รู้แล้วสะท้าน!!"วินทร์-นักเขียนดัง"กระแทกสังคมไทย อย่างมงายแค่"เรื่องหมุด"ควรรู้...เบื้องลึกผู้ก่อการล้วน"ชิงอำนาจ"กันเอง และไม่มีใคร"จบสวย"

ติดตามข่าวสารที่ www.Tnew.co.th

 

รู้แล้วสะท้าน!! "วินทร์ เลียววาริณ" นักเขียนซีไรต์ 2 สมัย เจ้าของนวนิยายการเมือง "ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" อันลือลั่น กระแทกสังคมไทยที่กำลังมะรุมมะตุ้มเรื่อง  "หมุดคณะราษฎร" อันตรธานหายไปแบบไร้ร่องรอย และนำมาซึ่งการเคลื่อนไหว ถกเถียง และโหนเป็นกระแสของผู้คนหลายกลุ่มจนหาจุดจบแทบไม่เจออยู่ในขณะนี้

 

โดยนักเขียนดัง เผยข้อมูลเบื้องลึกระดับ "รีเสิร์ช" เพื่อค้นคว้าประวัติศาสตร์ และนำมาเขียนเป็น "นวนิยาย" กระทั่งได้ซีไรต์จากเรื่องดังกล่าว โดย "วินทร์" ระบุ ด้วยนิสัยลืมง่ายของคนไทย ไม่กี่วันเรื่องนี้ก็คงเงียบหายตามเคย แต่สิ่งที่อยู่ลึกไปกว่า การฟูมฟายที่พยายามจะตามหา "หมุด" ที่หายไปที่สังคมไทยกะพร่องกะแพร่งทางปัญญาอย่างยิ่งก็คือ น้อยคนจะทำใจเชื่อได้ว่า เบื้องลึกนั้น "ผู้ก่อการคณะราษฎร" ล้วน "แก่งแย่งเป็นใหญ่ช่วงชิงอำนาจหักหลัง" กันเองแบบคนวงนอกไม่มีทางคาดถึง โดย "วินทร์" อธิบายสิ่งเหล่านั้นด้วยคำ ๆ เดียวว่า "อำนาจ" โดยเขาระบุชัดเจนเลยว่า


"อำนาจเป็นของร้อน เมื่อได้มาก็ต้องร้อนรุ่ม ต้องแย่งกัน ต้องฆ่ากัน
เหตุการณ์การลี้ภัย เข่นฆ่ากันทางการเมือง ฆ่าเพื่อน ฆ่าพี่น้อง ฆ่าอาจารย์ ก็ล้วนเป็นผลมาจากการแย่งชิงอำนาจทั้งสิ้น"


นอกจากนี้ นักเขียนดัง...ยังกึ่ง ๆ สรุปตอนท้ายด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคณะผู้ก่อการซึ่งมีบทบาทเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นก็คือ...พบจุดจบชะตากรรมเดียวกัน (กับเจ้านายที่ถูกพวกคณะก่อการกระทำ-ผู้เรียบเรียง)


และบรรทัดต่อจากนี้ คือข้อเขียน ฉบับเต็มของ...นักเขียนซีไรต์ 2 สมัย  "วินทร์ เลียววาริณ"  (วินทร์ ระบุ หากจะเผยแพร่ต่อห้ามตัดทอน)

เรื่องหมุดคณะราษฎรหายไปอย่างมีปริศนาเป็นข่าวหน้าหนึ่งทั่วประเทศ ตามมาด้วยบทวิเคราะห์การเมืองของ 'ผู้เชี่ยวชาญ' ทางการเมืองหลายท่าน แต่ด้วยนิสัยลืมง่ายของคนไทย ฟังธงว่าอีกไม่กี่วัน เรื่องนี้ก็คงเงียบหายไปโดยไม่มีใครสนใจตามเคย

แต่ทฤษฎีหนึ่งมาแปลกกว่าชาวบ้าน มันเสนอว่าหมุดคณะราษฎรเกิดขึ้นเพื่อเป้าหมายทางไสยศาสตร์ นั่นคือมันทำหน้าที่สะกดดวงเมือง ไม่ให้อำนาจเก่ากลับมา อะไรประมาณนั้น

 

