"ม.44 ปลดล็อคการเมือง"ส่อขัดแย้งในตัวเอง "คสช."อย่านิ่งนอนใจ ชี้แจงข้อเท็จจริง..หากผิดบ่อยๆอาจสั่นคลอนได้!!

"ม.44 ปลดล็อคการเมือง"ส่อขัดแย้งในตัวเอง "คสช."อย่านิ่งนอนใจ ชี้แจงข้อเท็จจริง..หากผิดบ่อยๆอาจสั่นคลอนได้!!

ยังอยู่ที่เรื่องของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่  53/2560  เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง นอกเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า โดยเฉพาะการปลดล็อคพรรคการเมืองที่จะต้องจับตาในวันที่1 เมษายน 2561 ที่จะถึงนี้

 

อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ นั่นก็คือ เนื้อหาของคำสั่งดังกล่าว มีความขัดแย้งกันในตัวเอง ระหว่าง คำสั่งในข้อ1 ที่ระบุถึงเงื่อนไขการดำรงอยู่ของสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ โดยมีนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นผู้เปิดประเด็น เมื่อวันที่23ธันวาคม 2560ที่ผ่านมา

 

 

นายนิกร  กล่าวว่า เนื้อหาที่มีการแก้ไขขาดการประสานงานพูดคุยกับนักการเมือง เพราะพบประเด็นปัญหา โดยเฉพาะประเด็นของสมาชิกพรรคการเมืองที่ต้องยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคด้วยการชำระค่าบำรุงพรรค ซึ่งตนมองว่ามีความขัดกันระหว่าง คำสั่งข้อ 1 ที่ให้แก้ไขมาตรา 140 ซึ่งกำหนดให้สมาชิกพรรคทำหนังสือยืนยันพร้อมชำระค่าบำรุงพรรคการเมือง ภายใน 30 วันนับจากวันที่ 1 เมษายน 2561 หากพ้นกำหนดดังกล่าวถือว่าพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งขัดแย้งกับส่วนที่แก้ไข มาตรา 141 (2) และ (3) ที่กำหนดจัดให้สมาชิกพรรคที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม จำนวน 500 คนชำระค่าบำรุงพรรค ภายใน 180 วัน และอีกไม่น้อยกว่า 5,000 คนภายใน 1 ปีและไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายใน 4 ปีนับจากวันที่ 1 เมษายน 2561 และหากพ้น 4 ปีสมาชิกพรรคยังไม่ชำระค่าบำรุงพรรคให้พ้นจากความเป็นสมาชิก

"ม.44 ปลดล็อคการเมือง"ส่อขัดแย้งในตัวเอง "คสช."อย่านิ่งนอนใจ ชี้แจงข้อเท็จจริง..หากผิดบ่อยๆอาจสั่นคลอนได้!!

 

นายนิกร  กล่าวต่อว่า "เหตุที่ขัดกันก็เพราะว่า ในเมื่อกฎหมายกำหนดให้ผู้ไม่ชำระค่าบำรุงพรรคต้องพ้นสภาพไปตั้งแต่ภายใน 30 วันแรกแล้วก็เท่ากับไม่มีความเป็นสมาชิกภาพเหลือ การจะกำหนดให้คงสภาพถึง 4 ปีนั้น จึงเป็นความขัดกัน ผมไม่ทราบว่า เป็นการตั้งใจหรือไม่ แต่การเขียนคำสั่งแบบนี้ โดยเฉพาะเรื่องสมาชิกพรรคการเมืองเท่ากับเป็นซ่อนรูปเพื่อจะรีเซตสมาชิกพรรคในรูปแบบหนึ่ง เพราะได้สร้างความลำบากให้พรรคการเมืองมากกว่าเนื้อหาเดิมก่อนการแก้ไข"

 

 

จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ การเขียนคำสั่งในลักษณะดังกล่าว ได้สร้างความสับสน มึนงงให้แก่ประชาชน และต่างวิพากษ์ วิจารณ์ จนเป็นที่โจษจัน ถึงความรอบคอบของฝ่ายกฏหมายและหน่วยตรวจสอบของคสช.ที่ปล่อยให้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น  โดยก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าคำสั่ง คสช.มักมีข้อผิดพลาด อาจจะทำให้ตีความหมายผิดไปจากเดิม หรือ สิ่งที่ควรจะเป็น..

 

จากการตรวจสอบเเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ประกาศ “แก้ไขข้อความคลาดเคลื่อน คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ “ ลงวันที่ 23ธันวาคม 2560

 

สํานักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ขอแก้ไขข้อความคลาดเคลื่อนในคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ ที่ 53/2560 เรื่อง การดําเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป 

เล่ม134 ตอนพิเศษ 317 ง หน้า 9 วันที่ 22 ธันวาคม 2560


ข้อความในข้อ 1 ของคําสั่งดังกล่าวในบรรทัดที่ 4 ของ (2) ของมาตรา 141 จาก “...พร้อมด้วยหลักฐานแสดงการชําระ ค่าบํารุงพรรคการเมืองสําหรับปีที่พระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับภายในสิบห้าวัน...” เป็น “...พร้อมด้วย หลักฐานแสดงการชําระค่าบํารุงพรรคการเมืองภายในสิบห้าวัน...” 

ทั้งนี้การออกมาแก้ไขคำสั่งของหัวหน้าคสช. ในลักษณะดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกจากการตรวจสอบย้อนหลังเคยเกิดขึ้นมาแล้ว!!  ยกตัวอย่าง เช่น

 

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2558  ลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2558

เรื่องแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558

ตามที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เม.ย.2558 นั้น

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หัวหน้า คสช.โดยความเห็นชอบของ คสช. จึงมีคำสั่งให้ต่อไปนี้

ข้อ 1 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิกข้อความในข้อ 2 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เม.ย.2558 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 2 ในคำสั่งนี้

“เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” หมายความว่า ข้าราชการทหาร ซึ่งมียศตั้งแต่กว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี ขึ้นไป ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติ การตามคำสั่งนี้

“ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” หมายความว่า ข้าราชการทหาร ซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี ลงมานั้น และ หมายความรวมไปถึงทหารประจำการ ทหารกองประจำการ และอาสาสมัครทหารพราน ซึ่งหัวหน้า คสช.หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช.แต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคำสั่งนี้

 

 

ซึ่งการแก้ไข ได้เพิ่มเติม ประโยค “..หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติ..” และ ประโยค “..และ หมายความรวมไปถึงทหารประจำการ ทหารกองประจำการ และอาสาสมัครทหารพราน..”

 

 

อย่างไรก็ตามการตั้งข้อสังเกตของนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา จะถูกหรือไม่นั้น คสช.ไม่ควรนิ่งนอนใจ ต้องมาชี้แจ้งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น  ให้ประชาชน นักการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมือง เข้าใจในทิศทางเดียวกัน เพราะหากปล่อยไว้แบบนี้  แน่นอนว่า จะส่งผลกระทบต่อความหน้าเชื่อถือ ของคสช. และที่รับผลกระทบไปเต็มๆ ก็คงหนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาต” หรือ คสช.!!!!!