ไพบูลย์ แฉ กรรมการมหาเถรสมาคมบางรูป ใช้งานพระราชพิธีเป็นเครื่องมือต่อรองกำจัดพงศ์พร (คลิป)

วันที่ 29 สิงหาคม 2560  ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รับโอน พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)  ให้เป็นผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี   หลังจากนั้น ก็มีการแต่งตั้งทางด้าน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมติตามที่ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เสนอขอรับโอนนายมานัส ทารัตน์ใจ อธิบดีกรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ให้มาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา (ผอ.พศ.) โดยได้ผ่านความเห็นชอบของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้นายมานัสจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ต.ค.2561

วันที่ 5 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายออมสิน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับโอน นายมานัส ทารัตน์ใจ จากอธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม มาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ว่า นายมานัส เป็นคนดี เป็นคนเก่ง มีความประนีประนอม และน่าจะทำงานกับคณะสงฆ์ได้ดี

วันที่  6 กันยายน 2560 ทางด้านนายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 214/2560 ให้ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) ตำแหน่งที่ 15 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้น ทางด้านนายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 215/2560 มอบหมายให้ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ รับผิดชอบการตรวจราชการในเขตตรวจราชการที่ 8 ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2560 เป็นต้นไป

ทางด้าน พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ได้ทำหนังสือในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถึงนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ยอมรับคำสั่งย้ายจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปเป็นผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า อีกประเด็นคือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) มีภาระในการร่วมจัดศาสนพิธีการถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ร่วมกับกรมการศาสนา จึงเป็นสาเหตุที่ให้นายมานัส ทารัตน์ใจ อธิบดีกรมการศาสนา มาดำรงตำแหน่ง ผอ.พศ.คนใหม่ และตั้งใจว่าจะให้รักษาการในตำแหน่งเดิมต่อไปด้วย จนกว่าจะเสร็จงานพระราชพิธี

วันที่ 7 ก.ย. ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ได้ออกความเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวนั้นมีปัญหา เพราะได้อนุมัติให้ ผอ.พศ. ไปช่วยราชการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกฯตั้งแต่ 29 ส.ค.ทั้งที่ยังไม่มีการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ซึ่งส่งผลให้ ผอ.พศ. สามารถทำงานในตำแหน่งเดิมต่อไปได้  

 

ไพบูลย์ แฉ กรรมการมหาเถรสมาคมบางรูป ใช้งานพระราชพิธีเป็นเครื่องมือต่อรองกำจัดพงศ์พร (คลิป)

วันที่ 8 ก.ย. นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ทีนิวส์ สด ลึก จริง ทางช่องไบร์ททีวี ระบุว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงในสำนักพุทธฯจากเดิมที่เป็นหน่วยงานที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันตลอดว่าไม่โปร่งใส แต่เมื่อนายพงศ์พร เข้ามาดำเนินงานโดยมีขั้นมีตอน ตรวจสอบให้โปร่งใสทำให้เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลขึ้น ซึ่งได้ตรวจสอบเรื่องพระทุจริตเงินทอนวัด เลยมีการพยายามที่จะมีการให้นายพงศ์พร ให้พ้นออกไป เพื่อที่จะได้โกงกันต่อไป ซึ่งเป็นการกลั่นแกล้งคนดี    

ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มหาเถรสมาคม วิษณุ ออมสิน กลัวอะไรหรือเปล่าถึงได้รีบย้ายนายพงศ์พร นายไพบูลย์กล่าวว่า กลัวคำขู่ของพระผู้ใหญ่บางรูปในมหาเถรสมาคมขู่ว่าจะปลุกระดมกันมาประท้วงรัฐบาล ไม่ยอมมาร่วมงานพระราชพิธี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่บังควรที่จะเอามาข่มขู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ได้ผล เพราะรัฐบาลก็เป็นห่วง กลัวจะเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งรัฐบาลพยายามที่จะแก้ไข คล้อยตามคำขู่ก็คือให้ย้ายนายพงษ์พรโดยเร็ว ซึ่งการที่พระในมหาเถรสมาคมบางรูปใช้เรื่องของการขู่มาบีบบังคับรัฐบาลซึ่งเป็นเรื่องที่สกปรกมาก ซึ่งรัฐบาลก็ไม่กล้าเปิดเผยเรื่องนี้ให้สังคมรับรู้ รายละเอียดเพิ่มเติมชมได้จากคลิป
 

 

