ย้อนรอย 11 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เหตุเพราะทักษิณใช้อำนาจโดยมิชอบ ทุจริตคอร์รัปชั่น

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 เกิดในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะ โค่นรักษาการนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) นับเป็นรัฐประหารในรอบ 15 ปี เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งที่จุดชนวนความขัดแย้งสำคัญของการเมืองไทย

ย้อนรอย 11 ปี แห่งการรัฐประหาร
เช้าวันที่ 19 กันยายน มีคำสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเตรียมเข้าประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เรียกผู้นำทุกเหล่าทัพเข้าประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดเข้าร่วม โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. อ้างว่ากระชั้นชิดเกินไป ยกเว้น พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. ทำให้มีกระแสข่าวลือการปฏิวัติรัฐประหารแพร่สะพัดไปทั่วทำเนียบรัฐบาล และกระจายสู่ภายนอกโดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เวลา 18.00 น. นายสมชาย มีเสน ผู้จัดรายการวิทยุ เอฟ.เอ็ม. 92.25 เมกกะเฮิร์ซ นัดผู้ฟังรายการจำนวนหนึ่งเข้าพบ พล.อ.สนธิ ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เพื่อขอให้ทหารให้ความคุ้มครองกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จะชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ วันพรุ่งนี้
ช่วงพลบค่ำมีข่าวว่า กำลังทหารหน่วยรบพิเศษ จากจังหวัดลพบุรี เคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพฯ ขณะเดียวกัน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ข่าวระบุว่าเป็นเรื่องการทำบุญ หม่อมหลวงบัว กิติยากร หลังจากนั้นประมาณครึ่งชั่วโมง สำนักข่าวไทยรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศเลื่อนเดินทางกลับประเทศไทยเร็วขึ้นจากวันที่ 22 กันยายน เป็นเวลา 05.00 น. ของวันที่ 21 กันยายน
ประมาณ 21.00 น. กำลังทหารจากพลร่มป่าหวาย หน่วยสงครามพิเศษลพบุรี เข้ามาประจำการที่กองบัญชาการกองทัพบก จากนั้นอีกครึ่งชั่วโมงสถานการณ์เริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ได้ยุติรายการปกติและเปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี มีข่าวลืออีกว่าทหารเข้าควบคุมตัว พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการ รมว.กลาโหม อีกกระแสข่าวบอกว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เดินทางไปประเทศอังกฤษตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน
ช่วงนั้น น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางมายังบริเวณหลังตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ไล่เลี่ยกัน พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ยุติธรรม ที่เดินทางตามเข้ามา แต่ไม่ได้ลงจากรถ ก่อนที่ น.พ.พรหมินทร์ จะหอบเอกสารปึกใหญ่ ขึ้นรถ พล.ต.อ.ชิดชัย และเคลื่อนออกไปจากทำเนียบรัฐบาลด้วยกัน กำลังคอมมานโดตำรวจกองปราบปราม เดินทางไปรักษาความปลอดภัยที่บ้านจันทร์ส่องหล้า

