"มีชัย"แนะปฏิรูปสื่อต้องให้คนทั้งประเทศช่วยกันคิด ชี้ลำพังคนทำสื่อทำกันเองไม่มีทางสำเร็จ

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้ ( 24 พ.ย.)  ที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  นายมีชัย ฤชุพันธ์  ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘การปฏิรูปสื่อกับเจตนารมณ์ของรัฐ’ ในงานสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารศาสตร์ ครั้งที่ 12 หัวข้อ ‘ปฏิรูปสื่อ:ทางออกสังคมไทย ?’ โดยนายมีชัย กล่าวว่า ตนเฉลียวใจว่าทำไมสังคมไทยต้องหาทางออกเกี่ยวกับสื่อ และการที่ให้รัฐดำเนินการปฏิรูปสื่อ อาจจะทำให้ปัญหาหนักหนาสาหัสกว่าเดิม เพราะสื่อนั้นเป็นช่องทางแสดงออกถึงเสรีภาพอันสมบูรณ์ของประชาชนทุกคน ซึ่งไม่มีทางไปกำกับข่าวให้เป็นอย่างที่ตัวเองต้องการจะเป็นเพราะข่าวคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงตามสภาพ เช่นเดียวกัน ความเห็นก็เป็นเรื่องของแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร การคิดเห็นไม่เหมือนใครไม่ได้แปลว่าใครผิดใครถูก ความเห็นบางอย่างเมื่อแสดงออกไปวันนี้อาจจะเป็นสิ่งที่แย่ ไม่เป็นที่ยอมรับ แต่วันหนึ่งอาจจะเป็นที่ยอมรับก็ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรบอกว่าใครผิดใครถูกในเรื่องแสดงความเห็น ตนคิดว่าควรเปิดใจกว้างในเรื่องการแสดงความเห็น คนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ต่างคนก็เอาหลักฐานมาสนับสนุนกัน ตนคิดว้าสื่อเป็นแบบนี้คงไม่มีปัญหาอะไร แต่คำถามก็คือ ทุกวันนี้สื่อเป็นแบบนี้หรือไม่

        
“ผมเห็นว่า ความคิดเห็นกับข่าวต้องแยกกัน ตนเห็นสื่อในปัจจุบันแยก 2 เรื่องนี้ไม่ออก เพราะผู้รายงานข่าวได้ใส่ความเห็นลงไปด้วย อาทิ มีข่าวคนตกตึก คนรายงานข่าวอาจไปใส่ความเห็นว่าคนนั้นถูกผลักตกตึก ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นย่อยมาก ความเข้าใจผิดที่เกิดจากการใส่ความคิดเห็น และเป็นความคิดเห็นที่อยู่บนความไม่จริง โดยผู้ที่รายงานนั้นได้กระทำอย่างตั้งใจ ตนคิดว่าการทำแบบนี้ไม่ใช่คนทำสื่อ แต่เป็นคนที่ทำงานรับจ้างบิดเบือนความจริง ซึ่งถ้าทำแบบนี้ก็ทำให้ความน่าเชื่อถือลดลง” นายมีชัยกล่าว

นายมีชัย กล่าวต่อว่า ในอดีต ตนเห็นว่านักสื่อมวลชนทำตัวเป็นนักต่อสู้ ทำงานด้วยใจรัก แต่ในวันนี้จิตวิญญาณแบบที่สื่อเหล่านั้นได้ต่อสู้กลับเลือนหายไป ตนคิดว่าเป็นเพราะว่าอิทธิพลของธุรกิจและการเมือง ซึ่งให้ผลประโยชน์กับสื่อ จึงทำให้สื่อกลายเป็นธุรกิจพันล้านแทน ถ้าหากมองดูในสังคมขณะนี้ ก็จะเห็นว่าสื่อทุกแขนงมีการแบ่งเป็น 2 ข้าง สุดแล้วแต่ว่าใครจะใจอ่อนไปฝั่งไหน ซึ่งต้องยอมรับว่าการจะทำให้ธุรกิจและการเมืองเข้ามาเลิกยุ่งกับสื่อนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะว่าธุรกิจก็จำเป็นกับความอยู่รอดของสื่อ เช่นเดียวกับการเมืองที่ต้องใช้พื้นที่ของสื่อในการเผยแพร่ข่าว แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องหาทางว่าจะทำให้ธุรกิจ การเมือง ไปด้วยกันกับสื่อ โดยต้องรักษาดุลทั้ง 2 ข้างเอาไว้ ซึ่งการปฏิรูปสื่อจะเกิดผลนั้น จะต้องอาศัยความคิดของคนทั้งประเทศที่จะต้องร่วมกันปฏิรูปสื่อด้วยกัน ลำพังแค่คนทำสื่ออย่างเดียวมาปฏิรูป ตนคิดว่าคงเป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้นตนคิดว่าถ้าทุกฝ่ายมีวินัย ยึดมั่นในกฎเกณฑ์ เคารพซึ่งกันและก็คงไม่ต้องมีการปฏิรูปกัน เพราะ 2 สิ่งนี้จะเป็นตัวบังคับให้ปฏิบัติตามกรอบที่มีความเหมาะสม ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้เกื้อหนุนตรงนี้ด้วยการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้เกิดการตระหนักตั้งแต่เล็กๆ ขอย้ำว่าตนอยากให้สื่อนั้นมีความเป็นกลาง ทำหน้าที่สำคัญก็คือรายงานข้อเท็จจริงให้กับประชาชนได้ทราบเป็นเรื่องหลัก


