรเทาภาระหนี้สิน โอนเงินเข้าบัญชีผู้มีรายได้น้อยโดยตรงรายละ 3,000 บาท ปรับปรุงโครงสร้าง-ลดภาระหนี้ และคืนดอกเบี้ยให้เกษตรกรที่มีวินัยดี

 

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการ 2 มาตรการหลัก คือ 1.มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ที่ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2559 ที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจากหน่วยงานราชการแล้ว โดย ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีให้แก่เกษตรกรโดยตรง ให้แก่ผู้ที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จำนวน 3,000 บาทต่อคน มีเกษตรกรผู้มีสิทธิจำนวน 1.51 ล้านคน และผู้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จำนวน 1,500 บาทต่อคน มีเกษตรกรผู้มีสิทธิจำนวน 1.34 ล้านคน