ด้าน พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ หลังจากได้เข้ารับตำแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็ได้เดินหน้าตรวจสอบขบวนการทุจริตงบประมาณอุดหนุนวัดต่างๆอย่างต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่าสะเทือนไปทั้งบางกันเลยทีเดียว อย่างเช่น การร่วมกับทางด้าน ตำรวจปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. นำกำลังเข้าตรวจค้น 10 จุดในหลายจังหวัด เพื่อตรวจค้นบ้านพักข้าราชการระดับสูง สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และเครือข่าย เพื่อค้นหาเอกสารที่เชื่อมโยงกับการทุจริตเงินอุดหนุนงบประมาณบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด ของ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)  หลังตรวจพบว่ามีวัดที่ร่วมทุจริต 12 แห่ง สร้างความเสียหายแก่รัฐกว่า 60.5 ล้านบาท  

พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์  ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ ทางช่องสปริงนิวส์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ว่าการค้นหาเอกสารที่เชื่อมโยงกับการทุจริตเงินอุดหนุนวัด ว่ามีวิธีการโอนเงินจากส่วนกลางไปวัด จากนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องก็ไปขอคืนโดยการโอน จะตกลงกับวัดก่อนว่าต้องการเท่าไหร่ ก็จะทำเรื่องจากส่วนกลางโอนไปให้ แต่เป็นเงินที่มากกว่า และจะมีคนตามไปรับคืน หรือเรียกว่าเงินทอน ซึ่งส่วนนี้เป็นงบอุดหนุนที่จ่ายให้กับวัดใน 3 กรณี คือ
1. เพื่อไปปฏิบัติบูรณะซ่อมแซม
2. เพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม และ
3. เพื่อการเผยแผ่ ดำเนินกิจกรรมทางศาสนา

"จากที่ดูงบประมาณที่ผ่านๆ มาและที่กำลังจะขอใหม่ใน 1 ปี งบอุดหนุนทั่่วประเทศจะอยู่ที่หลักร้อยล้าน ถึง 1 พันล้าน ซึ่งอำนาจการจัดสรรงบเป็นของหัวหน้าส่วนราชการผู้ถืองบฯ แต่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)  ไม่ใช่กรม และไม่ใช่กระทรวง ดังนั้น ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จึงทำหน้าที่หัวหน้าส่วนราชการ โดยหลักการจะจัดสรรตามความจำเป็น พิจารณาจากวัดแจ้งความประสงค์มา ผ่านไปยังจังหวัดและรวบรวมมาที่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ซึ่งที่ได้ยินมาการทอนเงินจะอยู่ในอัตรา 3 ใน 4 คือ ทอน 75 % ของเงินที่ได้จ่ายออกไป อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 - 2559 ส่วนใครจะเกี่ยวข้องก็ให้พิจารณาว่าใครอยู่ในระหว่างนั้น แต่เรื่องเงินทอนคนใน สำนักพระพุทธเขารู้กันว่ามีการทำแบบนี้  ผมเพิ่งมาผมยังรู้เพราะเขาเล่าให้ฟัง"

นอกจากนั้นแล้วทางด้าน สำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 15 สำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดิน ได้ขยายผลตรวจสอบการทุจริตการเรียกรับเงินคืนจากงบประมาณอุดหนุนวัดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง หลังพบเบาะแสครั้งแรกที่ จ.สงขลาเมื่อตั้งแต่เดือน  สิงหาคม 2558 ล่าสุดผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 15 ระบุว่าผลการตรวจสอบย้อนหลังปีงบประมาณ 2557-2558 พบมีการทุจริตหลายโครงการทั้งโครงการบุรณะปฏิสังขรณ์, โครงการครอบครัวอบอุ่นด้านการปฏิบัติธรรม และงบประมาณส่งเสริมความมั่นคงสถาบันพุทธศาสนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น โดยพบเจ้าหน้าที่จากสำนักพระพุทธศาสนาฯ และผู้ร่วมกระทำผิดมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณและเรียกคืนจากวัดเป็นเงินทอนเริ่มต้นร่วม 100 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งสิ้น 218 ล้านบาท และเกิดขึ้นกับวัดมากกว่า 80 แห่งใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
จากการเดินหน้าตรวจสอบเรื่องทุจริตเงินทอนวัด จนไปสู่การนำเสนอให้มีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของวัดต่างๆ จากทางคณะกรรมการธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เรื่อง การพัฒนาระบบการบริหารทรัพย์สินของวัดให้เป็นไปตามมาตรฐานตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส และตรวจสอบได้