เมื่อ "ภูมิธรรม" เปิดหน้าต้านคสช. ยิ่งตอกย้ำคนไทยต้องรู้ให้ทัน "ระบอบทักษิณ" !?!? (รายละเอียด)

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม : www.tnews.co.th

ถือเป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองครั้งสำคัญ   ของบุคคลระดับคีแมนย์พรรคเพื่อไทยอย่าง นายภูมิธรรม เวชยชัย  รักษาการเลขาธิการพรรค  และน่าจะสื่อความถึงพรรคเพื่อไทยในอนาคตต่อจากนี้ด้วย  ภายหลังออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก   แสดงความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งถูกมองว่าน่าจะเป็นมุมมองของฝ่ายค้านการทำงานรัฐบาลคสช.อย่างชัดเจน

 

ทั้งนี้สาระสำคัญ ๆ ที่ นายภูมิธรรมแสดงความเห็นในเฟสบุ๊กประกอบด้วยเนื้อหาหลัก 5 ข้อ คือ 1. การเมืองไทยในปี 2560 จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายด้าน จากผลด้านเทคโนโลยี และพื้นฐานการเมืองไทยที่นายภูมิธรรมอ้างว่าไม่ได้เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ก็จะทำให้ประเทศไทยเลี่ยงไม่พ้นการเผชิญหน้ากับสถานการณ์และระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลงไป   ซึ่งนายภูมิธรรมสรุปความว่าถึงที่สุดแล้วระบบการเมืองไทยจะก้าวไม่ทันโลก

 

โดยเฉพาะการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปีของรัฐบาลคสช.ที่นายภูมิธรรมเปรียบเทียบว่าอนาคตประเทศไทยก็จะไม่ต่างกับประเทศพม่าซึ่งเคยสะดุดขาตัวเองจากแผนกำกับทิศทางประเทศ  และกลายเป็นผลทำให้พม่าต้องวิ่งตามหลังประเทศอื่น ๆ หลายสิบปี

 

ตรงนี้สำคัญมากเพราะยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาลคสช.   หรือแม่บทหลักที่เป็นกรอบกำหนดนโยบาย และแผนต่างๆ สำหรับการพัฒนาประเทศ กำหนดทิศทาง เป้าหมาย   หรือแนวทางการพัฒนาประเทศ การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดสรรงบประมาณ การจัดสรรทรัพยากร และเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาของภาคเอกชนและภาคประชาชน”

 

 

 

โดยหลักการจะเป็นการพัฒนาประเทศอย่างครอบคลุมทุกด้าน  ทั้งความมั่นคงทางทหาร  , การเมือง , การบริหารราชการแผ่นดิน , กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม , การปกครองท้องถิ่น

 

การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ , เศรษฐกิจ ,  การเกษตร ,  การอุตสาหกรรม ,  การบริการ , การเงิน  การคลัง และงบประมาณ ,  พลังงาน ,  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , การผังเมือง ,  การสาธารณสุข , การคมนาคมและเทคโนโลยีการสื่อสาร , สังคม , ศิลปะ  ,  วัฒนธรรม , วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม   โดยจะเริ่มต้นใช้ในปี  2560 - 2579 

 

ที่สำคัญมีข้อกำหนดด้วยว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ   ต้องได้รับการผลักดันให้เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง  จึงได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน  25 คน  และมีวาระการดำรงตำแหน่ง  8 ปี   ประกอบด้วยตำแหน่งหลัก  คือ นายกรัฐมนตรี , ประธานสภาผู้แทนราษฎร , ประธานวุฒิสภา เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ร่วมกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 22 คน  

 

 

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  และหัวหน้าคสช.    เน้นย้ำว่า  ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญว่า  มีไว้เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาประเทศร่วมกันของรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชน ในแต่ละช่วงเวลา ให้สามารถขับเคลื่อนบ้านเมืองไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนที่ผ่านมา

 

พล.อ.ประยุทธ์   เน้นย้ำด้วยว่ายุทธศาสตร์ชาติเป็นเพียงกรอบกว้างๆ ที่จะทำให้ทุกคนในประเทศรู้ว่าจะเดินไปอย่างไร ไม่ใช่การบังคับว่าต้องทำอะไร เช่น ทำให้รู้ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าเป้าหมายคืออะไร ต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรทั้งการพัฒนาทักษะความรู้ เงินทุน ฯลฯ เพื่อให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 

 

ส่วนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ แต่ละฉบับที่มีระยะเวลา 5 ปี หรือนโยบายรัฐบาลที่จะถูกกำหนดขึ้นในอนาคต จะเป็นแผนปฏิบัติการในรายละเอียด ซึ่งแต่ละรัฐบาลจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และยัง ใช้เป็นตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลงานด้วยว่า เป็นไปตามกรอบแนวทางระดับชาติหรือไม่

