อย่าโวยวาย-คว่ำว่าที่ 7กกต.ไม่สะเทือนโรดแม็ป? เบื้องลึกมติคว่ำว่าที่ 7เสือ กกต.เพื่อสรรหาใหม่-มีหลายปม ขณะผู้รู้ฟันธงยังไงไม่กระทบเลือกตั้ง

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

 


วานนี้มีข่าวใหญ่ทางการเมืองอยู่ชิ้นหนึ่ง นั่นคือ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีประมติไม่เห็นชอบ 7 รายชื่อ  อันประกอบไปด้วย

1. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์

2. ศาสตราจารย์ ดร.เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ

3. นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ

4. รองศาสตราจารย์ ดร.อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์

5. นายประชา เตรัตน์

6. นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี

และ 7. นายปกรณ์ มหรรณพ

 

ซึ่งทั้งหมดเป็นบุคคลที่คณะกรรมาธิการสามัญฯ พิจารณาตรวจสอบประวัติแล้วเสนอรายชื่อให้ดำรงตำแหน่ง "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" หรือที่เรียกกันติดปากว่า...ว่าที่ 7 เสือ กกต. (แต่เดิมมี 5 คน แต่รัฐธรรมนูญใหม่ระบุต้องมี 7 ท่าน)

 

พลันที่เรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าว ก็ก่อให้เกิดเสียงวพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย ฝ่ายจ้องจะล้มรัฐบาล คสช. อย่างคนเสื้อแดงบางปีก และขบวนการอยากเลือกตั้งทั้งหลายแหล่ ต่างก็ออกมารุมสับเรื่องนี้ในทันทีว่า "เรื่องนี้เป็นเพราะรัฐต้องการยื้อการเลือกตั้งออกไป" อะไรทำนองนั้น

 

แต่ก็เช่นกับทุกครั้งทุกปรากฎการณ์ทางการเมือง...ที่เกิดขึ้น ซึ่งฝ่ายต้าน คสช. ที่ก็ไม่พ้นกลุ่ม "คนเสื้อแดง และบางปีกของระบอบทักษิณ" ออกมาโวยวายแบบไร้ข้อเท็จจริง และฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด เพราะเอาเข้าจริงเรื่องการคว่ำว่าที่ 7 เสือ กกต.วานนี้นั้น...แทบไม่มีผลอะไรเกี่ยวกับโรดแม็ปการเลือกตั้ง เพราะต่อให้ยังสรรหา กกต.ชุดใหม่ไม่เสร็จ 5 เสือ กกต.ที่ทำหน้าที่รักษาการชุดเก่าก็สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ เรื่องนี้สะท้อนชัดจากคำพูดของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ชุดปัจจุบันที่ ระบุวานนี้ว่า

 

"การสรรหาใหม่คงต้องใช้เวลา 5-6  เดือน  กว่าจะมี กกต.ใหม่ แต่ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบใดต่อโรดแม็ปการเลือกตั้ง  เพราะ กกต.ชุดปัจจุบันยังคงทำหน้าที่ต่อไป  ยกเว้นว่าจะมี กกต.ลาออก 2 คน  ซึ่งจะทำให้เหลือองค์ประชุมแค่ 3 คน ซึ่งจะไม่สามารถพิจารณาเรื่องสำคัญต่างๆ ได้ ประกอบกับในเดือนกรกฎาคมนี้ นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.จะมีอายุครบ 70 ปี  ซึ่งตามรัฐธรรมนูญจะต้องพ้นจากตำแหน่งทันที   เว้นแต่มีคำสั่ง คสช.ให้อยู่ปฎิบัติหน้าที่ต่อไป   เหมือนที่ คสช.มีคำสั่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดที่ครบวาระไปแล้ว  อยู่ดำรงตำแหน่งต่อไปจนว่าจะมีชุดใหม่  ซึ่งก็ไม่รู้ว่า คสช.จะมีความเห็นอย่างไร   และไม่สามาถยืนยันได้ว่าจะมี กกต.คนใดลาออกหรือไม่"

