นายกห่วง"วิกฤตป่าต้นน้ำ"  เมืองน่าน (รายละเอียด)

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม : www.tnews.co.th

ถือเป็นประเด็นใหญ่ระดับประเทศที่เมื่อมีการพูดครั้งใด  ก็สร้างอารมณ์ร่วมในการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติขึ้นมาทุกครั้ง  โดยเฉพาะครั้งนี้เป็นคำพูดที่ออกมาจากพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.  ที่แสดงความเป็นห่วงการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำซึ่งอาจส่งกระทบเชิงลบในระยะยาวต่อแหล่งน้ำสำคัญอย่างแม่น้ำเจ้าพระยาในอนาคต

ทั้งนี้กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างที่  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.)    เดินทางไปตรวจเยี่ยมประชาชนจังหวัดน่าน  พร้อมรับฟังบรรยายสรุปเรื่อง   “  โครงการปลูกป่าสร้างคนบนวิถีพอเพียงรักษาต้นน้ำบรรเทาอุทกภัย จ.น่าน ” 

และช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์  ได้เน้นย้ำการทำงานของภาครัฐให้ชาวบ้านเข้าใจว่า   รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญในเรื่องที่ดินทำกิน   ซึ่งพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เองก็ทำงานหนักมาโดยตลอดอย่าไปโทษกันไปมา  เพราะเมื่อเกิดปัญหาก็ต้องทำงานช่วยกันแก้ไข รวมถึงอย่าไปโกรธเกลียดพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะท่านทำตามกฎหมาย  เช่นเดียวกับข้าราชการทุกคนต่างทำงานอย่างหนักเพื่อทำให้ประเทศดีขึ้น   

ทั้งนี้ต้องย้ำว่าเราเข้ามาไม่ใช่เพื่อหาผลประโยชน์  แต่เข้ามาเพื่อทำประโยชน์ให้ประชาชน และเราทุกคนต้องน้อมนำแนวทางพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาดำเนินการให้เป็นรูปธรรม

ประเด็นสำคัญ พล.อ.ประยุทธ์  ได้กำชับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายให้หามาตรการดูแลการบุกรุกพื้นที่ป่า      โดยระบุว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา 45% มาจากจังหวัดน่าน  ขณะที่แหล่งน้ำในจังหวัดน่านกำเนิดมาจากป่า  เพราะฉะนั้นทุกคนทั้งเจ้าหน้าที่และชาวบ้านในพื้นที่ต้องช่วยกันรักษาป่าให้ดี   โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำมาหากินในพื้นที่ผิดกฎหมาย ต้องหยุดการกระทำ เพราะจะส่งผลเสียต่อประเทศชาติในอนาคตข้างหน้า 

โดยพล.อ.ประยุทธ์  เน้นย้ำวันนี้ต้องมีมาตรการหาขอบเขตพื้นที่ป่าให้ชัดเจน  จะต้องมีการปรับพื้นที่ หรือกำหนดพื้นที่ว่าพื้นที่ไหนห้ามมีการบุกรุกอีกต่อไป  จากนั้นต้องพิจารณาต่อไปว่าจะฟื้นฟูป่าอย่างไร

โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม  ให้ประชาชนอยู่และทำมาหากิน โดยที่ป่าไม่เสื่อมโทรมไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน   ซึ่งทั้งหมดนี้มอบหมายให้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปสานต่อภารกิจและเร่งออกเป็นนโยบายของกระทรวงฯโดยเร็ว

ในช่วงท้ายของการพูดคุยกับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ พล.อ.ประยุทธ์   กล่าวว่า  การลงพื้นที่แต่ละครั้งไม่ได้มาหาเสีย ง หาผลประโยชน์ หรือต้องการอำนาจ  แต่ต้องการดูแลและสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนทั้ง 70 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแผนในการทำงาน และรัฐบาลต่อไปก็ต้องทำตามแผนดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ยังบอกเล่าความรู้สึกส่วนตัว   โดยยอมรับว่ากับการทำงานบางครั้งตนเองก็รู้สึกหนื่อย  แต่ยืนยันว่ายังทำงานไหวอยู่   ไม่เคยกลัวใคร หรือ ยอมแพ้ และขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลบิดเบือน   โดยเฉพาะข้าราชการต้องเป็นหลักในการทำงาน  หากพบว่า ที่ไหนข้าราชการมีปัญหาก็ให้ส่งหลักฐานมา  และตนจะดำเนินการตรวจสอบให้

