ไม่มีอะไรชัดเท่านี้แล้ว!"วิษณุ"ยันคำพิพากษาชี้ขายหุ้นชินไม่สุจริต-เช่นนี้ต้องเก็บภาษี ที่สำคัญคนละเรื่องกับยึดทรัพย์4.6หมื่นล้าน-อย่าหลงกล

ติดตามข่าวสารที่ www.Tnew.co.th

 

ไม่มีอะไรชัดเท่านี้อีกแล้ว!!! "วิษณุ" ยันคำพิพากษาบอกไว้ชัดซื้อขายหุ้นชินคอร์ปไม่สุจริต ต้องเรียกเก็บภาษี ที่สำคัญมันเป็นคนละเรื่องกับการยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านที่ศาลสั่ง-อย่าหลงประเด็นตามที่มีคนปั่นกระแส


วันนี้ (17 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการดำเนินการเรียกเก็บภาษีเงินได้กรณีการขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น ให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (พีทีอี) มูลค่ากว่า 16,000 ล้านบาท จากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้อื้อฉาว ที่กำลังจะหมดอายุความในวันที่ 31 มีนาคม และสังคมกำลังจับตาอยู่ว่า

นายกฯ เคยให้ข้อสังเกตในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวว่า ให้ดูว่าการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ ดำเนินการสุจริตหรือไม่นั้น และเราตั้งต้นตามข้อสังเกตของนายกฯ มาตั้งแต่แรก คือถ้าพบว่าซื้อขายอย่างสุจริตก็หยุด ไม่ต้องไปทำอะไรต่อ แต่ถ้าพบว่าไม่สุจริตจำเป็นต้องทำตามที่สังคมเรียกร้องว่า ถ้าไม่สุจริตจะปล่อยให้เขาไม่ชำระภาษีหรือ ส่วนคำตอบว่าสุจริตหรือไม่นั้น ได้คำตอบจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วว่า ไม่สุจริต จึงเป็นที่มาของการยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท ดังนั้น เมื่อมันเริ่มต้นไม่สุจริต จึงต้องเสียภาษี ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท ต้องแยกส่วนกันระหว่างการกระทำความผิดกับการเสียภาษีจึงต้องดำเนินการ ไม่อย่างนั้นจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 

ส่วนกรณีหากศาลพิพากษาให้นายทักษิณจ่ายภาษี จะไม่สามารถเรียกเก็บกับคนในครอบครัวได้ใช่หรือไม่นั้น นายวิษณุ ชี้แจงว่า เรื่องภาษีเป็นเรื่องของใครของมัน เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามีการยักย้ายถ่ายเท ทำนิติกรรมอำพรางก่อนถูกฟ้อง หรือพิสูจน์ว่าทรัพย์สินที่อยู่กับคนอื่นมันไม่ใช่ของคนอื่น เหมือนคดีล้มละลายที่คน ๆ นั้นไม่มีทรัพย์จะใช้หนี้ แต่ความจริงลูกและภรรยามี ถึงจะเป็นคนละส่วนกัน แต่หากพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินส่วนดังกล่าวเป็นของบุคคลล้มละลายที่ยักย้ายถ่ายเทจำหน่ายถ่ายโอนก่อนมีการถูกฟ้องล้มละลายภายใน 1 ปีหรือภายหลังจากนั้น เมื่อพิสูจน์ได้ก็เอาทรัพย์สินส่วนนั้นกลับมาได้ 


ส่วนคำถามที่ว่า หากทรัพย์สินของนายทักษิณอยู่ในต่างประเทศทั้งหมดจะดำเนินการอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า อาจจะยาก ดังนั้น จึงมีการพูดกันไม่นานมานี้เมื่อครั้งธนาคารโลกมาพบตน ซึ่งหารือกันในเรื่องอื่น แต่มีการแนะนำประเทศไทยว่าควรดำเนินการแก้ไขกฎหมายล้มละลายให้มีการบังคับคดีกรณีมีทรัพย์สินในต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตรวจสอบผู้ที่ถือทรัพย์สินแทนนายทักษิณมีวิธีการอยู่ แต่ยังไม่ขอเปิดเผย 

 

นายวิษณุ ยังให้รายละเอียดด้วยว่า นายทักษิณสามารถอุทธรณ์การประเมินภาษีได้ภายใน 30 วัน จากนั้นหากศาลตัดสินแล้วยังไม่พอใจ ยังสามารถอุทธรณ์ในชั้นฎีกาได้อีก โดยแม้ตัวจะอยู่ต่างประเทศ สามารถตั้งทนายเป็นตัวแทนมายื่นอุทธรณ์ได้ เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติของเมืองไทยไม่ได้ต่ำกว่ามาตรฐานไปกว่ากระบวนการยุติธรรมต่างประเทศ 

 

รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ยังยืนยันด้วยว่า ภาษีที่จะดำเนินการเรียกเก็บมาจากส่วนที่ได้จากการยึดทรัพย์ไปแล้ว 4.6 หมื่นล้านบาท หรือจากธุรกรรมที่มีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์คือ ภาษีที่ควรจะเสียถ้าต้องเสีย ถ้าคำตอบคือ ไม่ต้องเสียก็ไม่ต้องไปพูดอะไรอย่างอื่นแล้ว แต่ถามว่าควรหรือไม่ควรจะเสียก็แล้วแต่ว่าศาลจะว่าอย่างไร ในเมื่อ สตง.บอกว่าควร ตามข้อ 2 (23) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 26 ออกตามความในประมวลรัษฎากร เขาบอกไว้ว่า การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ต้องเสียภาษี แต่ตรงนี้เองที่พบว่ามีช่องทางที่จะเรียกได้ แต่เรื่องดังกล่าวให้สรรพากรไปพิจารณา เผื่อจะสามารถเรียกเก็บภาษีได้ทั้ง 2 ช่วงคือ ตอนที่แอมเพิล ริช ขายหุ้นให้กับนายพานทองแท้และน.ส.พินทองทา หุ้นละ 1 บาท กับช่วงที่ 2 คือ ตอนที่นายพานทองแท้และน.ส.พินทองทา ขายหุ้นให้กับเทมาเส็ก หุ้นละ 49 บาท อย่างที่เรารู้ ๆ กัน

 

อารมณ์ เคนหล้า สำนักข่าว Tnews