เปิดเบื้องลึกพฤติกรรม "นายจตุพร" ผิดเงื่อนไขศาล "ยุยง-ปลุกปั่น-ใช้ถ้อยพาดพิงบุคคล"...หรือนี่จะคือเหตุผลที่ศาลไม่ให้ประกันตัว...??? (ข้อมูล)

ติดตามข่าวศาลเพิ่มเติม www.tnews.co.th

จากกรณีที่ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้มีการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวใหม่ต่อศาลอาญาเป็นถึง 2 ครั้ง ซึ่งศาลได้ยกคำร้องทุกครั้ง แม้ว่าการยื่นคำร้องครั้งใหม่นี้จะมีเอกสารประกอบเป็นหนังสือรับรองจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่าศาลอาญามีคำสั่งให้ยกคำร้อง เนื่องจากยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม (อ่านข่าวเพิ่มเติม >>> http://politic.tnews.co.th/contents/211773/)

 

ทั้งนี้ หากเราย้อนไปดูพฤติกรรมที่ศาลอาญา ถอนประกันนายจตุพร เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมานั้นก็จะพบว่า นายจตุพรนั้นได้มีการทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวของศาล จนทำให้เขานั้นต้องเข้าคุกในทันที

 

วันที่ 11 ต.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว นายวีระ หรือนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรมช.พาณิชย์, นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำนปช. และนายนิสิต สินธุไพร อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย 5แกนนำ นปช.จำเลยร่วมในคดีหมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายรวม ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ในศาลอาญา

 

โดยพนักงานอัยการยื่นคำร้องกล่าวอ้างว่า นายจตุพร จำเลยที่ 2 พูดในทางเสียดสี ประชด ประชัน ตำหนิการทำงานของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บิดเบือนการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี กล่าวหาหน่วยงานของรัฐกระทำการโดยมิชอบ คุกคาม กดดันการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ พูดโจมตีบุคคลต่างๆ ในลักษณะดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทผู้อื่น พูดยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนในบ้านเมืองผ่านรายการโทรทัศน์ PEACE TV เว็บไซค์ ยูทูป และสื่อสาธารณะอื่น ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลที่กำหนดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวไว้

 

คดีนี้จำเลยที่ 1-4 และ 8 ให้การยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไขศาล แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นสุจริตตามสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นการตรวจสอบป้องกันการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐและรัฐบาล ซึ่งหากมีการพาดพิงหรือดูหมิ่นบุคคลใดก็สามารถใช้สิทธิทางกฎหมายได้อยู่แล้ว

ขณะที่ทนายจำเลยทั้ง 5 ได้แถลงต่อศาลขอไต่สวนพยานประกอบคำให้การของจำเลย และวีซีดีบันทึกภาพและเสียงที่อัยการโจทก์ยื่นต่อศาลบางแผ่นไม่สามารถเปิดดูรายละเอียดได้ ศาลเห็นว่าจำเลยได้แถลงยอมรับข้อเท็จจริงว่าได้ไปออกรายการต่างๆ และมีการให้สัมภาษณ์จริง แต่ไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไขศาล และอัยการโจทก์ยังมีหนังสือพิมพ์ สื่อสาธารณะอื่น ร่วมถึงบันทึกถ้อยคำจากแผ่นวีซีดีที่เป็นพยานหลักฐานพอวินิจฉัยได้ เมื่อจำเลยรับข้อเท็จจริงแล้วประกอบกับโจทก์มีพยานหลักฐานพอวินิจฉัยได้ ศาลจึงงดการไต่สวนพยานจำเลย พร้อมยกคำร้องทนายจำเลยที่ 2 และ 4 ที่แถลงต่อศาลคัดค้านการอ่านคำสั่งวันนี้

 

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การอนุญาตปล่อยชั่วคราวเป็นหลักประกันอิสรภาพตามสิทธิมนุษยชน เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกคุมขังนานเกินจำเป็น โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยยังไม่เป็นผู้กระทำผิดจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งจะปฏิบัติเสมือนผู้ที่กระทำความผิดไม่ได้ กรณีที่ศาลมีคำสั่งปล่อยชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไข เพื่อป้องกันการหลบหนี การเกิดภัยอันตรายหรือความเสียหาย และละเว้นกิจกรรมที่อาจกระทำผิดขึ้นอีกได้ ซึ่งศาลจะใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขขึ้นมาเพื่อให้จำเลยต้องปฏิบัติเกินความจำเป็นแก่กรณี ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108 และการปล่อยชั่วคราวจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป

 

