ศาลยกฟ้อง "แก๊ง ปชต.ใหม่" เรียกรัฐ 16 ล้าน สลายม็อบหน้าหอศิลป์ปี 58 ระบุชัด "ความเสียหายเกิดจากการขัดขืนของฝ่ายโจทก์เอง"

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

 

ศาลยกฟ้อง "แก๊ง ปชต.ใหม่" เรียกรัฐ 16 ล้าน สลายชุมนุมหน้าหอศิลป์ปี 58 ระบุชัด กิจกรรมที่โจทก์จัดขึ้นเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ แต่เมื่อมีมาตรา 44 การชุมนุมต้องได้รับอนุญาตก่อน ส่วนความเสียหายที่โจทย์ได้รับ เกิดจากการขัดขืนของฝ่ายโจทก์เอง อย่างไรก็ตาม ด้าน รังสิมันต์ โรม ระบุจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป

 

วันนี้ (30 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีที่กลุ่มนักศึกษา "ประชาธิปไตยใหม่ (NDM)" รวม 13 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , กองบัญชาการกองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 - 3 ตามลำดับ กรณีละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยเรียกค่าเสียหาย และสินไหมทดแทนจำนวน 16,468,583 บาท จากกรณีได้รับความเสียหายขณะถูกควบคุมตัวบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในการทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 หรือกว่า 2 ปีที่ผ่านมา


โดยคำฟ้องโจทก์ ระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 22-23 พ.ค. 2558 ต่อเนื่องกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบ ซึ่งสังกัดอยู่ในหน่วยงานของจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 โดยเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 เวลาประมาณ 18.00 น. ขณะโจทก์กำลังทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ศุกร์ 22 เรามาฉลองกันมะ?” ที่บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้ร่วมกันสั่งการและควบคุมกำลังเข้ามาห้ามไม่ให้โจทก์ใช้เสรีภาพในการชุมนุมจัดกิจกรรม เอารั้วเหล็กสีเหลืองมาปิดกั้นบริเวณลานหน้าหอศิลปฯ ไว้โดยรอบ ทำให้โจทก์ไม่สามารถจัดกิจกรรมในบริเวณดังกล่าวได้ จึงต้องทำกิจกรรมบริเวณด้านนอกรั้วที่ถูกกั้นไว้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ใช้กำลังประทุษร้ายต่อร่างกายและจิตใจ และควบคุมตัวโจทก์ อันถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จากนั้นควบคุมตัวโจทก์ไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน โดยไม่มีอำนาจที่จะควบคุมตัวไว้ตามกฎหมาย และไม่ใช่การควบคุมตัวไว้เพื่อสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือสอบสวนโจทก์แต่อย่างใด ควบคุมตัว กักขัง หน่วงเหนี่ยวโจทก์เป็นเวลาต่อเนื่องกันนานถึง 10 ชั่วโมง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เสรีภาพในการเดินทาง ไม่สามารถเดินทางไปไหนตามที่ใจปรารถนาได้ อีกทั้งยังทำให้ได้รับผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง และทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 13 เสียหาย ถือเป็นการร่วมกันกระทำโดยจงใจ กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ทำให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ และทรัพย์สิน

 

 

ทั้งนี้ ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กิจกรรมที่กลุ่มโจทก์จัดขึ้นถือเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 และพันธกรณีระหว่างประเทศ แต่รัฐธรรมนูญมีมาตรา 44 ซึ่งหัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งที่ 3/2558 จำกัดเสรีภาพการชุมนุมไว้ จึงไม่สามารถใช้เสรีภาพการชุมนุมได้ การที่โจทก์ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองนั้น เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าควบคุมจึงชอบด้วยตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ส่วนการควบคุมตัวโจทก์ไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันนั้น ไม่ได้มีการยึดอุปกรณ์สื่อสาร อาจารย์ของกลุ่มโจทก์สามารถเข้าพบได้ ดังนั้นการควบคุมตัวจึงชอบแล้ว สำหรับความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดขึ้นจากการขัดขืนของโจทก์เอง พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้ง 13 คน

 

อย่างไรก็ดี ด้านนายรังสิมันต์ โรม อดีตโฆษกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และเป็นหนึ่งในโจทก์ผู้ยื่นฟ้อง เปิดเผยหลังศาลพิจารณาว่า ศาลให้เหตุผลว่า การชุมนุมเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่เมื่อมีมาตรา 44 การชุมนุมต้องได้รับอนุญาตตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งพอไม่ได้รับอนุญาตก็ถือว่าผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมเราได้ และการที่เราขัดขืนเจ้าหน้าที่ก็ไม่ผิด 


"ส่วนการจับกุมไปที่สถานีตำรวจเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องไม่ได้เป็นการกักขังหน่วงเหนี่ยว ศาลจึงยกฟ้อง ซึ่งเราจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป เช่นกรณีเจ้าหน้าที่พาตัวไปยังสถานีตำรวจ คำสั่ง คสช. ก็ไม่ได้ระบุไว้ และกรณีมีการทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ไม่ใช่การจับกุมธรรมดา ถ้าเราปล่อยให้คดีจบแบบนี้ จะมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากที่จะทำอะไรโดยไม่ต้องรับผิดชอบก็ได้"  อดีตโฆษกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ระบุ