ว่าไปแล้ว ข้อคิดเห็นของ "กกต.สมชัย" แจ่มชัดเสียจนไม่ต้องตีความใด ๆ อีก...นั่นคือ แม้การสรรหา กกต.ชุดใหม่ยังไม่บรรลุผล แต่ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบใดต่อโรดแม็ปการเลือกตั้ง...เพราะ กกต.ชุดเก่ายังทำงานได้


ซึ่งก็สอดคล้องกับ สิ่งที่ "นายพรเพชร วิชิตชลชัย" ประธาน สนช. และเป็นกรรมการสรรหาบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง กกต. อยู่ด้วย ได้ออกมาแถลงหลังทราบมติ สนช.ดังกล่าวว่า หลังจากนี้จะต้องดำเนินการสรรหา กกต.ทั้ง 7 คนใหม่ โดยขั้นตอนจะเริ่มจากที่ เลขาธิการวุฒิสภาจะส่งหนังสือไปยังประธานศาลฎีกาในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา (ตัวแทนจากศาล) เพื่อดำเนินการสรรหาใหม่ ทั้งในขั้นตอนของการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งจะต้องดำเนินการสรรหาใหม่ให้เสร็จภายในกรอบเวลา 90 วัน  


"และขอให้มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อการเลือกตั้งอย่างแน่นอน เนื่องจาก กกต.ชุดปัจจุบันยังสามารถดำรงตำแหน่งได้อยู่"  ประธาน สนช. กล่าวยืนยัน

อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องระยะเวลาโรดแม็ปของการเลือกตั้งที่ฝ่ายต้าน คสช. หยิบมาโวยวาย (แบบฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียดอย่างที่กล่าว) จะถูกตีตกไปด้วยข้อเท็จจริงที่บุคคลทั้ง 2 ซึ่งถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้ง และสรรหา กกต.ใหม่ทั้ง 7 คนออกมาอธิบายดังข้อเขียนข้างต้น แต่ข้อสังเกตกรณีที่มาที่ไปแห่งมติ สนช. ที่คว่ำ 7 ว่าที่ กกต. ก็ยังคุกรุ่นอยู่พอสมควร

ต่อกรณีดังกล่าว มีแหล่งข่าวจาก สนช. แย้มพรายในเรื่องนี้ว่า จากการตรวจสอบประวัติในเชิงลึกของผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7คน อย่างละเอียดพบว่า ทุกคนมีเรื่องถูกร้องเรียนหมด โดยเฉพาะนายเรืองวิทย์ ถูกสนช.รุมซักถามประวัติอย่างหนัก โดยเหตุผลที่ สนช.ลงมติไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อทุกคน แม้ว่าทุกคนจะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก สนช.เห็นว่างานของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญใหม่มีภารกิจสำคัญเรื่องการเลือกตั้ง จึงอยากได้บุคคลมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในการทำงาน โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งสมาชิก สนช. ส่วนมากยังไม่เชื่อมั่นในฝีมือของผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของสาธารณชนและยังไม่เคยแสดงฝีมือการทำงานให้เป็นที่ประจักษ์

ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ได้รับการเสนอชื่อจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องที่มาการสรรหา...ว่าได้ดำเนินการถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะปม “ลงมติเปิดเผย” ซึ่งแม้ สนช.จะได้รับหนังสือยืนยันจากศาลฎีกาว่า กระบวนการสรรหาดำเนินการอย่างถูกต้องแล้ว แต่ทาง สนช. ก็หวั่นเกรงว่า อาจจะมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยขั้นตอนการสรรหาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่า ดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ในภายหลัง ซึ่งจะเกิดความวุ่นวายตามมามากมาย

"ดังนั้น สนช.จึงอยากได้คนใหม่ที่ความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์และความตั้งใจที่ดีที่สุด จึงลงมติไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7คน" แหล่งข่าวจาก สนช. ระบุ

ขณะที่หากจะมองไปที่ มาตรา ๒๒๒ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้บัญญัติคุณสมบัติของ กกต. เอาไว้ว่า

คณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วยกรรมการจํานวนเจ็ดคนซึ่งพระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้งตามคําแนะนําของวุฒิสภา จากบุคคลดังต่อไปนี้

