เปิดให้เห็นกันชัด ๆ ระบบศาลของไทย แบบไต่สวนและแบบกล่าวหา แบบไหนกันที่นิยมใช้ (ข้อมูล)

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม www.tnews.co.th

จากกรณีที่เมื่อตอนที่แล้วได้มีการกล่าวถึง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ออกมาระบุว่าเตรียมดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่พยายามช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีระเบิดในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนให้พ้นผิด และมีการอธิบายถึงอำนาจที่เข้าไปแฝงตัวอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นั้นก็คือ เครือข่ายระบอบทักษิณ (อ่านข้อมูลเพิ่มเติม >>>http://www.tnewsonline.tv/contents/25971ระบอบทักษิณยังมีอิทธิพลในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ...??? (มีข้อมูล))

และก็ได้กล่าวถึงท้ายเอาไว้ว่าระบบศาลของไทยนั้นมี 2 ศาลนั้นก็คือระบบไต่สวนและระบบกล่าวหา และจากตัวอย่างที่ยกให้ดูก็เป็นแบบระบบกล่าวหา

ทีนี้เราก็จะมาดูความหมายของระบบศาลของไทยทั้ง 2 แบบ

ระบบไต่สวนและระบบกล่าวหานี้มีความแตกต่างกันมาก ระบบไต่สวนมีผลสำคัญในเรื่องบทบาทของศาลในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมในคดีโดยในระบบไต่สวนซึ่งได้รับอิทธิพลจากหลักการไต่สวนโดยศาล (Judicial investigation) ศาลจะมีบทบาทและอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ ไม่ถูกจำกัดให้พิจารณาเฉพาะเพียงข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่คู่ความเสนอต่อศาล และศาลมีอำนาจริเริ่มดำเนินกระบวนพิจารณาต่างๆ ได้ด้วยตนเองโดยที่ไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดร้องขอ

 

แต่ในระบบกล่าวหา ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหลักความประสงค์ของคู่ความ (Principle of party disposition หรือ le principe dispositif) ศาลจะไม่มีบทบาทและอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดีเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง ศาลต้องถูกจำกัดกรอบให้พิจารณาเฉพาะจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่คู่ความเสนอต่อศาลเท่านั้น

สำหรับประเทศไทย โครงสร้างของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้อำนาจศาลไทยเช่นเดียวกับระบบไต่สวนไว้ในหลายมาตรา เช่น

 

มาตรา 86 วรรคท้าย ศาลมีอำนาจเรียกพยานมาสืบเพิ่มเติมได้เอง หรือเรียกพยานที่สืบไปแล้วมาสืบใหม่ได้โดยที่ไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดร้องขอ

 

มาตรา 99 และ 129 ให้อำนาจศาลในการตั้งผู้เชี่ยวชาญได้เองตามที่ศาลเห็นสมควร แม้ไม่มีคู่ความร้องขอ

 

แต่ในส่วนบทบัญญัติเรื่องการสืบพยานในศาล ได้บัญญัติไว้เช่นเดียวกับระบบกล่าวหาจึงทำให้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งของไทย มีเนื้อหาที่เป็นระบบผสมระหว่างระบบไต่สวนและกล่าวหาในส่วนของ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 กำหนดบทบาทและอำนาจของศาลไทยไว้เช่นเดียวกับระบบไต่สวนอย่างชัดเจนในหลายมาตรา เช่น

 

มาตรา 33 ให้อำนาจศาลในการเรียกพยานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร

 

มาตรา 36 ให้อำนาจศาลในการขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นต่อศาลได้

 

มาตรา 37 ให้อำนาจศาลในการเรียกพยานมาสืบเพิ่มเติม เรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่ได้ โดยไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดร้องขอ

 

มาตรา 34 กำหนดให้ศาลเป็นผู้ซักถามพยาน และให้ศาลมีอำนาจซักถามพยานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างก็ตาม

 

แต่ด้วยบทบาทศาลไทยที่คุ้นเคยกับการวางบทบาทและอำนาจไปในทางระบบกล่าวหา สืบเนื่องจากบรรพตุลาการในอดีตที่สำเร็จการศึกษาในต่างประเทศ จบจากอังกฤษ ซึ่งใช้ระบบกล่าวหา เป็นส่วนมากและประกอบกับประมวลจริยธรรมตุลาการ ข้อ 9 ก็ได้กำหนดกรอบข้อจำกัดในการซักถามพยาน การแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของศาลไว้ จึงทำให้บทบาทของศาลไทยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โน้มไปทางระบบกล่าวหามากกว่า ถึงแม้ว่าตามเนื้อหาของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจะเป็นระบบผสม ซึ่งให้อำนาจศาลอย่างระบบไต่สวนไว้ในหลายมาตราส่วนบทบาทของศาลในระบบไต่สวนตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ก็ยังไม่มีความเด่นชัดว่าศาลได้ใช้อำนาจในระบบไต่สวนอย่างที่ควรจะเป็นถึงแม้ว่าตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้ให้อำนาจศาลไว้เช่นเดียวกับระบบไต่สวนอย่างชัดเจนก็ตาม

 

ที่มา : thaipublica

เรียบเรียงโดย : วัสดา สำนักข่าวทีนิวส์