"จริงนะครับท่าน"....ประยุทธ์ยันเลือกตั้งแน่หลังกฎหมายลูกประกาศภายใน 150 วัน ระบุไม่มีการเลื่อนยกเว้นเกิดขัดแย้งวุ่นวาย

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 20.15 น. ถึงโรดแมพการเลือกตั้งว่า   การนำหลักวิชาการ  หลักสากล มาปลูกฝังเป็น "หลักคิด" ให้กับลูกหลานเราก็จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจ สามารถแนะนำให้ประยุกต์ใช้ อย่างเหมาะสมกับสังคมของเรา ตามหลัก “ไทยนิยม” การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ก็มีความแตกต่างกัน ในวิธีการปฏิบัติ แต่ “แก่นสาร” ก็ยังคงเหมือน ๆ กัน  ซึ่งเป็นที่น่าตกใจ จากผลสำรวจของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เรื่อง “ประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องการ” จากกลุ่มตัวอย่าง ประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น ราว 1 พันตัวอย่าง ด้วยคำถามปลายเปิด สะท้อนว่า ประชาชน 36% หรือมากกว่า 1 ใน 3 ที่เป็น “ส่วนใหญ่” ไม่รู้ ไม่ทราบ แล้วก็ไม่ตอบในเรื่องของประชาธิปไตยนี้  “ส่วนที่เหลือ” ก็มีคำตอบที่แตกต่างกันตามประสบการณ์ โดยระบุว่า... ประชาธิปไตย คือ ความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ อิสระในการคิดการพูด ฟังเสียงคนข้างมาก รักสามัคคีกัน การมีส่วนร่วม บางคนนึกถึงการเลือกตั้ง บางคนบอกว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์

เมื่อถามถึงความชอบต่อประชาธิปไตยแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ หรือต้องการให้เป็นแบบใด พบว่า 41% ชอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ตอนนี้ ขณะที่ 59% ต้องการประชาธิปไตยแบบสงบสุข แบบพอเพียง ไม่มีคอร์รัปชั่น และบางส่วนระบุแบบไหนไม่รู้ แต่ขอให้ดีขึ้นกว่านี้ ที่จำเป็นต้องยกขึ้นมาพูด ซึ่งเป็นผลโพลจากภายนอก ไม่ใช่ของรัฐบาล ของ คสช. เพราะอยากจะให้ทุกคนลองพิจารณาดูว่า สังคมของเรานั้นได้ให้ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องประชาธิปไตยกันมากพอหรือยัง ใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่เพียงโรงเรียน หรือรัฐบาล แต่ประชาธิปไตยต้องเริ่มตั้งแต่ที่บ้าน ต้องอยู่ในสายเลือด ในจิตสำนึก ที่ผ่านมาพรรคการเมือง ก็ถือว่าเป็นสถาบันหลัก ที่มีหน้าที่ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยด้วย และพรรคการเมืองก็ต้องไม่ถูกแทรกแซง ควบคุม ครอบงำ ชี้นำจากบุคคลอื่นใดนะครับ ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จนขาดความอิสระ ซึ่งก็ระบุชัดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งไม่ใช่เพียง “ประชาธิปไตยไทยนิยม” แต่เป็นหลักสากล พื้นฐาน

ที่กล่าวมานั้น ผมสนับสนุนให้สอนเยาวชนด้วยหลักวิชาการ ควรจะยกกรณีความสำเร็จ  ความล้มเหลวของต่างประเทศ มาเปรียบเทียบ แต่ก็ไม่ได้ให้ “เดินซ้ำรอยความผิดพลาด” ให้เด็กได้คิด ให้มีพื้นฐานหลักคิดที่ถูกต้อง ว่าประเทศชาติจะสงบสันติได้อย่างไร ด้วยวิธีการอย่างไร ไม่ใช่ให้เอาเยี่ยงอย่าง การล้มล้างสถาบัน การเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยที่ประชาชนยังไม่พร้อม จนต้องบาดเจ็บ ล้มตาย ตามที่หลายประเทศล้มเหลวมาก่อน เราก็ได้รู้ เราได้เห็นแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้ประวัติศาสตร์เหล่านั้นซ้ำรอยอีก หรือเจ็บแล้วลืม จนต้องล้มแล้วล้มอีก  ลองสอนเด็กง่าย ๆ แบบไทย ๆ แบบนี้ได้หรือไม่ หรือปูพื้นฐานให้เขาก่อน ก่อนที่จะเอาตัวอย่างจากที่อื่น ๆ  มาสอนต่อ ไม่อย่างนั้นก็ไปสอนให้คิดนอกกรอบกันไปหมด กรอบที่ว่าคือ กรอบคำว่า สงบ สันติ ให้ได้เสียก่อน เช่น การเลือกตั้ง ถ้าเราเปรียบเทียบก็ไม่ต่างอะไรกับการเลือก “กล้วย” กล้วยที่เปลือกยังเขียวอยู่ ก็ยังไม่สุก ไม่พร้อมจะรับประทาน คุณสมบัติก็ไม่ครบนะครับ กล้วยเปลือกสีเหลือง คือ สุกงอม กินได้ เหมาะสม แต่ถ้ากล้วยเปลือกดำแล้ว คือ ไม่ดี ไม่ควรเลือกกิน แต่ถ้าเราไปสอนโดยยกตัวอย่าง เป็นผลไม้อื่น เช่น แอปเปิ้ล ซึ่งไม่เป็นผลไม้ประจำถิ่นของเรา บางคนเกิดมาก็ยังไม่เคยเห็นต้นแอปเปิ้ลเลย อาจจะเคยทาน แต่ไม่เคยเห็นต้น เด็กไทยคงไม่อาจแยกแยะด้วยสีของเปลือกได้ว่า แอปเปิ้ลผลไหน ดี สุก กินได้ ไม่ง่ายเหมือนกล้วย “แก่นสาร” ของเรื่องนี้คือ ทำอย่างไร ให้คนไทยสามารถแยกแยะว่า ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วควรเลือกใคร และเลือกจากอะไร... ไม่ใช่ใช้ความรัก ความชอบ ความคุ้นเคย ใช้อารมณ์ แต่ไม่พิจารณาด้วยเหตุด้วยผล เช่น ดูที่นโยบายพรรค ดูที่ประวัติการทำงาน เหล่านี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ การเข้าคูหาเลือกตั้งนั้น ต้องคำนึงถึงการเลือกนักการเมืองที่มีคุณภาพ ไม่มีประวัติเสื่อมเสีย หรือทุจริตมาก่อน เลือกพรรคการเมืองที่น่าเชื่อถือ ดูจากนโยบาย จากการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่มีวาระซ่อนเร้นแอบแฝง หรือ ถูกครอบงำ ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้ ผมอยากให้พี่น้องประชาชน มีความรู้ หลักคิด มีหลักการเลือก ส.ส. ที่มีคุณภาพ หลีกเลี่ยงผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หรือพรรคที่มีนโยบายในลักษณะสัญญาว่าจะให้ เพื่อดึงดูดใจ  ในสิ่งที่ผิด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นนโยบายที่มีผลต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่สิ้นเปลืองมากเกินไป ขาดวินัยการเงินการคลัง หรือ ขัดแย้งพันธกรณีต่างประเทศ เป็นต้น 