(๑) ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ ที่จะยังประโยชน์แก่การบริหารและจัดการ การเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา จํานวนห้าคน

(๒) ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และเคยดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา หรือตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จํานวนสองคน

ผู้ซึ่งจะได้รับการสรรหาเป็นกรรมการการเลือกตั้งตาม (๑) ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๓๒ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) หรือ (๗) หรือเป็นผู้ทํางานหรือเคยทํางานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลา ไม่น้อยกว่ายี่สิบปี ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการสรรหาประกาศกําหนด

เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งแม้ทั้ง 7 คนจะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ตามที่แหล่งข่าว สนช. ระบุ แต่ก็เป็นไปได้มากทีเดียวว่า..."ประเด็นในเรื่องความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ ที่จะยังประโยชน์แก่การบริหารและจัดการ การเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม" นั้นยังเป็นที่กังขาของ สนช.ส่วนใหญ่ ...เพราะเรื่องนี้แหล่งข่าวจาก สนช. ก็แสดงทัศนะเอาไว้ ดังรายละเอียดข้างต้น

ขณะที่ในส่วนของผู้ได้รับการเสนอชื่อจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 2 ท่าน ก็สร้างความกังวลใจให้กับ สนช.ไม่น้อย...และอาจจะเป็นเรื่องหลักแห่งความหรนักใจเสียด้วยซ้ำ เพราะมันสุ่มเสี่ยงที่จะถูกฝ่ายต้าน คสช. ซึ่งก็คือเครือข่ายพรรคการเมืองใหญ่ นำไปขยายผล ยื่นร้องเรียนยื่นศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีนี้ในอนาคต...ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นคงสร้างความยุ่งยาก และ
กระทบไปถึงความน่าเชื่อถือของที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...และ สนช.เองก็หวั่นเกรงในประเด็นนี้...ดังที่แหล่งข่าวเปิดเผยไว้ในเบื้องต้น

ต่อกรณีรวม ๆ ในเรื่องนี้ "นายสมชาย แสวงการ" เลขานุการ วิป สนช. ได้เปิดเผยกับสำนักข่าว TNEWS เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านว่า เรื่องนี้เป็นการโหวตลับ เป็นการลงมติเฉพาะตัว และยืนยันว่าจะไม่กระทบโร็ดแม็ปแน่ เพราะ กกต.ชุดเก่าของท่านศุภชัย สมเจริญ ยังทำงานได้ เมื่อเราได้ กกต.ชุดใหม่ภายใน 90 วัน บวก 45 วัน เมื่อโปรดเกล้าฯ ลงมา ชุดปัจจุบันจะพ้นไป แต่ถ้ามีการเลือกตั้งภายในเดือนเมษาหรือมิถุนาฯ 62 ตามที่ว่า ๆ กัน จะไม่มีช่องว่างระหว่างรอยต่อของ กกต.ชุดเก่ากับชุดใหม่เลยเพระมีคนทำหน้าที่ตลอด แม้จะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ตาม


"ส่วนการสรรหาชุดใหม่ทั้งฝ่ายศาล และองค์กรอิสระ รวมทั้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คงจะนัดวันหารือกันในเร็ววันนี้" เลขานุการ วิป สนช. ระบุ


ถึงตรงนี้...ไม่ว่าเหตุผลการคว่ำกระดาน 7 ว่าที่ กกต.จะมีที่มาด้วยเหตุผลประการใด ทั้งผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7คน ทุกคนมีเรื่องถูกร้องเรียน ขาดความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง หรือแม่แต่ปมผู้เสนอชื่อจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 2 ท่าน ที่สุ่มเสี่ยงจะถูกยื่นตีความ...หรืออาจทุกอย่างรวม ๆ กันตามที่แหล่งข่าว สนช. ระบุ เรื่องนี้ก็นับว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และจากนี้คงต้องจับตาการสรรหา กกต.ชุดใหม่ ว่าเมื่อถึงเวลาจริง ๆ ผู้ที่จะมาทำหน้าที่จัดการการเลือกตั้ง...จะเป็นคนดังคนไหนในสังคม