ขว้างงูไม่พ้นคอ!! "เพื่อไทย" หยิบค่าปรับปมปิดเหมืองทอง 3 หมื่นล้าน หวังเขย่า "คสช." แต่ลืมเหมืองเปิดยุคทักษิณ 1 โดยเป็นมรดกบาปจนวันนี้

ขว้างงูไม่พ้นคอ!! "เพื่อไทย" หยิบค่าปรับปมปิดเหมืองทอง 3 หมื่นล้าน หวังเขย่า "คสช." แต่ลืมเหมืองเปิดยุคทักษิณ 1 โดยเป็นมรดกบาปจนวันนี้

ดูเหมือนคำสั่งยกเลิกสัมปทานเหมืองแร่ทองคำเมื่อ 1 ปีก่อน จะกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง หลัง "นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด" รักษาการรองโฆษก พรรคเพื่อไทย ออกมาโหนเรื่องนี้ แล้วยิงคำถามตรงๆ ว่า "บิ๊กตู่" จะทำอย่างไร หากเรื่องนี้ไปยุติในรัฐบาลหน้า ที่ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่อยู่แล้ว ตัวบิ๊กตู่จะรับผิดชอบอย่างไร จะจ่ายเองหรือไม่...นั่นไม่อาจตีความเป็นอื่น...ว่าไม่ใช่เรื่องที่หวังผลทางการเมือง...เพราะที่ผ่านมา...เหมืองทองแห่งนี้ถูกชาวบ้านร้องเรียนมาโดยตลอด...กระทั่งบางสำนวนอยู่ในชั้น ป.ป.ช.....แต่แปลกรัฐบาล "ประชาธิปไตย-ที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง" กลับไม่ดูดำดูดีเรื่องนี้...ลอยแพชาวบ้าน...ทั้งที่จุดเริ่มต้นของเหมืองตนเองก็มีส่วนอยู่มาก จนมาถึงรัฐบาลเผด็จการทหาร (ตามที่เขามักเหน็บแนม) กลับมองเห็นทุกข์ภัยของชาวบ้าน...แล้วสั่งยกเลิกชั่วคราวไปก่อน...กระทั่งเกิดข้อพิพาทและทำให้เขาหยิบมาโจมตีในวันนี้... 

 

นับว่ากลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมในทันที เมื่อมีกระแสข่าวว่า  บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่มีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด สัญชาติออสเตรเลีย เป็นบริษัทแม่ ยื่นให้ประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายทางธุรกิจเป็นมูลค่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราวๆ 30,000 ล้านบาทหลังรัฐบาล คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองคำ ที่ จ.พิจิตร ไปเมื่อปลายปี 2559 เนื่องจากปัญหาที่มีกันมาอย่างยาวนาน ในกรณีที่ชาวบ้านในพื้นที่ทำเหมือง จ.พิจิตร รวมตัวกันเข้าร้องเรียนหน่วยงานราชการ เพื่อขอความช่วยเหลือหลังจากชาวบ้านได้รับผลกระทบจากสารโลหะหนักที่พวกเขาเชื่อว่า เกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำ โดยจากการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญการจัดการทรัพยากรน้ำ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ตรวจพบสารปรอทและตะกั่วเกินมาตรฐานในน้ำบริเวณการทำเหมืองทอง และสารไซยาไนด์สูงในแปลงข้าวใกล้บ่อกักเก็บกากแร่ นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนแมงกานีส สารหนู และแคดเมียมในพื้นที่บางแห่งอีกด้วย


 ซึ่งทาง บมจ.อัคราฯ เองก็เข้าใจถึงเหตุผลของมติ ครม.ที่เป็นไปเพื่อลดความขัดแย้งด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่ก็ยังอ้างว่า ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าผลกระทบต่างๆ มาจากการดำเนินงานของเหมืองแร่ทองคำชาตรี ดังนั้น ทางบริษัทจึงวิงวอนให้ภาครัฐเห็นใจผู้ประกอบการที่ดำเนินงานตามกฎหมาย โดยอ้างว่า ถ้าตรวจสอบออกมาว่า "เหมืองเป็นสาเหตุจริงก็พร้อมที่จะยอมรับ"

