กรรมเก่าทั้งนั้นที่รัดคอ? ย้อนรอยกรรม"ผู้สุมหัวแปลงสัมปทานฯ" ล่าสุด"นายใหญ่"โดยหมายจับ หลังหมอเลี้ยบคุก10 เดือน หักคำ"รวยแล้วไม่โกง"จนสิ้น

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

 

วานนี้มีข่าวใหญ่ทางการเมืองอยู่ชิ้น นั่นคือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกหมายจับ "นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีแปลงค่าสัมปทานมือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต หลังจากที่ไม่มาศาลในการพิจารณาคดีครั้งแรก ตามที่อัยการยื่นคำร้องให้ศาลนำคดีนี้ ที่ได้เคยยื่นฟ้องไว้และศาลต้องจำหน่ายคดีชั่วคราวเนื่องจาก “ทักษิณ”หลบหนีคดีไป แต่เมื่ออัยการขอให้ศาลฯ พิจารณาคดีใหม่ ตาม พ.ร.ป. วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ เรื่องนี้จึงถูกจับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง...และส่งผลให้ "ทักษิณ" โดนหมายจับวานนี้

 

แรกเริ่มเดิมทีคดีนี้เริ่มจากการที่ นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ นำสำนวนการสอบสวน พร้อมความเห็นของ "นายชัยเกษม นิติสิริ" อัยการสูงสุดขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย) ที่สั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่น เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 152, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 100, 122 ต่อศาลฎีกาฯ ในช่วงปี 2550
       
โดยโจทก์ระบุชัดว่า เมื่อระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ถึง วันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นเวลาบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.และเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ม.11 โดยจำเลยในฐานะนายกฯ มีหน้าที่กำกับดูแลทั้งส่วนราชการในสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานอื่นในฝ่ายบริหารที่ไม่ได้สังกัดกระทรวง ทบวง กรม ใด รวมทั้งองค์การของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งที่เป็นข้าราชการและพนักงานในองค์การรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจำเลยในฐานะนายกฯ มีอำนาจหน้าที่กำหนดและกำกับนโยบายสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดินตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐและนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
       
      

โดยในส่วนของการจัดการดูแลกิจการโทรคมนาคม จำเลยมีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ม.11 ซึ่งจำเลยมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน ในการสั่งราชการส่วนกลาง ชี้แจงแสดงความเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใดๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติ ครม. ซึ่งตาม ม.7 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว กระทรวง เป็นการจัดการบริหารราชการส่วนกลาง และ ม.20 ให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ ม.24 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริม พัฒนา และดำเนินกิจการเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


และราชการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ และตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ม. 10 กระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการคลัง การบริหารทรัพย์สินของแผ่นดิน ภาษีอากร การรัษฎากร กิจการหารายได้ที่รัฐมีอำนาจดำเนินการได้แต่เพียงผู้เดียวตามกฏหมาย จำเลยจึงมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการกระทรวงการคลังผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และบริหารราชการเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่าน รมว.ไอซีที รวมทั้งการสั่งราชการที่เกี่ยวข้องกับภาษีสรรพสามิตผ่านทาง รมว.คลัง และที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่าน รมว.ไอซีที นอกจากนี้จำเลยยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.หมวด 9 ว่าด้วยการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ตาม ม.100 ซึ่งต่อมายังได้มีประกาศ ป.ป.ช.เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามไม่ให้ดำเนินกิจการตามบทบัญญัติ ม.100
       
 
ซึ่งระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2548 และระหว่างวันที่ 9 มีนาคม 2548 ถึงวันที่ 19 กันยายน 2549 จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,419,490,150 หุ้น ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟล์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด, บริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งทุกบริษัทดังกล่าวต่างเป็นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐและเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ โดยจำเลยอำพรางการถือหุ้นไว้ด้วยการให้บริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด, บริษัท วินมาร์ค จำกัด ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นของจำเลย โดยมี นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่คู่สมรส มีชื่อถือหุ้นแทน
       
       โดยระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ถึงวันที่ 19 กันยายน 2549 จำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปในการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งการสั่งราชการที่เกี่ยวข้องกับภาษีสรรพสามิต ผ่านทาง รมว.คลัง และที่เกี่ยวข้องกับทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่าน รมว.ไอซีที ได้ปฏิบัติหรือและเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการโทรคมนาคมด้วยการกระทำการ สั่งการตามอำนาจหน้าที่ให้มีการแปลงค่าสัมปทานในกิจการโทรคมนาคมให้เป็นภาษีสรรพสามิตเพื่อประโยชน์แก่ธุรกิจของ บมจ.ชินคอร์ปฯ โดยค่าสัมปทานดังกล่าว บมจ.แอดวานซ์ฯ บมจ.ดิจิตอลโฟนฯ ที่ บมจ.ชินคอร์ปฯ ถือหุ้นใหญ่ มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยมอบนโยบายและสั่งการให้ออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ.2546 พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 68 ) ลงวันที่ 28 มกราคม 2546 และมติ ครม.วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 กรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม และให้นำค่าสัมปทานหักกับภาษีสรรพสามิต โดยการกระทำดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ กระทรวงการคลัง กระทรวงไอซีที บมจ.ทีโอที และบมจ.กสท.รวมทั้งบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยทำให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท ที่เป็นคู่สัญญานำค่าภาษีสรรพสามิตมาหักออกจากค่าสัมปทาน ทำให้เสียหายจำนวน 41,951.68 ล้านบาท และจำนวน 25,992.08 ล้านบาท
       

นอกจากนี้ จำเลยไม่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการดาวเทียม ทั้งที่เป็นกิจการโทรคมนาคม และเป็นกิจการที่ บมจ.ชินคอร์ป ได้รับสัมปทานจากรัฐเช่นเดียวกับโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการใช้อำนาจของจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีโดยไม่สุจริต เหตุตามฟ้องเกิดที่แขวง-เขตดุสิต และ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม.
       
       
คดีนี้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที มีหนังสือลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 ถึงประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตรวจสอบการตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราสรรพสามิต ดังกล่าว ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาล ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง คตส.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่ตรวจสอบมาพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ให้บุคคลอื่นเป็นผู้ถือหุ้นแทนใน บมจ.ชินคอร์ปฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ เป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. ม.100, 122 และ เป็นความผิด ตาม ป.อาญา ม.152 และ 157 จึงเสนอ คตส.ซึ่งได้มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบ ซึ่งต่อมาจำเลยได้ชี้แจงข้อกล่าวหาโดยให้การปฏิเสธ
       
       
โดยระหว่างไต่สวนจำเลยไม่ถูกควบคุมตัว โจทก์ไม่ได้นำตัวจำเลยมาศาลพร้อมฟ้อง เนื่องจากจำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลนี้แล้ว โดยจำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.1/2550 (คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก) ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงขอให้ศาลมีหมายเรียกจำเลยมาพิจารณาพิพากษาต่อไป ซึ่งคดีนี้โจทก์มีนายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ขณะนั้น) นายสัญญา วรัญญู นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล เป็นพยานยื่นยันการถือหุ้นและปิดบังอำพรางการถือหุ้นของจำเลยใน บมจ.ชินคอร์ป และมี นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ นายสมหมาย ภาษี เป็นพยานยืนยันการแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตและบุคคลอื่น ประกอบพยานเอกสารที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ โดยโจทก์ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมาย และขอให้นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายดำที่ อม.1/2550 ของศาลฎีกาฯ


หลังทางอัยการบรรยายฟ้องนายทักษิณ แบบละเอียดทุกซอกทุกมุมดังกล่าวแล้ว จากนั้นไม่นานความจงใจแปลงสัญญาสัมปทานฯ เป็นภาษีสรรพสามิตถูกชำแหละอีกครั้ง เมื่อครั้งที่ นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ขึ้นเบิกความต่อองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้อง ในคดีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้อง ขอให้มีคำสั่งยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีต นายกรัฐมนตรีและครอบครัว ที่ได้จากการขายหุ้นในเครือบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 7.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกี่ยวพันมาถึงกรณีแปลงสัญญาสัมปทานฯ เป็นภาษีสรรพสามิตดังกล่าวเมื่อปลายปี 2552


