เมื่อทำงานไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยน!!เปิดเบื้องหลัง เด้งฟ้าผ่าปลัดกระทรวงดีอี

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 มีคำสั่งให้ นางทรงพร โกมลสุรเดช พ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี และให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ตรวจราชการ และเป็นที่ปรึกษาด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ ยังมีคำสั่งให้ นางสาววิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล พ้นจากตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ และให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

โดยให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่ตั้งแต่วันที่คำสั่งมีผลบังคับใช้ และการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งภายหลังวันที่คำสั่งนี้บังคับใช้ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีพิจารณา และให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานงบประมาณ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับตำแหน่ง และอัตราเงินเดือนของข้าราชการดังกล่าว และให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง หรือพ้นจากตำแหน่งตามคำสั่งนี้ตามมาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่งคำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

เมื่อทำงานไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยน!!เปิดเบื้องหลัง เด้งฟ้าผ่าปลัดกระทรวงดีอี

 

ทั้งนี้ นางทรงพร ถือเป็นปลัดกระทรวงดีอีคนแรกหลังจากเปลี่ยนชื่อ และภารกิจจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และอยู่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงดีอี ประมาณ 50 วันนับตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2559 โดยนางทรงพร จะเกษียณอายุราชการในเดือน ต.ค.2560 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งอาจมาจากความล่าช้าของโครงการเน็ตหมู่บ้าน

สำหรับโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร (ไอซีที) ได้รับงบประมาณที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2559 จำนวน 20,000 ล้านบาท เพื่อนำมาจัดทำโครงการยกระดับโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศ

โดยแบ่งงบออกมา 2 โครงการ คือ การพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้เข้าถึงทุกหมู่บ้าน 15,000 ล้านบาท และโครงการขยายขีดความสามารถเครือข่ายการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในประเทศและต่างประเทศ ด้วยงบประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยกระทรวงไอซีทีมอบหมายให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคม นาคม จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการร่วมกัน

ทั้งนี้ ทั้งทีโอที และ กสท จะต้องสำรวจพื้นที่การวางโครงข่ายทั่วประเทศร่วมกัน โดยปัจจุบันพื้นที่ที่มีโครงข่ายแล้วกว่า 50% จะต้องอัพเกรดความเร็วในการดาวน์โหลดให้ได้ถึง 20 Mbps ส่วนอัพโหลด 5 Mbps จะต้องดูว่าจะเปลี่ยนจากสายทองแดงเป็นไฟเบอร์ออฟติกทั้งหมด หรือจะเปลี่ยนแค่อุปกรณ์หัว-ท้าย กระทรวงจะพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนอีกครั้ง

ส่วนพื้นที่อีกกว่า 40% หรือประมาณ 30,000 จุด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการลงทุนนั้น ถือเป็นพื้นที่ที่กระทรวงต้องดำเนินงาน และไม่ให้เกิดการลงทุนซ้ำซ้อนกับโครงการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เน้นพื้นที่ชายขอบ และพื้นที่ทุรกันดารด้วย

อีกทั้งยังมีโครงการที่กระทรวงเคยกำหนดไว้ในการขยายบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชนภายใต้งบประมาณ 3,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่เหลือจากโครงการติดตั้งไว-ไฟ สำหรับแท็บเล็ตโรงเรียนจำนวน 10,000 แห่งทั่วประเทศด้วย

เมื่อทำงานไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยน!!เปิดเบื้องหลัง เด้งฟ้าผ่าปลัดกระทรวงดีอี

 

ต่อมาเมื่อเปลี่ยนกระทรวงจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อดำเนินการโครงการนี้ต่อ แต่ว่าการดำเนินการไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร โดยในการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 2/2559 โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้กระทรวงดีอี โอนเงินในการทำโครงการภายใต้กรอบงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ทำทั้งหมด ตั้งแต่การทำทีโออาร์ ตลอดจนวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง และต้องเริ่มลงมือทำโครงการให้ได้ในวันที่ 25 ธ.ค. เพื่อให้โครงการติดตั้งให้ครบ 85% ภายในปี 2560 และติดตั้งให้ครบทั้งหมดภายในต้นปี 2561

สำหรับสาเหตุที่ตัดสินใจโอนเงินให้ทีโอที ทำแทนวิธีการเดิมที่กระทรวงต้องเขียนทีโออาร์แล้วค่อยให้ทีโอที เข้ามาประมูลแบบวิธีพิเศษนั้น เนื่องจากความล่าช้าของโครงการที่มีแต่ปัญหามาโดยตลอด ทั้งๆ ที่รัฐบาลได้มอบนโยบายให้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือน ม.ค.2559 และมีการอนุมัติงบประมาณ และมอบให้กระทรวงตั้งแต่เดือน พ.ค.2559 แต่เรื่องการเขียนทีโออาร์ของกระทรวงก็มีปัญหา โดยเฉพาะเกิดการท้วงติงของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