“ถ้าเราจะออกกฎหมายเพื่อการปฏิรูปสื่อ ถ้าหากจะให้ได้ผลก็ต้องมีบทบังคับว่าทุกคนต้องเข้ามาอยู่ภายใต้ตรงนี้ ซึ่งก็มีการเสนอว่าให้เขากฎหมายที่รัฐบังคับใช้ไปอยู่ในมือคนกันเอง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าคนกันเองที่ว่านั้นเกิดลุแก่อำนาจ ตนคิดว่าก็คงจะมีปัญหาเช่นกัน ดังนั้นถ้าเกิดกรณีนี้ แล้วจะทำอย่างไรกับเขา แล้วคนที่ทำผิดกฎจะทำอย่างไร จะไปดำเนินคดีกับกฎหมายก็คงยากเช่นกัน ดังนั้น การปฏิรูปสื่อคงไม่ใช่แค่อาศัยตัวบทกฎหมายบังคับอย่างเดียว แบบนี้คงไม่ได้ ต้องอาศัยการวิวัฒนาการด้วย ดังนั้นในระดับอุดมศึกษาที่เป็นที่ผลิตบัณฑิตก็ต้องผลิตสื่อรุ่นใหม่ๆให้มีความสามารถโต้แย้งคนรุ่นเก่าที่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ด้วย ขณะเดียวกันสื่ออาวุโสก็ต้องรวมตัวคุยกันเพื่อหาจุดพอดีในการสร้างจริยธรรมสื่อ ซึ่งตนคิดว่าแบบนี้คงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการปฏิรูปสื่อ” นายมีชัยกล่าว

นายมีชัย ระบุอีกว่า เรื่องการปฏิรูปสื่อกับเจตนารมณ์ของรัฐนั้น ตนคิดว่าถ้ารัฐหมายถึงประเทศ ประชาชน และสังคมไทย คำตอบของการปฏิรูปจะอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ 3 มาตรา ได้แก่มาตรา 35 ที่รับรองสื่อมวลชน กำหนดข้อห้ามไม่ให้รัฐสนับสนุนกิจการสื่อ กำหนดว่าหน่วยงานของรัฐที่สนับสนุนสื่อ ต้องรายงานต่อ สตง. และเปิดเผยให้ประชาชนทราบว่าจ่ายอุดหนุนไปเท่าไร ในมาตรา 98 ระบุว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องไม่เป็นเจ้าของและผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน และเรื่องที่ 3 ในมาตราที่ 184 ระบุว่า ส.ส. , ส.ว. และรัฐมนตรีต้องไม่ไปแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนทุกแขนงทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้ง ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเขียนว่าหน่วยงานของรัฐที่เป็นสื่อจะต้องนึกถึงพันธกิจของตัวเองด้วย ไม่ใช่แค่ทำตามคำสั่งที่ได้รับมา แต่อย่างไรก็ตามถ้าสื่อละเมิดประชาชน ประชาชนก็มีทางเลือกก็คือ ใช้สิทธิทางกฎหมายเพื่อฟ้องร้องสื่อหากถูกละเมิด เลือกเสพสื่อที่เชื่อมั่นว่ายังเหลือความเป็นสื่ออยู่ อาทิ ประชาชนบางคนเรื่องไม่ซื้อหนังสือพิมพ์บางฉบับแล้ว และประชาชนทำสื่อกันเองหรือที่เรียกว่า ‘นักข่าวพลเมือง’ Citizen Reporter ซึ่งทางนี้ถือเป็นหายนะของสื่อ ซึ่งตัวอย่างของสื่อประชาชนที่ชัดเจนก็กรณีที่อดีตดีเจถอยรถไปชนรถคันอื่น ประชาชนก็ใช้เทคโนโลยีอัพข้อมูลอีกด้านขึ้นสื่อออนไลน์ กลายเป็นสื่อโซเชียล ซึ่งนี่ถือเป็นการตบหน้าสื่อหลัก เพราะสื่อเหล่านี้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ดังนั้นกรณีนี้ก็ถือเป็นการบีบบังคับให้สื่อหลักก็ต้องปฏิรูปด้วย อย่างไรก็ตาม สื่อหลักในอนาคตตนคิดว่าก็ยังจำเป้นอยู่เพราะว่าจะเป็นตัวถ่วงสื่อโซเชียลเหล่านี้และในขณะเดียวกัน สื่อโซเชียลก็จะเป็นตัวที่จะทำหน้าที่ถ่วงดุลสื่อหลักด้วย