ขณะเดียวกันก็รู้สึกชื่นใจที่ประชาชนทั่วทั้งประเทศเดินทางไปกราบถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช  นอกจากนี้ประเทศไทยก็มีในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรเสมอมา และทรงรับสั่งด้วยพระองค์เองให้นำแนวทางของพระบรมราชชนก มาดูแลประชาชน  ซี่งนี่คือพระมหากรุณาธิคุณของสถาบัน ที่จะทำให้บ้านเมืองสงบไม่ ไปสู่ความขัดแย้ง

และเพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาป่าไม้ของจังหวัดน่าน เราจะย้อนกลับไปตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดอีกครั้งว่าสาเหตุจริง ๆ ที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์แสดงความเป็นห่วงว่าถ้าป่าไม้จ.น่านยังถูกบุกรุกไม่จบไม่สิ้น จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแหล่งน้ำอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา

โดยข้อมูลเบื้องต้นมาจาการข้อสรุปสถานการณ์ของ  นายชลธิศ สุรัสวดี  อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)   เปิดเผยว่า   ขณะนี้ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 102.4 ล้านไร่    โดยรัฐบาลในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)   ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองพื้นที่ป่าอย่างเข้มข้น แสดงถึงความจริงจังในการขอคืนพื้นที่ป่า

โดยเฉพาะพื้นที่ป่าในจังหวัดน่าน  จากการสำรวจในปี 2545   พบว่าน่านมีพื้นที่ป่า 5.67 ล้านไร่ กระทั่งในปี 2557  พื้นที่ป่าลดลงเหลือ   4.65  ล้านไร่  เฉลี่ยลดลงปีละ 70,000 ไร่  แต่ภายหลังจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์  มีนโยบายเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง   ทำให้ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา  ไม่มีพื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดน่าน  ลดลงแต่อย่างใดและยังมีการปลูกฟื้นฟูป่าเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน  อธิบดีกรมป่าไม้  ยังได้อธิบายถึงลักษณะป่าไม้ในจังหวัดน่าน  ว่า  มีพื้นที่ป่าที่อยู่ในความดูแลของรัฐประมาณ 6.4 ล้านไร่   แบ่งเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบ 

 

1.       สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จำนวน 4 แสนไร่

2.       เขตอุทยานแห่งชาติ จำนวน 2.7 ล้านไร่

3.       ป่าสงวนแห่งชาติ ของกรมป่าไม้ จำนวน 3.3 ล้านไร่

โดยในจำนวนพื้นที่ป่าทั้งหมดนี้มีการแปลงสภาพไปแล้วประมาณ 1 ล้านไร่  และสภาพการบุกรุกพื้นที่ป่าน่านจนเหลือเป็นภูเขาหัวโล้นนั้น   มาจากการขยายพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านเอง กอรปกับเพราะอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เองก็มีไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมกับพื้นที่ป่าที่ต้องดูแล จึงทำให้การควบคุมพื้นที่ป่าไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร

โดยปัจจุบันกรมป่าไม้มีหน่วยป้องกันรักษาป่าเพียง 21 หน่วย  เฉลี่ย 1 หน่วยต้องดูแลพื้นที่ป่า 1.57 แสนไร่   ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาของกรมป่าไม้จึงเปลี่ยนแนวทางไปสู่วิธีอื่น ๆ  อาทิเริ่มจากการทำความเข้าใจกับประชาชน  เนื่องจากพื้นที่ป่าที่ถูกครอบครองมาเป็นระยะเวลายาวนานนั้น อาจมีเหตุผลความจำเป็นที่หลากหลาย  มีทั้งราษฎรที่ไร้ที่ทำกินและกลุ่มนายทุน การพูดคุยกับประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของกระบวนการคัดกรองคนออกจากพื้นที่ป่า และขณะนี้ได้ยึดคืนพื้นที่ป่าน่านจากกลุ่มนายทุนแล้วประมาณ 2 หมื่นไร่ โดยที่ดินที่ยึดคืนมาจะนำมาปลูกฟื้นฟูป่าต่อไป