เมื่อทำงานไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยน!!เปิดเบื้องหลัง เด้งฟ้าผ่าปลัดกระทรวงดีอี
       
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 ก.ย.2559 ทีโอทีได้ส่งเอกสาร หรือยื่นข้อเสนอมาก็พบว่า ไม่ตรงกับทีโออาร์ที่กระทรวงเขียนก็ต้องถือว่าไม่ผ่าน จึงต้องหาทางออกเพื่อให้สามารถดำเนินการให้ได้ ซึ่งกระทรวงก็มีการประชุมกันหลายครั้ง ในวันที่ 20 และ 23 ต.ค. 2559 ตามลำดับ เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้น เมื่อดูระเบียบแล้วเห็นว่า กระทรวงสามารถโอนเงินให้รัฐวิสาหกิจในหน่วยงานเพื่อทำโครงการได้ กระทรวงดีอี จึงขอเลือกทางเดินนี้
       
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “ตอนแรกที่ไม่เลือกวิธีนี้ เพราะเราก็ไม่คิดว่า กระทรวงทำเองจะเจอปัญหาแบบนี้ แต่ถ้าให้กลับไปทำตามวิธีเดิมมันก็เสี่ยงเกินไป โครงการได้เงินมาแล้ว ท่านนายกฯ ก็ไม่พอใจที่โครงการล่าช้า ไม่พอใจทุกคน ผมด้วย ปลัดด้วย แต่ท่านให้โอกาส คาดว่าจะสามารถเสนอให้ ครม.เห็นชอบได้ภายในเดือนนี้ เพื่อให้วันที่ 25 ธ.ค.2559 เริ่มโครงการได้”
       
จากเดิมที่กระทรวงดีอี ต้องทำโครงการจำนวน 40,432 แห่ง ก็มีข้อท้วงติงว่าซ้ำซ้อนกับโครงการของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถึงแม้ว่ากระทรวงได้ยืนยันว่า ไม่ทับซ้อนก็ตาม แต่ที่ประชุมก็มีข้อสรุปให้กระทรวงดีอี และ กสทช.แบ่งกันทำ โดยกระทรวงดีอีโอนเงินให้ทีโอที 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อทำโครงการ 24,700 แห่ง กสทช.ทำ 15,732 แห่ง โดยใช้งบ USO ที่เหลืออยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาท ทำโครงการ แบ่งเป็น โครงการ USO ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพิ่งปลดล็อกคำสั่งชะลอโครงการ 3,920 แห่ง ซึ่งต้องเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 2559 และอีก 11,812 แห่ง ซึ่งต้องรอประชุมร่วมกับกระทรวงดีอี ในการจัดสรรพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง
       
ส่วนข้อกังวลว่า เมื่อโอนเงินให้ทีโอทีทำทั้งหมดแล้วจะเกิดปัญหาทุจริตหรือไม่นั้น ตนเองขอยืนยันว่า โครงการนี้เป็นโครงการเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน ดังนั้น มั่นใจว่าทีโอที ก็พร้อมจะทำเพื่อประเทศ แต่กระทรวงดีอี ก็ไม่นิ่งนอนใจ ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบด้วยการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันตรวจสอบ ซึ่งสื่อมวลชน และประชาชนเองก็ต้องร่วมกันตรวจสอบด้วย กระทรวงนอกจากต้องทำหน้าที่มอบนโยบายแล้ว ก็ต้องทำหน้าที่กำกับดูแลด้วย หากทีโอที ทุจริต กระทรวงก็ต้องรับผิดชอบด้วย โดยโครงการนี้ต้องบอกว่า ทีโอทีต้องทำเท่าต้นทุนเหลือเท่าไหร่ ต้องคืนรัฐบาล ไม่มีการคิดค่าบริหารจัดการเหมือนรูปแบบการทำโครงการแบบแรกแน่นอน

หลังจากนี้ก็ต้องติดตามความคืบหน้าของโครงการนี้ ภายหลังจากการเปลี่ยนตัวปลัดกระทรวงดีอี คนใหม่ว่าจะดำเนินการโครงการนี้ให้มีการขับเคลื่อนไปได้หรือไม่ คงต้องจับตากันต่อไป

 

เรียบเรียง : อุดร แสงอรุณ