อย่างไรก็ดี ผ่านมาเกือบ 1 ปี ประเด็นการปิดเหมืองกลับมาร้อนระอุอีกครั้ง เมื่อ "นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด" รักษาการรองโฆษก พรรคเพื่อไทย ออกมาโหนเรื่องนี้ โดยอ้าง FTA คุ้มครองการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากประเทศที่ไปลงทุนได้ โดยโจมตีตรง ๆ ไปที่ คำสั่ง ม. 44 ของบิ๊กตู่ที่สั่งปิดเหมืองดังกล่าว โดยเขาอ้างว่า ม.44 ไม่มีอำนาจครอบคลุมไปถึงกรณีนี้ (หมายถึงกรณีนักลงทุนต่างชาติ) พร้อมยิงคำถามตรงไปถึง "บิ๊กตู่" ว่า ถ้าเรื่องนี้ไปยุติในรัฐบาลหน้า ที่ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่อยู่แล้ว ตัวบิ๊กตู่จะรับผิดชอบอย่างไร จะจ่ายเองหรือไม่


คำกล่าวอ้างของอนุสรณ์...ต่อให้ไม่หลักแหลมยังมองออกว่า...แฝงฝังยัยยะทางการเมืองอย่างไม่ต้องตีความ ทั้งยังลืมไปว่า...สิ่งที่ตนเองพูดไปนั้น...อาจเป็นการ "ขว้างงูไม่พ้นคอ" กล่าวคือ...เหมืองทองคำที่เขาหยิบมาเขย่ารัฐบาล คสช. เวลานี้นั้น...ล้วนเป็นมรดกบาปที่รัฐบาลเลือกตั้ง ยุคไทยรักไทยทิ้งไว้ทั้งสิ้น ทั้งยังพบว่ามี รัฐมนตรีที่เกี่ยวพันกับ "เครือข่ายทักษิณ" ทั้งนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย เข้าไปเกี่ยวข้องเกี่ยวกับประทานบัตรในการทำเหมือง และอยู่ในสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ต่อกรณีนี้แล้วเช่นกัน

 

เพราะตามข้อมูลระบุชัดว่า บริษัท อัครา ไมนิ่งฯ เริ่มเปิดทำเหมืองในปี 2544  ส่วนบริษัททุ่งคำฯ เปิดเหมืองในปี 2549 ซึ่งก็คือยุคที่ "พรรคไทยรักไทยของทักษิณ" นั่นเอง จากนั้นปัญหาที่ตามมากก็คือ มีความพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ชาวบ้านขายที่ดินให้กับเหมืองในราคาถูก แน่นอนเรื่องนี้ก่อให้เกิดความแยกแยกระดับชุมชนทันที เพราะบางพวกต้องการขาย-บางพวกไม่ต้องการขาย


 

   

ขณะที่ ปัญหาสิ่งแวดล้อม เริ่มจากฝุ่นละออง เสียง และแรงสั่นสะเทือน ที่เกิดจากการระเบิดเหมืองตลอดเวลาทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนในการเปิดหน้าดินก็ส่งผลต่อชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตัวเหมืองอยู่ใกล้กับชุมชน ในระยะใกล้ที่สุดเพียง 500 เมตร ภูเขา ป่าไม้ แหล่งน้ำตามธรรมชาติถูกทำลาย และเริ่มปนเปื้อนโลหะหนักจากการทำเหมือง ขณะที่วิถีชีวิตของชาวบ้านรอบเหมืองเริ่มเปลี่ยน ข้าวปลาอาหาร น้ำอุปโภค-บริโภค-น้ำในการเกษตรเหือดแห้ง และไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไป ชาวบ้านต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ และเริ่มเจ็บป่วยด้วยอาการแพ้ มีผื่นคันเป็นตุ่มหนองตามผิวหนัง

 

โดยผลกระทบที่เป็นรูปธรรมอีกกรณีหนึ่งคือ การเสียชีวิตของนายเฉื่อย บุญส่ง อายุ 70 ปี  หนึ่งในชาวบ้านผู้อาศัยอยู่รอบพื้นที่เหมืองใน จ.พิจิตร ซึ่งเสียชีวิตหลังล้มเจ็บป่วยตั้งแต่ปี  2557  โดยผลการตรวจเลือดจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรังสิตระบุว่า มีค่าสารแมงกานีสูงเกิดมาตรฐาน  จนร่างกายอ่อนแรงไม่สามารถเดินได้เหมือนปกติ และเสียชีวิตลงอย่างสงบภายในบ้านพัก ต.ท้ายแดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์  เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2559 หรือกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ชาวบ้านใน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ ซึ่งอาศัยอยู่ข้างเหมืองทอง ก็เริ่มร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ ทั้งกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร คณะผู้เชี่ยวชาญด้านการอุตสาหกรรมโรงงานและสิ่งแวดล้อม เพราะทนรับผลกระทบจากเหมืองไม่ไหว

 

