ยังไม่เข็ด?! "สมศักดิ์" ชู นโยบายอื้อฉาวในอดีตอีกรอบ วัวรัฐฯ ชาวบ้านยืมเลี้ยง อ้างแก้จน-ส่วนเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียงอ่อย (รายละเอียด)

ยังไม่เข็ด?! "สมศักดิ์" ชู นโยบายอื้อฉาวในอดีตอีกรอบ วัวรัฐฯ ชาวบ้านยืมเลี้ยง อ้างแก้จน-ส่วนเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียงอ่อย (รายละเอียด)

    วันนี้ (24 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงาน การลงพื้นที่ประชุม ครม. สัญจรอย่างเป็นทางการที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะที่ จ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย ระหว่างวันที่ 25-26 ธ.ค.นี้ โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรียุคไทยรักไทยหลายสมัย เปิดเผนต่อกรณีนี้ว่า หากมีโอกาสเสนอนายกฯ ตนจะเสนอปัญหา 2 ประเด็น คือเรื่องน้ำท่วม และปัญหาการทำมาหากิน ที่ทำให้รายได้ของประชาชนสุโขทัย ซึ่งอยู่ในระดับต่ำระดับที่ 16 จาก 17 จังหวัดภาคเหนือ รายได้ต่อหัวต่อคนอยู่ที่ 59,900 บาท และเป็นที่ต่ำสุดของภาคเหนือตอนล่าง 
    โดยนายสมศักดิ์ ระบุว่า เมื่อมาวิเคราะห์ปัญหา พบว่าเกิดจากปัญหาน้ำท่วมซึ่งทำให้เกษตรกรทำการเกษตรได้เพียงละครั้งต่อปี และตนเห็นว่า ต้องเร่งแก้ปัญหาให้ได้ อาจโดยการสร้างเขื่อน สร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่ยังคิดว่าการรอเขื่อนใหญ่อาจสำเร็จยากจากการคัดค้าน จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการทำบายพาสน้ำ ซึ่งจะทำให้ไหลผ่านไปได้จำนวนไม่มาก ทั้งด้านซ้ายและขวาของแม่น้ำยม เส้นทางน้ำของสุโขทัยนอกจากแม่น้ำยมจากจังหวัดแพร่แล้ว อีกส่วนของเส้นทางน้ำคือมาจากแม่น้ำปิง ทาง จ.กำแพงเพชร ซึ่งทุกจุดอาจทำเป็นแก้มลิงเพื่อใช้ชะลอน้ำ และเป็นแหล่งน้ำจืด ได้เช่นเดียวกับแก้มลิงทะเลหลวง ซึ่งเป็นการเก็บน้ำบายพาส เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรของ จ.สุโขทัย 
 

   "อีกอย่างที่สุโขทัยมีแหล่งต้นทุนอยู่สูง คืออุทยานประวัติศาสตร์ทั้งสองแห่ง ดังนั้น ต้องเสริมรายได้จากการท่องเที่ยว คงต้องมีการระดมสมองในการทำการสำรวจ พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อเพิ่ม GDP ของประชาชน และลดหย่อนในบางส่วนของภาษีเพื่อเป็นแรงดึงดูดใจ" นายสมศักดิ์กล่าว 
    ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ ยังเผยว่า จะเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมการเลี้ยงวัว โดยให้เกษตรกรเสริมอาชีพการทำปศุสัตว์ เลี้ยงวัวด้วยการยืมวัวจากรัฐบาล ระยะเวลา 10 ปี จะกลายเป็นฝูงวัวในสิบปี จะทำให้รายได้ประชากรสูงขึ้น เพราะหากชาวบ้านขายวัวได้ตัวละ 30,000 จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 15,000 หากรวมรายได้จาก GDP จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 15000 บาท ต่อคน และ เชื่อว่าจะอยู่ในแผนของคณะรัฐมนตรีที่สัญจรมาประชุมที่จังหวัดสุโขทัยในครั้งนี้ และท้ายที่สุดอยากให้การปรองดองเป็นผลสำเร็จ เพื่อการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวกรณีนี้ว่า โอกาสดีๆ ของจังหวัดสุโขทัย ผมทราบว่าคณะรัฐมนตรีจะมาประชุมที่จังหวัดสุโขทัยในช่วงปลายปี 2560 นี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีมากๆ ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยจะได้นำเสนอของบประมาณเพื่อพัฒนาจังหวัดสุโขทัยของเรา ในส่วนของท้องถิ่น ท้องที่ก็จะได้มีโอกาสนำเสนอปัญหา และรายงานการแก้ปัญหาต่างๆ ของประชาชนจังหวัดสุโขทัย โดยการนำของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย งานนี้หากว่าจังหวัดสุโขทัยได้งบประมาณน้อยกว่า 5,000,000,000 บาท ถือว่าขาดทุน

   รวมทั้งมีข้อความส่วนหนึ่งที่ระบุว่า  "การแก้ปัญหาความยากจนของราษฎร ซึ่งการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนนั้นเป็นโครงการที่ผมพูดอยู่ตลอดเวลา คือ การนำวัวให้ราษฎรไปเลี้ยง ในหลักการให้ขอยืมวัว โดยคิดตามจำนวนน้ำหนักเป็นกิโลกรัม ไม่ใช่ขอยืมเป็นเงิน เมื่อยืมไปแล้วครบ 10 ปี หรือในระยะเวลา 10 ปี หากราษฎรที่ยืมไปมีความพร้อมที่จะนำกลับมาคืน ก็ให้นำมาคืนตามจำนวนน้ำหนักเป็นกิโลกรัมจากจำนวนที่ยืมไป หลักการง่ายๆ ส่วนในรายละเอียดนั้นคงต้องพูดคุยกันให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง"
    ทั้งนี้ โครงการวัวล้านตัวไทยรักไทย ริเริ่มในปี 2547 โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีเงื่อนไขแจกครัวเรือนละ 2-3 ตัว ชาวบ้านเลี้ยง 4 ปี ขายได้กำไร ต่อมานโยบายนี้ได้ถูกนำไปใช้หาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2548 โดยมีเงื่อนไขแจกโค 5 ล้านตัว 1 ล้านครอบครัว ให้ทุกครัวเรือนที่ยากจน
และปรับเปลี่ยนอีกครั้ง ในสมัยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ภายใต้เงื่อนไข โค 1 ล้านตัว 1 ล้านครอบครัว เลี้ยง 1 ปี ขายให้บริษัทเอกชน แต่ในที่สุดรัฐบาลก็ไม่สามารถเดินหน้าโครงการนี้ได้ ยกเว้นจะได้แปรสภาพเกษตรกรเป็นทาสผู้รับจ้างเลี้ยงวัวให้กับฟาร์มของเอกชน