ทฤษฎีมนตร์ดำนี้ฟังสนุกกว่าบทวิเคราะห์ทั้งหลายมาก!
แน่ละ ทฤษฎีนี้ย่อมเป็นไปได้ แต่โบราณมา คนจะทำการใหญ่ก็ต้องพึ่งโหราศาสตร์ไสยศาสตร์ ผู้ก่อการ 2475 อาจเชื่อเช่นนั้นจริง แต่หากวิเคราะห์ด้วยข้อมูลแล้ว มนตร์ดำในรูปหมุดไม่น่าจะจำเป็น เพราะมันเกิดขึ้นทีหลังการก่อการ


เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 รัชกาลที่ 7 ทรงปฏิเสธทางเลือกให้สู้ และปีถัดมาเมื่อเกิดกบฏบวรเดช คณะราษฎรก็ยังคงดำรงอำนาจได้มั่นคง ไม่มีความจำเป็นต้องใช้มนตร์ดำอะไร


ตั้งแต่ 2476 ถึง 2490 อำนาจก็ยังคงเป็นของคณะราษฎร แม้ว่าภายในคณะราษฎรจะแตกร้าว จนเมื่อเกิดรัฐประหาร 2490 ก็สิ้นสุดคณะราษฎรโดยสิ้นเชิง

ดังนั้นทฤษฎีเรื่องไสยศาสตร์ ต่อให้เป็นเรื่องจริง ก็พิสูจน์ว่าไม่ได้ผล
แต่ไหนๆ เมื่อมีคนมองในมุมนี้ ก็ขอเสริมข้อมูลอีกนิดว่า หลังจากคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสำเร็จ กรมพระนครสวรรค์ฯเสด็จออกนอกประเทศ ไปประทับที่บันดุง อินโดนีเซีย ไม่ได้กลับแผ่นดินเกิดอีก รัชกาลที่ 7 ก็ทรงสละราชสมบัติไปประทับที่ประเทศอังกฤษและสวรรคตที่นั่น สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือคณะผู้ก่อการซึ่งมีบทบาทเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นก็พบชะตากรรมเดียวกัน


ปรีดี พนมยงค์ ถูกขับออกไปอยู่ฝรั่งเศสในปี 2476 แล้วกลับมา และหลังรัฐประหาร 2490 และกบฏวังหลวง 2492 ก็ลี้ภัยที่ต่างแดน ไม่ได้กลับบ้าน

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกฯคนแรก ลี้ภัยที่ปีนัง สี่ทหารเสือ พระยาพหลฯไม่ได้ลี้ภัย แต่ตายอย่างยากไร้ ไม่มีเงินค่าทำศพ พระยาฤทธิอัคเนย์ลี้ภัยที่มลายู พระยาทรงสุรเดชถูกเนรเทศไปอยู่ในกรุงพนมเปญ โดยไม่มีทรัพย์สินเงินทอง ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการทำขนมกล้วยขายและรับจ้างซ่อมจักรยาน ถึงแก่อนิจกรรมในปี 2487 ที่กรุงพนมเปญ

พระประศาสน์พิทยายุทธถูกไล่ไปเป็นอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลิน
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกรัฐประหาร 2500 ลี้ภัยที่ญี่ปุ่น ไม่ได้กลับบ้าน
ประยูร ภมรมนตรี ถูก ‘เนรเทศ’ ไปอยู่ต่างประเทศ และอีกหลายท่าน


ตอนรีเสิร์ชประวัติศาสตร์เพื่อเขียนเรื่อง ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ปีกแดง ผมก็ค่อนข้างแปลกใจเมื่อเจอข้อมูลนี้

แน่นอน ถ้าเราจะโยงข้อมูลจริงเหล่านี้กับเรื่องมนตร์ดำหรือกรรม ก็ย่อมทำได้ และมีสีสันมาก แต่ผมไม่เชื่อเช่นนี้เลย

ผมวิเคราะห์ออกด้วยคำคำเดียว - อำนาจ อำนาจเป็นของร้อน เมื่อได้มาก็ต้องร้อนรุ่ม ต้องแย่งกัน ต้องฆ่ากัน

เหตุการณ์การลี้ภัย เข่นฆ่ากันทางการเมือง ฆ่าเพื่อน ฆ่าพี่น้อง ฆ่าอาจารย์ ก็ล้วนเป็นผลมาจากการแย่งชิงอำนาจทั้งสิ้น

แต่ผมไม่ใช่คนแรกที่วิเคราะห์อย่างนี้ คนแรกที่พูดเรื่องนี้คือกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งคณะราษฎรจับเป็นตัวประกันในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ผู้ที่ไป 'จับตัว' ก็คือคนสนิท ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี แกนนำของคณะราษฎร มีบันทึกเหตุการณ์นี้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นบทสนทนาระหว่างกรมพระนครสวรรค์วรพินิตกับ ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ขอยกมาจากนวนิยาย น้ำเงินแท้ ข้อความทั้งหมดมาจากบันทึก ดังนี้ :
ทรงกริ้ว รับสั่งเสียงหนักแน่นว่า 


