มท.1 พอใจการขับเคลื่อนไทยนิยมยั่งยืน ชี้เกินเป้า  คืบหน้า 20 % ยอดพุ่ง 1.8 ล้านคน คาดประเมินผลความต้องการของปชช.แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  กล่าวถึง ภาพรวมการเดินหน้าโครงการไทยนิยมยั่งยืน ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์  ว่า ส่วนตัวค่อนข้างพอใจผลดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้  ขณะนี้สามารถลงพื้นที่หมู่บ้านไปแล้วร้อยละ 20 หรือ 15000 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 7 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศ มีประชาชนมาเข้าร่วมเฉลี่ย 120 คนต่อหมู่บ้าน 
 

 

โดยประเด็นที่เข้าไปพูดคุย นอกจากการสอบถามความต้องการพัฒนาพื้นที่ขอวตนเอง ยังสร้างความความเข้าใจในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะสัญญาประชาคม - ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย และ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้ส่วนหนึ่ง ประชาชน ได้สะท้อนความต้องการในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างถนน  ซึ่งการประมวลผลจะทำเป็นห้วงเวลา คาดว่าแผนงานชุดแรกจะแล้วเสร็จใน 1 เดือน  แต่ย้ำโครงการที่ออกมาต้องกลั่นกรองให้รอบคอบ ไม่ขัดต่อกฎหมาย และ ซ้ำซ้อนกับโครงการที่หน่วยงานทำอยู่แล้ว เพราะหากเป็นการสร้างถนนแต่อยู่ในพื้นที่ป่าก็ไม่สามารถทำได้  รวมถึงการซื้อของแจกก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน ขณะเดียวกันสิ่งที่ได้จากการประมวลผล ยังให้ความสำคัญกับ ประชาธิปไตย ซึ่งจะได้รวบรวมประเด็นเหล่านี้ด้วย 

ทั้งนี้ จากข้อมูล กระทรวงมหาดไทย พบว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืนทุกทีมลงพื้นที่ทุกวันทั้งวันหยุดสุดสัปดาห์ พร้อมผู้บริหารจังหวัด ผู้บริหารส่วนอำเภอก็ให้ความสำคัญและลงติดตาม ตรวจเยี่ยมด้วยตัวเอง และได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนค่อนข้างดี และขณะนี้มีทีมตำบลลงพื้นที่ไปแล้วกว่า 15,000 หมู่บ้าน ประชาชนเข้าร่วมเวทีไทยนิยมยั่งยืนจำนวนกว่า1.8 ล้านคน มากกว่าที่ได้กำหนดไว้จากเดิมกำหนดหมู่บ้าน ชุมชนละ 100 คน แต่ปรากฎมีผู้เข้าร่วมเฉลี่ยประมาณ 130 คนต่อหมู่บ้าน ซึ่งบางหมู่บ้านมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน

 

 

สำหรับสิ่งที่ประชาต้องการระหว่างลงพื้นที่นั้น ทีมตำบลจะสรุปสิ่งที่ประชาชนต้องการส่งมาที่อำเภอ ซึ่งเรากำลังทำระบบ บันทึกผลอยู่ และคาดว่าในปลายสัปดาห์นี้จะทราบผลประมวลเบื้องต้นจากแต่ละพื้นที่ว่าประชาชนต้องการอะไร ซึ่งเมื่อทราบความต้องการของประชาชนแล้ว ถ้ามีแนวทางที่ตรงกับสิ่งที่กำหนดไว้ เช่น เป็นปัญหาที่ตรงกับกรอบของกองทุนหมู่บ้านก็จะเสนอให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านรับไปพิจารณา ถ้าสิ่งไหนตรงกับบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน กรรมการหมู่บ้านก็จะเสนอทำโครงการเสนอขอรับงบประมาณอุดหนุน ส่วนเรื่องที่ตรงกับเรื่องการเกษตรก็จะพิจารณาเข้าสู่กระทรวงเกษตรฯ โดยอำเภอจะเป็นคนวิเคราะห์ว่าแต่ละเรื่องจะส่งไปที่ใด จะไปอปท. หรืองบจังหวัดในการทำแผนพัฒนาจังหวัด ซึ่งแต่ละปัญหาก็จะประมวลแล้วนำเสนอให้ผู้บังคับบัญชาแต่ละระดับได้รับทราบตั้งแต่ระดับอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด จนถึงปลัดกระทรวง