...นั่นเองเป็นเหตุให้ ครม. ยุค พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้ามาบริหารประเทศต่อ ตัดสินใจให้ยุติการสัมปทานเหมืองแร่ทองคำในปลายปี 2559 ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ปัจจัยหลักล้วนมาจากการร้องเรียนของชาวบ้านในพื้นที่ จ.พิจิตร , พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเหมือง ซึ่งเข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นข่าวครึกโครมเวลานั้น จากผลกระทบการอนุมัติสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ  ที่ทำให้ประชาชนโดยรอบเหมืองแร่ถึงขั้นล้มเจ็บ เสียชีวิต จากการปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำ และนาข้าว  โดยเฉพาะในช่วงปี 2553  ที่สารพิษเริ่มส่งผลกระทบต่อในระดับเป็นรูปธรรม

 

เหนืออื่นใดก็คือ มีการร้องเรียนด้วยว่า การเปิดเหมืองทองคำดังกล่าวอาจเกี่ยวพันกับการทุจริตอนุมัติสัมปทานให้ขุดเหมืองทองคำโดยมิชอบ และมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีทุจริตในการทำเหมืองแร่ทองคำบริเวณพื้นที่ จ.พิจิตร พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ ที่มี "นายวิชา มหาคุณ" กรรมการ ป.ป.ช. ในขณะนั้นเป็นประธาน.


"มีพยานหลักฐานเบื้องต้นว่า คณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนของออสเตรเลีย (ASIC) พบบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศออสเตรเลีย และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริต โดยมีการโอนเงินจากออสเตรเลียมายังไทย ที่อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำและมีการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในประเทศไทย" รายงานข่าวจาก ป.ป.ช. ระบุ ขณะ อ.วิชาก็ย้ำว่า ป.ป.ช.ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทอง จึงเข้าไปตรวจสอบและพบข้อมูลจาก ก.ล.ต.ออสเตรเลีย ว่า มีการร้องเรียนกรณีการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐไทยในการเปิดเหมืองทอง

 

   

คำกล่าวของ อ.วิชา สอดคล้องกับสิ่งที่ นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ออกมาให้ความเห็น หลังรู้ว่า บริษัท อัคราฯ จะยื่นต่ออนุญาโตตุลาการ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการปิดเหมืองต่อรัฐบาล โดยชัยณรงค์ ระบุทำนอง  ป.ป.ช. ต้องเร่งตรวจสอบเส้นทางการโอนเงินจากต่างประเทศที่เอื้อต่อประโยชน์ให้กลุ่มบริษัท คิงส์เกตฯ ได้ประโยชน์ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ และหาก ป.ป.ช.สามารถตรวจสอบได้จริง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในการเจรจาในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ รวมทั้งเรื่องปมปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะด้วยเช่นกัน 

 

โดยรายละเอียดที่ชัยณรงค์ กล่าวไว้คือ ท่าทีของ กพร.เป็นสิ่งที่ดีที่ยืนยันที่จะรักษาผลประโยชน์ของประชาชน หลังจากบริษัท อัครายื่นอนุญาโตตุลาการ แต่ขณะนี้ในแง่ของชุมชนภายหลัง คสช.มีคำสั่งปิดเหมืองทอง สิ่งสำคัญคือยังไม่มีการฟื้นฟู เยียวยาชาวบ้านในพื้นที่อย่างจริงจังจากหน่วยงานรัฐเลย รวมทั้งยังมีเรื่องของรายงานต่างๆ ที่ยังไม่มีข้อสรุปการศึกษาจากคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่แต่งตั้งขึ้นมาเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อให้สังคมร่วมกันตรวจสอบด้วย

 

"ขณะเดียวกัน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องเร่งตรวจสอบเส้นทางการโอนเงินจากต่างประเทศที่เอื้อต่อประโยชน์ให้กลุ่มบริษัท คิงส์เกตฯ ได้ประโยชน์ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ ซึ่งเรื่องนี้หาก ป.ป.ช.สามารถตรวจสอบ หรือมีข้อมูลที่ชัดเจนจะนำมาเป็นข้อมูลที่สำคัญที่มีประโยชน์ต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในการเจรจาในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ รวมทั้งเรื่องปมปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะด้วยเช่นกัน เชื่อว่าหากมีข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลเป็นอย่างมากในการต่อสู้" นายไชยณรงค์ ระบุ

 

สิ่งที่นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง "ชัยญรงค์" ระบุก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า สิ่งที่ กพร. (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ทำเป็นสิ่งที่ดีที่ยืนยันที่จะรักษาผลประโยชน์ของประชาชน แต่น่าเสียดายการฟื้นฟู เยียวยาชาวบ้านในพื้นที่อย่างจริงจังจากหน่วยงานรัฐกลับยังไม่เกิดขึ้นมากนัก

 