สำหรับเส้นทางสู่การเลือกตั้งของเรานั้น บางคนยังเข้าใจผิดว่า การไม่ไปเลือกตั้ง จะทำให้รัฐบาลหรือ คสช. อยู่ต่อไปได้ ความจริงแล้วคือ หากท่านไม่ไปเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัครคนใดได้คะแนนมาก ก็ได้เป็น ส.ส. และ พรรคที่มี ส.ส. มากที่สุดก็จะโอกาสได้ตั้งรัฐบาล ปัจจุบันเราอยู่ระหว่างการออกกฎหมายลูก 4 ฉบับ ที่จำเป็นต่อการเลือกตั้ง ได้แก่(1) กฎหมายลูกว่าด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
(2) กฎหมายลูกว่าด้วย พรรคการเมือง (3) กฎหมายลูกว่าด้วย การเลือกตั้ง ส.ส.  และ (4) กฎหมายลูกว่าด้วย การได้มาซึ่ง ส.ว.
ใน 2 ฉบับท้าย กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย สนช. กรธ. และ กกต. เพื่อจะพิจารณาในทุกประเด็น ที่ยังเห็นไม่ตรงกัน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ส่วนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ภาย หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วในอีก 90 วัน หลังจากประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา การเลือกตั้ง ก็อาจจะเกิดขึ้นในเดือนใดก็ได้ ภายใน 150 วัน หลังจากนั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของทุกฝ่าย ทั้งพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และ กกต. ในระหว่างนั้น ครม. จะแจ้ง คสช. ให้เชิญ กกต. กรธ. รวมถึงทุกพรรคการเมืองมาพูดคุยหารือว่า การเลือกตั้งนั้นควรจะเกิดขึ้นเมื่อใด วัน เวลา ที่ทุกฝ่ายพร้อม ทุกฝ่ายเห็นพ้องกัน แล้วก็ถือเป็น “วาระสำคัญของชาติ” อาจจะต้องเป็นสัญญาร่วมกันว่า ทำอย่างไรเราจะเดินหน้าประเทศไป ให้เป็นไปตาม Roadmap ของประเทศ ให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ รัฐบาลและ คสช. ไม่เคยมีความคิด และไม่ไปก้าวล่วงอำนาจใด ๆ ที่จะทำให้เกิดการคว่ำร่างกฎหมายต่างๆ  ที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะรัฐบาลไม่อยากให้กำหนดเวลาคลาดเคลื่อน ตามที่มีใครหลายคนพยายามบิดเบือน ให้ข้อมูลผิด ๆ ต่อสังคม เว้นอย่างเดียว คือการเกิดความวุ่นวายประชาชนขัดแย้ง ใช้กำลัง ใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง การหาเสียงมีปัญหา ประชาชนขัดแย้งกันอีกนะครับ เกิดความไม่สงบ เหมือนช่วงก่อนปี 57 อันนั้นก็เป็นอีกเรื่อง ทุกคนต้องช่วยกัน อย่าให้เกิดขึ้น ดังนั้น ประชาชน นักการเมือง และทุก ๆ ฝ่ายก็ต้องช่วยกัน รักษาบรรยากาศ ความมีเสถียรภาพของประเทศ ต้องไม่ขัดแย้ง ไม่แบ่งฝ่ายกันอีกต่อไป แล้วก็ต้องสัญญากันว่า หลังการเลือกตั้ง เราจะได้มีฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านที่จะต้องร่วมมือกัน ทำในสิ่งที่ประเทศชาติและประชาชนทั้งประเทศต้องการ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ที่เป็นฐานเสียงของฝ่ายใดก็ตาม รวมทั้ง ร่มกัน หรือช่วยกันในการปฏิรูปประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติต่อไป

/////////////////////