สำหรับคดีนี้ศาลสั่งปล่อยชั่วคราวจำเลยโดยกำหนดเงื่อนไขไว้ เพื่อควบคุมหรือป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสถานการณ์ขณะนั้นมีวิกฤตการขัดแย้งทางการเมืองสูง ซึ่งจำเลยเป็นแกนนำในการปราศรัยโจมตีรัฐบาลและนัดชุมนุม จนเป็นเหตุให้ถูกจับกุมและดำเนินคดี แต่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 57 คสช. เข้ายึดอำนาจ สถานการณ์ภายในจึงสงบเรียบร้อยลง และมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จตามกำหนด โดยกำหนดให้มีการลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม 59 ซึ่งจำเลยที่ 1-4 และ 8 ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ กรณีย่อมทำได้แต่ต้องอยู่ในขอบเขตและไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของศาล อีกทั้งกรณีวิจารณ์การทำงาน คอรัปชั่นก็ย่อมมีสิทธิกระทำได้ แต่ต้องไม่กระทบสิทธิเกียรติยศบุคคลอื่น

 

เมื่อพิจารณาแผ่นวีซีดีของอัยการโจทก์แล้วเห็นว่า บทสนทนาบางตอนจำเลยที่ 2 กล่าวพาดพิงบุคคลอื่นด้วยถ้อยคำค่อนข้างรุนแรงหรืออาจกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนที่ได้รับทราบข้อความดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลที่ถูกพาดพิงและกระทบสิทธิเกียรติยศ แม้ผู้เสียหายจะใช้สิทธิตามกฎหมายได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ ศาลได้กำหนดเงื่อนไขไว้ก่อนแล้วเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น การที่จำเลยที่ 2 ได้กล่าวโดยระบุชื่อและกล่าวในลักษณะส่อในทางดูหมิ่นกระทบสิทธิต่อชื่อเสียง เกียรติยศถือเป็นการกระทำผิดเงื่อนไข ส่วนจำเลยที่ 1, 3, 4 และ 8 ศาลเห็นว่าเป็นการติชมโดยสุจริตเป็นธรรมตามวิสัยของประชาชนทั่วไป ยังไม่ถึงกับดูหมิ่นหรือกระทบสิทธิ เกียรติยศหรือชื่อเสียง และความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น อันเป็นการยั่วยุหรือกระทำผิดเงื่อนไขประกันอื่นตามที่ศาลได้กำหนดไว้

 

ศาลจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว นายจตุพร จำเลยที่ 2 และยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนประกันในส่วนของจำเลยที่ 1, 3, 4 และ 8 ส่วนที่จำเลย 1-4 และ 8 ขอให้ยกเลิกเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวในคำร้องคัดค้านที่จำเลยยื่นมาด้วยนั้น ศาลเห็นว่าการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวก็เพื่อป้องกันภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว ซึ่งศาลจะใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขขึ้นมาเพื่อให้จำเลยที่ 1-4 และ 8 ต้องปฏิบัติเกินความจำเป็นแก่กรณี จึงยังไม่มีเหตุที่จะยกเลิกเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวดังกล่าว

ทั้งนี้นายจตุพรยังตกเป็นจำเลย ในคดีความต่าง ๆ หลายคดี ทั้งที่สิ้นสุดและยังไม่สิ้นสุดดังต่อไปนี้

ดีความที่ยังไม่สิ้นสุด

  • คดีก่อการร้าย และฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ระบุไว้ ในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หมายเลขดำที่ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์
  • คดีดักฟังโทรศัพท์ หมายเลขดำที่ อ.177/2551 กรณีที่จำเลยทั้งสามคือจตุพร, จักรภพ เพ็ญแข และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ร่วมกันนำข้อความการสนทนาทางโทรศัพท์ ระหว่าง พลตำรวจตรี พีรพันธุ์ เปรมภูติ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.; ยศและตำแหน่งขณะนั้น) กับวิรัช ชินวินิจกุล อดีตเลขานุการศาลฎีกา และไพโรจน์ นวานุช ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกาขณะนั้น ไปเปิดบนเวทีปราศรัยของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ
    • ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2557 จำคุก 2 ปี ปรับ 4หมื่น รอลงอาญา 2 ปีอยู่ระหว่างฎีกา

 

  • คดีหมายเลขดำที่ อ.1962/2552 ที่อภิสิทธิ์เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา กรณีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 จตุพรขึ้นปราศรัย บนเวที นปช.ที่วัดไผ่เขียวทำนองว่า โจทก์ไม่ได้นั่งอยู่ในรถประจำตำแหน่ง ในช่วงเหตุการณ์ที่กลุ่มคนเสื้อแดงปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย และเข้ากลุ้มรุมต่อรถดังกล่าว และยังกล่าวหาว่าโจทก์ เป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือด สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหาร ใช้อาวุธปืนสงครามยิงประชาชนคนเสื้อแดง ในเหตุการณ์ชุมนุมช่วงเดือน เมษายน พ.ศ. 2552
    • ศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2557 ยืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง

 