อย่างไรก็ตาม มหากาพย์เรื่องการปิดเหมืองทอง ดูจะยังไม่จบง่าย ๆ เพราะแม้ บริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด เจ้าของเหมืองแร่ทองคำชาตรีในนาม บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จะตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาข้อพิพาทกับรัฐบาลไทย ด้วยการขอตั้ง “คณะอนุญาโตตุลาการ” และมั่นใจว่าตนเองได้เปรียบอยู่เต็มประตู เพราะอ้างว่า ประทานบัตรของบริษัทอัคราฯ มีอายุจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 และเดือนกรกฎาคม 2571 หรืออีก 11 ปี ทั้งยังเห็นว่าบริษัทฯ ไม่ได้กระทำผิดตามเงื่อนไขการได้ประทานบัตร โดยอ้างว่าเพราะยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่า โลหะหนักและสารหนูที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่นั้นมาจากการทำเหมืองของเขา แต่ดูเหมือนฝั่งรัฐบาลไทยเองก็มั่นใจในการพิพาทเรื่องนี้เช่นกัน

 

เพราะล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้ยังไม่ไปถึงขั้นที่เป็นข่าว เพราะล่าสุด ข้อเรียกจากบริษัทคิงส์เกต เป็นเงินเท่าไรก็ไม่มี เมื่อหลายเดือนที่แล้ว เขาอาจจะเคยพูดเองว่า วงเงินฟ้องร้องเท่าไร และยังไม่มีใครเคยตัดสิน เมื่อมีข้อพิพาทกันต้องส่งให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้พิจารณา กระบวนการยังยาวอีกหลายอีก ขณะนี้ ทราบจากกระทรวงอุตสาหกรรมว่า เราจะดำเนินการสองทางควบคู่กันไป ทางที่หนึ่งคือ เตรียมเรื่องสู้ในชั้นคณะอนุญาโตตุลาการ และอีกทางหนึ่งคือ การเจรจาระหว่างกัน

 

"โดยในหนังสือฉบับสุดท้ายที่บริษัทคิงส์เกตส่งมายังรัฐบาลได้ระบุว่ามีความจำเป็นต้องส่งเรื่องไปยังคณะอนุญาโตตุลาการ แต่ยังไม่ระบุค่าเสียหาย และไม่ขัดข้องหากมีการเจรจาคู่ขนาดกันไป เรื่องนี้ถ้าไปถึงคณะอนุญาโตตุลาการ เขาอาจจะถามว่าจะสามารถเจรจากันได้หรือไม่ แต่ในการเจรจาเราต้องยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง" รองนายกฯ ให้ความเห็นทิ้งท้าย

 

นอกจากนี้ "นายพสุ โลหารชุน" ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยังเคยออกมาชี้แจงก่อนหน้าว่า การที่บริษัท คิงส์เกต ยื่นให้ประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศว่า สืบเนื่องจากประชาชนมีการร้องเรียนและคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำมาเป็นเวลานานว่า อาจทำให้สิ่งแวดล้อมปนเปื้อน เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และอาจส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยชุมชนในระยะยาว หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงมีคำสั่งที่ 72/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ให้ระงับการอนุญาตและการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว

 

และกระทรวงอุตสาหกรรมขอยืนยันว่า ได้ดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาอย่างเคร่งครัด ตามกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการแร่ทองคำใหม่ และพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่ มุ่งหวังให้การทำเหมืองแร่ชนิดต่าง ๆ รวมทั้งเหมืองแร่ทองคำ สนองตอบแนวนโยบายของรัฐในอันที่จะสร้างสมดุลแห่งประโยชน์อันเกิดจากการทำเหมืองทั้งด้านสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้คุ้มค่า และกระจายผลประโยชน์จากการขุดค้นทรัพยากรของชาติให้เป็นธรรม เกื้อหนุนการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งกรอบนโยบายบริหารจัดการแร่ทองคำใหม่และพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่นี้ จะทำให้การบริหารจัดการ และการกำกับดูแลการดำเนินกิจการเกี่ยวกับแร่ทองคำและแร่อื่น ๆ ของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และรัดกุมมากขึ้นกว่าในอดีต

 

อย่างที่กล่าวแต่ต้นจากข้อมูล เรื่องนี้คงเป็นมหากาพย์การพิพาทอีกพักใหญ่ เพราะรัฐบาลไทยก็มั่นใจในหลักฐานของตน...ขณะที่หากมองกลับไปที่ต้นเรื่องที่ "นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด" รักษาการรองโฆษก พรรคเพื่อไทย หยิบเรื่องนี้มาพูด เพื่อหวังเขย่า คสช....ว่าไปแล้ว...ก็แทบไม่ต่างอะไรกับการ "ขว้างงูไม่พ้นคอ" เลยสักนิด