 

ประเด็นสำคัญคือประเทศที่พัฒนาแล้วหรือแม้แต่บางประเทศในอาเซียนก็มียุทธศาสตร์ชาติ มีแผนปฏิรูป เป็นหลักนำไปใช้แก้ไขปัญหาเดิมๆ และวางแผนลดความเสี่ยงสำหรับอนาคต หากไม่เตรียมไว้ก็จะเกิดปัญหาอย่างไม่รู้จบ เพราะการพัฒนาที่ไม่เป็นระบบ ส่วนจะทำมากหรือน้อยก็เป็นเรื่องที่ทั้ง 2 สภา คือ ส.ส.และ ส.ว.ในอนาคต ต้องไปพิจารณาร่วมกันเพื่อปรับปรุงแก้ไข

 

ไม่เท่านั้นพล.อ.ประยุทธ์  ยังเน้นว่า ถ้าเป็นนักการเมืองที่มุ่งมั่นทำเพื่อบ้านเมืองจริงๆ คงไม่คิดว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นอุปสรรคการทำงาน  ขณะเดียวกันยังขอให้ประชาชนที่ต้องการเห็นประเทศชาติมีความเข้มแข็ง ทุกคนมีความสุข ได้เข้าใจตามเจตนารมณ์นี้ และร่วมมือกันกำหนดอนาคตของชาติบ้านเมือง แสวงหารัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในประเทศ และประเทศไทยกับประชาคมโลก โดยคาดว่าทุกอย่างน่าจะดีขึ้นภายใน 5 ปีนี้

 

กับหลักการกว้างของยุทธศาสตร์ 20 ปี บนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ  และมุมมองแนวคิดของพล.อ.ประยุทธ์  ถือเป็นข้อมูลที่ประชาชนคนไทยควรจะได้พิจารณาเทียบเคียงกับสิ่งที่นักการเมืองอย่างนายภูมิธรรม  แสดงความคิดเห็นนั้นควรจะเชื่อใครมากกว่ากัน

 

 

ไม่เท่านั้นนอกเหนือจากเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ควรจะเป็นทางออกประเทศไทยในการสร้างความยั่งยืนแล้ว  นายภูมิธรรมยังไปไกลถึงสภาพทางการเมืองโดยอ้างถึงกลุ่มอำนาจใหม่ที่เติบโตมาจากการทำรัฐประหาร แล้วพยายามจัดวางเครือข่ายอำนาจและกฎกติกาที่เอื้อแก่กลุ่มของตนเป็นสำคัญ โดยก้าวข้ามฝ่ายประชาสังคมและภาคประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยไปอย่างน่าเสียดาย  ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นนี้หลายคนที่ติดตามสถานการณ์การเมืองมาโดยตลอดจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี  2544  หรือในยุครัฐบาลทักษิณเป็นต้นมาเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยบ้าง โดยเฉพาะกับคำว่าระบอบทักษิณ    รัฐตำรวจ  หรือกลุ่มประชาชนที่เรียกตัวเองว่าแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช. ซึ่งเกิดขึ้นในขณะนั้นและดำเนินสถานะมาถึงทุกวันนี้ได้สร้างคุณประโยชน์อะไรให้กับประเทศบ้าง  เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงประเทศในช่วงหลังเหตุการณ์ 22 พ.ค.2557

 

 

หรือแม้แต่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองตลอดจนการปฏิรูปประเทศ  ที่นายภูมิธรรมอ้างว่าปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน คนยากจน  จะทำให้กระบวนการยอมรับและความร่วมมือจากส่วนต่างๆ ของโลกและนักลงทุนต่างประเทศไม่อาจเกิดขึ้น โดยข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ 

 

แต่ที่สำคัญที่สุดซึ่งนายภูมิธรรมอ้างว่าไม่มีใครรู้ได้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด  เพราะไม่รู้ว่ากลุ่มอำนาจดังกล่าวจะต้องการหรือปรารถนาอย่างไร  และรวมถึงรัฐธรรมนูญใหม่หรือกติกาใหม่ จะไม่ใช่ทางออกของประเทศ และเป็นปมปัญหาใหญ่ที่สำคัญของประเทศต่อไป จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่  เพราะตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาคนไทยทุกคนได้รับจากการมีนักเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยคืออะไร  ทุกอย่างมีความสมบูรณ์ในประโยชน์ของประเทศตามที่นายภูมิธรรมกล่าวอ้างหรือไม่  ทั้งหมดไปฟังแนววิเคราะห์ของคุณสนธิญาณ  ชื่นฤทัยในธรรม  ผู้อำนวยการสำนักข่าวทีนิวส์อีกครั้ง

 

ที่มา : Phumtham Wechayachai

เรียบเรียงโดย : วัสดา สำนักข่าวทีนิวส์