  • คดีหมายเลขดำที่ อ.4176/2552 ที่อภิสิทธิ์เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ 332 กรณีเมื่อวันที่ 11 และ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2552 จตุพรกล่าวปราศรัย ในการชุมนุมของ นปช.และเสื้อแดง ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและทำเนียบรัฐบาล กล่าวหาว่าโจทก์ยึดพระราชอำนาจ ด้วยการเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ ต่อฎีกาพระราชทานอภัยโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งทาง นปช.รวบรวมรายชื่อคนเสื้อแดงขึ้นทูลเกล้าฯ และกล่าวหาโจทก์เป็นฆาตกร อาชญากร สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหาร ใช้อาวุธปืนสงครามสังหารประชาชน และสร้างสถานการณ์จลาจล ที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ย่านนางเลิ้ง และถนนเพชรบุรีซอย 5 และซอย 7 ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 รวมถึงเหตุการณ์จลาจล ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนที่เมืองพัทยา
    • ศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2558 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 2 ปีโดยไม่รอการลงโทษ
    • ศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2559 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

 

  • คดีหมายเลขดำ อ.855/2553 ที่สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2552 จตุพรแถลงข่าวพาดพิงโจทก์ว่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เกณฑ์คนต่างด้าวให้ได้ 5,000 คนมาสวมเสื้อสีแดง แฝงตัวร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552 โดยวางแผนให้คนกลุ่มดังกล่าว ก่อความปั่นป่วนเพื่อป้ายสีคนเสื้อแดง
    • ศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2556 ยืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง

 

  • คดีหมายเลขดำ อ.771/2554 ที่ พลตรี จำลอง ศรีเมือง กับพวกรวม 4 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพร และสื่อมวลชนรวม 4 คนเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
    • ศาลอุทธรณ์พิพาษาเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2556 ยืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง

 

  • คดีหมายเลขดำ ด.2635/2551 (ศาลอาญากรุงเทพใต้) นางทีปสุรางค์ ภรรยาของจรัญ ภักดีธนากุล เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพรกับพวก และสื่อมวลชนรวม 4 คน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เวลาประมาณ 22:00-23:00 น. จำเลยที่ 1 ถึง 3 ซึ่งดำเนินรายการความจริงวันนี้ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยแสดงความคิดเห็นโดยนำคำพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ คำพิพากษาศาลจังหวัดสงขลา ในคดีเกี่ยวกับที่ดิน มาอ่านออกอากาศ แล้วอ้างว่าเป็นประเด็นเปรียบเทียบ กับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งโจทก์เห็นว่าเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริง

 

  • คดีหมายเลขดำ อ.4977/2555 ที่วัชระ เพชรทอง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพร, วีระกานต์ หรือวีระ มุสิกพงศ์ และณัฐวุฒิ เป็นจำเลยที่ 1 ถึง 3 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดว่าด้วยพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 10 ล้านบาท
    • ศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2558 ให้จำคุกจำเลยทั้ง 3 คนละ 1 ปี ปรับ คนละ 5หมื่นบาท รอลงอาญาไว้ 2 ปี และชดใช้เงินจำนวน 6 แสนบาท
  • คดีหมายเลขดำ อ.2799/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพร และศราวุธ หลงเส็ง ผู้ร่วมชุมนุม เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรค 2, 215, 216 ซึ่งยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

 

คดีความที่สิ้นสุดแล้ว

  • คดีหมายเลขดำ อ.3982/2553 ที่รสนา โตสิตระกูล เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553 จตุพรให้สัมภาษณ์ทำนองว่า โจทก์เป็นตัวตั้งตัวตีพยายามโยกคดี ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งบุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คดีนี้สิ้นสุดแล้ว เนื่องจากรสนามิได้ฎีกาคำสั่งศาล คดีจึงจบที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้อง

 

  • คดีซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ของสำนักงานกรมพระธรรมนูญ กองทัพบก ให้เดินทางไปแจ้งความดำเนินคดี ที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554 ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112ทว่าต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษสั่งให้ถอนฟ้อง

 

  • คดีที่เมธี อมรวุฒิกุลฟ้องความผิดฐานหมิ่นประมาทคดีจบที่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง

 

  • คดีหมายเลขดำ อ.1008/2553 ที่อภิสิทธิ์เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 326 และ 332 กรณีเมื่อวันที่ 29 มกราคม ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 จตุพรกล่าวปราศรัยต่อกลุ่มคนเสื้อแดง และประชาชนที่รับชมผ่านโทรทัศน์ช่องพีเพิลแชนเนล ใส่ความโจทก์ทำนองว่าสั่งฆ่าประชาชน และหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหารศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี

 

  • คดีหมายเลขดำ อ.404/2552 ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา กรณีเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2552 จตุพรแถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทย กล่าวหาโจทก์กระทำการมิบังควร ตีตนเสมอพระเจ้าแผ่นดิน โดยนั่งเก้าอี้เทียบเสมอพระเจ้าแผ่นดิน ในการถวายรายงานราชการ
    • ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 57 ให้จำคุก นายจตุพร 6 เดือน ปรับ 5 หมื่นบาท ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ต่อมา นายจตุพร ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง
    • ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2559 ให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้น

เรียบเรียงโดย วัสดา สำนักข่าวทีนิวส์