เวลา 22.00 น. ขบวนรถถังเคลื่อนเข้าคุมเชิงที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และถนนราชดำเนิน สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นรายงานข่าวด่วน สถานการณ์ในประเทศไทย หลังมีผู้เห็นกองกำลังทหารตามสถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ รักษาการนายกรัฐมนตรี โทรศัพท์สั่งการไปยังสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เตรียมการถ่ายทอดเสียงผ่านทางโทรศัพท์ แต่ขณะที่กำลังรอสาย ทหารเข้าควบคุมสถานีฯ ได้เสียก่อน
สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ แพร่สัญญาณเสียงของ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อเวลา 22.15 น. ออกประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง เพื่อควบคุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยสั่งให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และให้รายงานตัวต่อ พล.ต.อ.ชิดชัย รวมถึงแต่งตั้ง พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส. เป็นผู้มีอำนาจแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
ไม่กี่นาทีต่อมา ทหารจำนวนมาก ออกมาตรึงกำลังตามถนนต่าง ๆ ตั้งแต่แยกเกียกกาย ผ่านมาถึง ถ.ราชสีมา บริเวณสวนรื่นฤดี สี่แยกราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) โดยมีทหารแต่งกายลายพรางเต็มยศเป็นผู้ควบคุมกำลัง จากนั้นสัญญาณของสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ถูกตัดลง มีรายงานว่า เนื่องจากทหารตัดไฟฟ้าที่เข้าสู่สถานีฯ ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนจะตัดเข้าโฆษณา และเข้าสู่รายการปกติ โดยมีรายงานข่าวว่า กำลังทหารบุกเข้าควบคุม ที่ห้องส่งสัญญาณออกอากาศ พร้อมควบคุมตัวนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ กก.ผอ.ใหญ่ บมจ.อสมท (ภายหลังนายมิ่งขวัญชี้แจงว่า ตนไม่ได้อยู่ที่สถานีในขณะนั้น และไม่ได้ถูกจับกุม
เวลาประมาณ 22.25 น. สถานีโทรทัศน์เกือบทุกช่องตัดเข้ารายการเพลง เปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี ยกเว้นช่อง 9 และช่อง 3 ที่นำเสนอรายการปกติ โดยมีรายงานข่าวว่ามีกำลังทหารเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง โดยเฉพาะ โมเดิร์นไนน์ ทีวี และไอทีวี หลังจากนั้นสถานีโทรทัศน์ทุกช่องเริ่มเชื่อมสัญญาณกับ ททบ.5 และเปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี ยกเว้นสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอย่างเอเอสทีวี และ เนชั่นแชนนัล ทางสถานีโทรทัศน์ไททีวี ช่อง 1 ที่ยังคงรายงานสถานการณ์ได้ตามปกติ กำลังทหารส่วนหนึ่งได้เข้าควบคุมตัว พล.ต.ต.วินัย ทองสอง ผบก.กองปราบปรามและ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต (เสธ.ไอซ์) ที่ปรึกษากองทัพบก
เวลา 22.54 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ออกอากาศทางสถานีทุกช่อง ขึ้นคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมขออภัยในความไม่สะดวก และเปิดเพลง "ความฝันอันสูงสุด" ประกอบ ด้านสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นและบีบีซีเผยแพร่ข่าวรถถังและกำลังทหารควบคุมสถานการณ์ภายใน กทม. ช่วงหนึ่งได้แพร่ภาพกลุ่มชาวบ้านใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปทหารเหล่านั้น โดยไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวแต่อย่างใด มีกำลังทหารจำนวนหนึ่งพร้อมอาวุธครบมือบุกเข้ายึดอาคารชินวัตร เนื่องจากเป็นจุดสำคัญในการส่งสัญญาณสื่อสาร รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวีและบ้านจันทร์ส่องหล้า

นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศทางเอเอสทีวี ยกเลิกการชุมนุมใหญ่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 กันยายน เวลา 17.00 น. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้น และเนื่องจากอยู่ในช่วงประกาศกฎอัยการศึก
เวลา 23.15 น. พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค อดีตโฆษก ททบ.5 อ่านแถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่แสดงไว้ในหน้าจอก่อนหน้านี้ซ้ำถึงสองครั้ง จากนั้นทหารจาก ป.พัน 21 สังกัด ร.21 ประมาณ 30 นาย พร้อมอาวุธครบมือเดินทางไปยังสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล ที่อาคารเนชั่นทาวเวอร์ โดยยืนยันว่า มาดูแลความสงบเรียบร้อยทั่วไป
เวลาประมาณ 23.30 น. คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้ควบคุมตัว พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งนายดุสิต ศิริวรรณ อดีตผู้ดำเนินรายการผู้สนับสนุนคนสำคัญ มากักตัวไว้ที่ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) กองบัญชาการทหารสูงสุด[4] เกือบเที่ยงคืน ผู้บัญชาทหารทุกเหล่าทัพเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

 

สรุปเนื้อหาการชำแหละเพทุบายทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาล "ต้นเหตุรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูล วิกิพีเดีย