"บิ๊กตู่"ถกบอร์ดพลังงาน ยันถ่านหิน-ก๊าซคือทางเลือก-รมว.พลังงานจ่อชงบอร์ดกพช.ชี้ขาดโรงไฟฟ้ากระบี่อีกรอบ ม.ค.60

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้ ( 8 ธ.ค.)  ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวก่อนการประชุมว่า พลังงานเป็นสิ่งที่มีความสำคัญทั้งในวันนี้และอนาคต ดังนั้นจึงต้องมีการพิจารณาแนวทางเพื่อการพัฒนาและเพิ่มการจัดหาพลังงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งประเด็นที่ทุกฝ่ายควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเพิ่มเติม คือการที่ประเทศต้องพัฒนาตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งต้องมีโครงการขนาดใหญ่ รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกมาก ทำให้ความต้องการด้านพลังงานสูงขึ้นจากเดิมที่มีการประมาณการตัวเลขอยู่แล้ว ดังนั้นทุกฝ่ายต้องสร้างความเข้าใจกับสังคม ถึงเหตุผลที่ต้องจัดหาพลังงานเพิ่มเติม เพราะบางส่วนยังมองว่าตัวเลขที่ประมาณการไว้ เพียงพอต่อการใช้ในปัจจุบันอยู่แล้ว โดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ในประเทศ สำหรับวิธีการจัดหามีหลากหลายวิธี ทั้งถ่านหิน แก๊ส น้ำมัน แต่การเลือกจะใช้แนวทางใด ต้องสามารถตอบสนองความต้องการให้ได้มากที่สุด และเป็นการหาทางออกท่ามกลางความขัดแย้งโดยวิธีที่ดีที่สุด และ ต้องคำนึงถึงความมั่นคงในด้านอื่นๆ ประกอบด้วย
         

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน แถลงผลการประชุมว่า กระทรวงพลังงานเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุม กพช. ในเดือน ม.ค.2560 พิจารณารูปแบบการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ มีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผน ขอยืนยันความจำเป็นที่จะต้องเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ภายในปี 2560 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชน และความมั่นคงทางพลังงาน เพราะขณะนี้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าและกำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่เริ่มใกล้เคียงกัน
         

"เราจะเสนอที่ประชุม กพช.ครั้งต่อไป ในเดือนหน้า เป็นการเสนอในภาพรวมของภาคใต้ ซึ่ง กฟผ.เตรียมภาพรวมทั้งหมด เราทำงานตามแผนที่กำหนดไว้ แต่จะให้ กพช.ตัดสินใจจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน กระทรวงพลังงานได้ติดตามข้อมูลทั้งหมด และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งมีทั้งแผนหลักและแผนสำรอง และขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้าน รวมถึงสอบถามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการโรงไฟฟ้ารูปแบบใดด้วย" พลเอกอนันตพร กล่าว

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ ปี 2558-79 (PDP2015) จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ 6 แห่ง กำลังผลิตรวม 5,800 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้นก่อนเป็นการดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แก่ โรงไฟฟ้ากระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนจะต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าปลายปี 2562 แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี ส่วนโรงไฟฟ้าที่จะเข้าระบบต่อไป คือโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ใน จ.สงขลา ซึ่งจะมี 2 ระยะ โดยระยะแรก ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ เดินเครื่องผลิตไฟฟ้ากลางปี 2564 และระยะที่ 2 อีก 1,000 เมกะวัตต์ เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าปี 2567 ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 3 แห่ง อยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่
         

รมว.พลังงานกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบการดำเนินงานเพื่อเปิดเสรีธุรกิจก๊าซปิโตรเหลว (แอลพีจี) โดยให้ลดการควบคุมธุรกิจการผลิตและจัดหาลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อมิให้กระทบถึงราคาขายปลีกมากจนเกินไป จนนำไปสู่การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจีทั้งระบบต่อไป โดยขั้นตอนการดำเนินการเพื่อเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจีแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านก่อนจะเปิดเสรีทั้งระบบ โดยจะยังมีการควบคุมราคาโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซฯ แต่จะเปิดเสรีเฉพาะในส่วนการนำเข้า โดยให้ยกเลิกระบบโควต้าการนำเข้า และสามารถส่งออกเนื้อก๊าซที่ผลิตในประเทศได้ อย่างไรก็ตามจะปรับราคาหน้าโรงกลั่นจากเดิมเป็นราคาตะวันออกกลาง (ซีพี) ติดลบ 20 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล (CP-20$) และยังอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมธุรกิจพลังงาน ซึ่งกำหนดให้เริ่มดำเนินการเปิดเสรีส่วนนำเข้าตั้งแต่เดือน ม.ค. 2560 เป็นต้นไป โดยจะมีการดูแลไม่ให้กระทบต่อภาคประชาชนโดยยังใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาดูแล
         

ส่วนระยะที่ 2 จะเป็นการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจีทั้งระบบ โดยจะยกเลิกการควบคุมราคาและปริมาณของทุกแหล่งผลิตและจัดหา รวมถึงยกเลิกการประกาศราคา ณ โรงกลั่นและราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ ภายหลังจาก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้อย่างไรก็ตามยังไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านจากระยะที่ 1 ไปถึงระยะที่ 2 ขึ้นอยู่กับการแข่งขันของผู้ประกอบการเอกชนในตลาด

นอกจากนั้นที่ประชุมฯ ได้รับทราบแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) และก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพื่อความมั่นคงของประเทศภายหลังจากการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียม "บงกช-เอราวัณ" ล่าช้า ในขณะที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินชะลอไป โดยได้รับทราบการทบทวนและปรับประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558 - 2579 (Gas Plan 2015) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการใช้ในประเทศ โดยคาดว่าในปี 2579 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะอยู่ที่ระดับ 5,062 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการไว้ตามแผน PDP 2015 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4,344 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในขณะที่การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะมีปริมาณลดลงในอนาคต ส่งผลทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปี 2565 ความต้องการการนำเข้าแอลเอ็นจีจะอยู่ที่ประมาณ 17.4 ล้านตันต่อปี และในช่วงปลายแผน คือในปี 2579 ความต้องการการนำเข้าแอลเอ็นจีจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 34 ล้านตันต่อปี จากประมาณการเดิมอยู่ที่ 31 ล้านตันต่อปี
         

ด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.ได้รายงานสถานการณ์พลังงานปี 2559 และแนวโน้มปี 2560 ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบ โดยภาพรวมการใช้พลังงานในปี 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากปีก่อน สอดคล้องการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย GDP ทั้งปีที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 คิดเป็นมูลค่าการใช้พลังงานรวม 1.95 ล้านล้านบาท มูลค่าการนำเข้าคิดเป็นร้อยละ 8 ของ GDP ประมาณ 7 แสนล้านบาท โดยการใช้นำมันกลุ่มเบนซินและดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 และร้อยละ 3.1 ตามลำดับ จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ Peak ปี 2559 อยู่ที่ 30,973 เมกกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 จากปี 2558 เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงสุด และอากาศที่ค่อนข้างร้อนจัดสะสมยาวนานหลายพื้นที่ ขณะที่แนวโน้มในปี 2560 แนวโน้มการใช้พลังงานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว ราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวในกรอบ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ Peakในปีหน้าจะอยู่ที่ 31,365 เมกกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จากปี 2559 ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ในแผน PDP 2015

 

 

วิทย์ ณ เมธา สำนักข่าวทีนิวส์เรียบเรียง