ซึ่งเบื้องต้นกรมป่าไม้ได้วางเป้าการปลูกป่าในพื้นที่จังหวัดน่านไว้จำนวน 6,000 ไร่  และมีการเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา   โดยมีดารา-นักแสดงและประชาชนที่ให้ความสนใจร่วมกันปลูกป่าเข้ามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้  ซึ่งทางกรมป่าไม้จะเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนพันธุ์กล้าไม้ เน้นไม้ประจำถิ่น และหากประชาชนต้องการที่จะร่วมปลูกป่าสามารถเข้ามากับกรมป่าไม้ได้ตลอดเวลา 

ขณะเดียวกับปัญหาป่าไม้ของจังหวัดน่าน  ทางด้าน  นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย  ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมปลูกป่ารักษ์น่าน   ได้แสดงความเห็นว่า  

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ป่าไม้น่านโดนตัดโค่นอยู่เรื่อยๆ  ทั้ง ๆ ที่ป่าน่าน ถือเป็นต้นน้ำเจ้าพระยาเพราะกว่าร้อยละ 40 ของมวลน้ำมาจากป่าน่าน    ดังนั้นหากป่าต้นน้ำเป็นอะไรไป แม่น้ำเจ้าพระยาและแหล่งน้ำภาคกลางก็จะเกิดปัญหาตามไปด้วย  ที่สำคัญกระแสน้ำจะคุมได้ยาก  เพราะไม่มีป่าหรือต้นไม้ที่มีรากลึกมายึดดินยึดน้ำเอาไว้ ช่วงที่น้ำไม่ลงมา น้ำทะเลก็ดันขึ้นไป ถึงระดับหนึ่งดินที่ใช้ปลูกข้าวในภาคกลางก็จะใช้ไม่ได้ ถือเป็นเชิงนิเวศวิทยาที่น่ากลัวมาก

ประเด็นสำคัญและจะลืมเสียมิได้ก็คือปัญหาของจังหวัดน่านที่เป็นจุดเริ่มต้นโครงการปิดทองหลังพระ

 

โดยเมื่อปี พ.ศ. 2551 ได้เกิดอุทกภัยและดินโคลนถล่มครั้งใหญ่ ทำให้ไร่นา สัตว์เลี้ยง ของชาวบ้านในหมู่บ้านน้ำป้าก และบ้านห้วยธนู เสียหายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากป่าที่ถูกทำลายไป ทำให้ไม่มีป่าอุ้มน้ำคอยซับน้ำไว้ ทำให้น้ำไหลสู่หมู่บ้านอย่างรวดเร็ว จากเหตุการณ์ครั้งนั้นได้มี “โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” เข้ามาช่วย ทำให้จังหวัดน่านเป็นต้นแบบนำร่อง ดำเนินโครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ 3 อำเภอ ครอบคลุม 3 ตำบล ได้แก่ อำเภอสองแคว หมู่บ้านยอด อำเภอท่าวังผา บ้านน้ำป้าก และตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ

ทั้งนี้โครงการปิดทองหลังพระจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการบริหารจัดการให้เปิดการบูรณาการองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริใน 6 มิติหลัก ได้แก่ มิติเรื่องน้ำ ดิน เกษตร พลังงานทดแทน ป่า และสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาระบบความร่วมมือกับองค์กรรัฐ สถาบันวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งยึดหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 23 ข้อ มาเป็นแนวทางหลักในการดำเนินโครงการ   โดยมีเป้าหมายสูงสุดของโครงการคือ กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมพัฒนาตนเองตามแนวพระราชดำริทั่วประเทศ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา ในปี 2554 พร้อมทั้งการปลูกป่าเพื่อถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี 2555 

 

เรียบเรียงโดย : วัสดา สำนักข่าวทีนิวส์