โดยนายแก้วสรร ระบุในคราวนั้นว่า "ศาลได้ถามถึงการตรวจสอบกรณีออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานกิจการโทร คมนาคม เป็นภาษีสรรพสามิต นายแก้วสรรเบิกความว่า ในสมัยคณะรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ออกกฎหมายดังกล่าวมาทำให้มีการแปลงสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคม จ่ายเป็นภาษีสรรพสามิต 15% แม้ว่าภาษีสรรพสามิตจะเข้าสู่รัฐ แต่ทำให้องค์การโทรศัพท์ หน่ายงานของรัฐซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทาน ต้องสูญเสียรายได้จากค่าสัมปทานที่ลดลง โดยการประกอบกิจการสัมปทานในส่วนขององค์การโทรศัพท์ เกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ) มีบริษัทเอไอเอสร่วมทุน จึงทำให้เป็นการออกมาตรการที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเครือชินคอร์ปฯ ได้เปรียบบริษัทอื่น

"เนื่องจากช่วงที่มีการเปิดเสรี โดยมี กทช.เป็นผู้ดูแล กำหนดให้มีการจัดเฉพาะเก็บค่าธรรมเนียมเท่านั้น ซึ่งจะต่ำกว่าค่าสัมปทานที่บริษัท เอไอเอส จะต้องจ่าย ดังนั้นจึงได้มีการออกมาตรการมาเพื่อจะให้บริษัทที่จะเข้ามาให้บริการราย ใหม่ ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตเพิ่ม ส่วนบริษัทเอไอเอส เพียงแต่หักค่าสัมปทานบางส่วน ไปจ่ายเป็นค่าภาษีสรรพสามิต ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย" อ. แก้วสรร เบิกความชำแหละความฉ้อฉลกรณีดังกล่าว
       
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่อัยการสูงสุดจะมีคำสั่งฟ้องนายทักษิณ และศาลนัดไต่สวน อ.แก้วสรรในเวลาต่อมา ก่อนหน้านั้นกว่า 1 ปี คือในช่วงเดือนพฤษภาคม 2550 "นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ช่วงที่มีการแก้ไขสัมปทานฯ  ได้ออกมาท้าทาย คตส.ต่อกรณีนี้ โดย นพ.สุรพงษ์ ถึงกับเปิดหน้าว่า อยากเรียกร้องให้ คตส.อย่าตั้งข้อกล่าวหาเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ (ยศก่อนถูกถอด) ว่าเป็นผู้แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการออกมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าว เพราะตนในฐานะรับผิดชอบกระทรวงไอซีทีขณะนั้นไม่ควรถูกละเว้น ขอให้ตั้งข้อกล่าวหาตนด้วย เพราะจะได้ให้ข้อมูลกับ คตส. ซึ่งเห็นว่าข้อมูลที่ คตส.รวบรวมได้ เป็นการรวบรวมข้อมูลเพียงด้านเดียว และเชื่อมั่นว่าจะให้ข้อมูลด้วยความบริสุทธิ์ใจกับ คตส.เพื่อให้มองอย่างรอบด้านมากขึ้น
       
       
“ที่ผ่านมาเรื่องคดีกล้ายาง หวยบนดินก็ถูกตั้งข้อกล่าวหาในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีที่ร่วมประชุม ครม. ดังนั้น จึงไม่เข้าใจว่าเรื่องกิจการโทรคมนาคม ซึ่งผมเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ทำไมไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาด้วย อยากเรียกร้องให้ตั้งข้อกล่าวหาผมด้วย” นพ.สุรพงษ์ ระบุในคราวนั้น