‘ตาประยูร แกเป็นกบฏ โทษถึงต้องประหารชีวิต’ ร.ท. ประยูรบอกว่า ‘ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นกบฏ ไม่ได้ล้มพระราชบัลลังก์ ถ้าข้าพระพุทธเจ้าทำการสำเร็จ ใต้ฝ่าพระบาทไม่มีอันตรายแต่ประการใดพ่ะย่ะค่ะ’

 


“มีรับสั่งถาม ‘พวกแกที่ยึดอำนาจนี้ต้องการอะไร? มีความประสงค์อะไร? ต้องการปาลีเมนต์ มีคอนสติติวชั่นใช่ไหม?’ ร.ท. ประยูรกราบทูลว่า ‘ใช่พ่ะย่ะค่ะ’ ทรงนิ่งชั่วครู่ แล้วรับสั่งถามว่า ‘แล้วมันจะดีกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้หรือ ตาประยูร?’ ร.ท. ประยูรกล่าวว่า ‘อารยประเทศทั่วโลกก็มีปาลีเมนต์กันทั่วไป ยกเว้นอาบิสซีเนียพ่ะย่ะค่ะ’


“ทรงถามว่า ร.ท. ประยูรอายุเท่าไร ร.ท. ประยูรกราบทูลว่า 32 ก็รับสั่งว่า ‘เด็กเมื่อวานซืนนี้เอง นี่แกรู้จักคนไทยดีแล้วหรือ แกจะต้องเจอปัญหาเรื่องคน พระราชวงศ์จักรีครองเมืองมาร้อยห้าสิบปีแล้ว รู้ดีว่าคนไทยนี่ปกครองกันได้อย่างไร อ้ายคณะของแกจะเข็นครกขึ้นเขาไหวรึ?’


“ร.ท. ประยูร กล่าวว่า ‘ก็ทรงปกครองให้ประชาชนงมงายกันตลอดมานับร้อยนับพันปี จะมาเอาดีหวังการยึดอำนาจการปกครองในวันนี้ให้ลงรูปลงรอยราบรื่นไปทีเดียวคงเป็นไปไม่ได้ คงจะต้องยึดอำนาจกันต่อไปอีกหลายยก เรื่องคอนสติติวชี่นและสภาปาลีเมนต์มันก็เริ่มกันสักวันหนึ่ง ถ้าไม่นับหนึ่งก็ไปนับสิบไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินงานวันนี้ ยังไม่มีผู้ใดเสียชีวิตพ่ะย่ะค่ะ’


“‘แกเรียนอะไรมา?’ ร.ท. ประยูรตอบว่า ‘เรียนรัฐศาสตร์จากปารีสพ่ะย่ะค่ะ’

“‘อ้อ! มีความรู้มาก แกรู้จักโรเบสเปียร์ ดันตอง เพื่อนน้ำสบถฝรั่งเศสดีแน่ ในที่สุดมันผลัดกันเอากิโยตีนเฉือนคอกันทีละคน จำได้ไหม? ฉันสงสาร ฉันเลี้ยงแกมา นี่แกเป็นกบฏ รอดจากอาญาแผ่นดิน ไม่ถูกตัดหัว แต่จะต้องถูกพวกเดียวกันฆ่าตาย แกจำไว้’...”


นี่ก็คือคำที่กรมพระนครสวรรค์วรพินิตตรัสไว้ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และก็เป็นจริงตามนั้น อำนาจไม่เคยเข้าใครออกใคร
เพราะอำนาจก็คือมนตร์ดำที่ร้ายกาจที่สุด!


ป.ล. ใครอยากส่งต่อบทความนี้ ยกเอาไปทั้งหมดนะครับ กรุณาอย่ายกแค่บางท่อนแล้วสรุปเอาเองว่าผู้เขียนเป็นกลุ่มไหน ผู้เขียนแค่เล่าประวัติศาสตร์ท่อนหนึ่งให้ฟัง อ่านด้วยวิจารณญาณเพื่อจะได้เข้าใจการเมืองไทยโดยรอบด้าน


วินทร์ เลียววาริณ

อารมณ์ เคนหล้า สำนักข่าว Tnews

ขอบคุณพิเศษข้อเขียนจาก : เฟซบุ๊ค  "วินทร์ เลียววาริณ"