รองนายกฯ วิษณุ แจง !!  คลัง- กรมบังคับคดีลุยยึดทรัพย์”ยิ่งลักษณ์”ได้เลย

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.deepsnews.com

น่าสนใจอย่างยิ่ง กับคำอธิบายของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กุนซือด้านกฎหมายของรัฐบาล- คสช. เกี่ยวกับการนำสืบทรัพย์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายหลังศาลปกครองยกคำร้องของทุเลาคำสั่งยึดทรัพย์ ในคดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวว่า หลังจากศาลปกครองยกคำร้องดังกล่าวแล้ว กระทรวงการคลังที่เป็นผู้ชี้ทรัพย์ และกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรมที่เป็นผู้มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์ สามารถดำเนินการต่อไปได้   

โดยกระบวนการยึดทรัพย์นั้น เจ้าหนี้ต้องเป็นผู้นำยึด แต่หากไม่สามารถนำยึดได้เพราะยังหาไม่เจอ ก็ยังมีระยะเวลาตามอายุความ 10 ปีที่ให้สามารถดำเนินการติดตามยึดทรัพย์ จนกว่าผู้ถูกยึดจะไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอทุเลาคำสั่งยึดทรัพย์อีกครั้ง ทั้งนี้การยื่นคำร้องของทุเลาสามารถไปทำได้เรื่อยๆ

ส่วนที่มีการระบุในคำสั่งศาลปกครองระบุตอนหนึ่งว่าเป็นเพราะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน คิดว่าหน่วยงานใดจะต้องมีหน้าที่ติดตามทรัพย์สินที่ถูกยักย้ายถ่ายเท นายวิษณุ กล่าวว่า เจ้าหนี้ที่เป็นผู้นำยึดทรัพย์ต้องไปติดตามแล้วแจ้งเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีให้ไปจัดการ โดยหลังจากที่ศาลปกครองยกคำร้องแล้ว ในส่วนของตนจะไม่มีการเรียกหน่วยงานมาหารือ เพราะหน่วยงานเหล่านั้นทำหน้าที่ตามปกติและมีวิธีปฏิบัติอยู่แล้ว รวมถึงอายัดทรัพย์ไปพอสมควรเท่าที่ทำได้มาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งตรงนี้เป็นจำนวนที่ยังไม่มากเท่ากับจำนวนที่พึงยึด ทั้งนี้ กรณีของทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้จะถูกส่งเข้าคลังได้ต่อเมื่อแน่ใจแล้วว่าไม่มีปัญหาอะไรซึ่งหมายความว่าไม่มีคดี หรือจบเรื่องแล้ว โดยการอายัดทรัพย์เปลี่ยนเป็นการยึดทรัพย์ได้ตลอด ผลเหมือนกัน
 

ส่วนถ้ามีการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอทุเลาคำสั่งยึดทรัพย์เป็นระยะ ก็อาจทำให้เรื่องไม่จบหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องดูเป็นรายทรัพย์ เพราะเวลาที่มีการยื่นร้องศาลปกครอง ก็ต้องดูว่าร้องขออะไร ถ้าขอให้ทุเลาคำสั่ง แสดงว่าเป็นเรื่องสำหรับอนาคต แต่ถ้าร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ถูกอายัดหรือยึดไปเมื่อครั้งที่แล้ว เนื่องจากถูกอายัดหรือยึดไปไม่ถูกต้อง ก็ต้องพิจารณากันว่าจะทำอย่างไร เพราะบางครั้งไปอายัดหรือยึดทรัพย์ที่เป็นทรัพย์สินรวม อาทิ เป็นทรัพย์สินของสามีภรรยา หรือของพี่น้อง หรือเป็นทรัพย์ที่ใช้ชื่อหลายคน ทำให้ไม่ได้มีแค่ลูกหนี้ แต่มีคนอื่นเข้ามาปะปนได้รับผลกระทบด้วย ดังนั้นศาลฯต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆไป ของอย่างนี้อย่าไปตั้งเป็นหลักใช้สำหรับทุกกรณีทั้งหมด