ว่าไปแล้วคำท้าทายของ นพ.สุรพงษ์  ไม่ได้ทำให้เจ้าตัวผิดหวังแต่อย่างใด...เพราะหลังจากที่ฉุดกระชากลากถูกกันอยู่หลายปี ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 56 กรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ได้มีมติชี้มูล 6 ต่อ 2 เสียงว่า การกระทำของ นพ.สุรพงษ์ , นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ศึกษาวิเคราะห์การขอแก้ไขสัญญาสัมปทานในครั้งนั้น และนายไกรสร  พรสุธี ในฐานะปลัดกระทรวงฯ ที่ได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ดังกล่าว มีมูลความผิดทางอาญา และยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้ง 3 นาย เป็นคดีหมายเลขดำ อม.66/2558

...ส่วนสาเหตุที่การชี้มูลล่าช้า...และทำให้ทอดเวลาต่อมาอีกถึง 6 ปีนั้น...แม้ไม่ต้องอธิบายก็คงทราบได้เองว่า...อิทธิฤิทธิ์ของระบอบทักษิณนั้นล้นเหลือในสังคมไทยแค่ไหน...แม้จะถูก พล.อ.สนธิ บุญญรัตกลิน ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จนนำมาสู่การตั้ง คตส. ตรวจสอบในเรื่องนี้ จากนั้นไม่นานระบอบทักษิณก็กลับมาครองอำนาจอีกผ่านนอมินี 3 รัฐบาลทั้ง สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และหนูปูยิ่งลักษณ์ ชินวัตร...และนั่นเองทำให้คำท้าทายของ นพ.สุรพงษ์ ทอดยาวมาถึง 6 ปี

และพลันที่วันพิพากษาเดินทางมาถึง นั่นคือในวันที่ 25 สิงหาคม 2559 หรือเมื่อกว่า 1 ปีก่อน ศาลฯ ได้สั่งจำคุก นพ.สุรพงษ์ เป็นเวลา 1 ปีไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยอีก 2 คน จำคุก 1 ปีแต่โทษให้รอลงอาญาเป็นเวลา 5 ปี และหลังศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษานับจากวันนั้น "นัการเมืองภาพสวยอย่างหมอเลี้ยบ" ก็นอนคุกทันที...และหากไล่เรียงเวลาจะพบว่า แม้ความผิดที่ซุกไว้จะเกิดขึ้นมากว่า 12-13 ปี แต่หากกรรมไล่ล่าเสียแล้ว...ก็ย่อมยากที่จะรอดพ้นไปได้..."หมอเลี้ยบ" เป็นหนึ่งกรณีตัวอย่าง...ที่ผู้เอาใจนักการเมืองที่ฉ้อฉลควรพึงสังวรณ์ให้มาก...เพราะนอนคุกทันทีที่ศาลฯ ตัดสิน

 

ขณะที่ตัวนายทักษิณเอง ที่ล่าสุดวานนี้ ก็โดนศาลฎีกาฯ นักการเมือง ออกหมายจับจากคดีนี้ เพราะเขาหนีคดีทั้งลิ่วล้อไปก่อนหน้า และอัยการสูงสุด ร้องขอให้ศาลฯ นักการเมืองพิจารณาคดีนายทักษิณใหม่ ตาม พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 (ฉบับใหม่) เปิดช่องให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ แม้ว่าไม่มีตัวจำเลยก็ตาม

 

และถึง "นายวีรภัทร ศรีไชยา" หนึ่งในคณะทนายความคดี ยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาทของนายทักษิณ จะออกมาระบุโดยอ้างว่า ได้รับทราบจากคนสนิทของนายทักษิณว่า ทักษิณไม่เห็นด้วยกับกรณีที่มีการแก้กฎหมายให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ และเป็นกฎหมายย้อนหลังอันขัดหลักนิติธรรมสากล แถมยังคุยโวว่า ทักษิณจบปริญญาเอกทางด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงขอคัดค้านความไม่ยุติธรรมทุกรูปแบบ...แต่นั่นก็เป็นแค่คำแก้ต่างที่ไม่ส่งผลใด ๆ ต่อคดี...เพราะถึงที่สุด...ศาลฯ ก็ได้พิพากษาออกมาแล้ว....และ "ทักษิณ" ก็จำต้องรับผลของการกระทำครั้งที่มีอำนาจนั้นไป...