จับตา!ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับใหม่ เปิดช่องแรงงานต่างด้าวตั้งสหภาพแรงงาน ด้านก.แรงงาน ยันยังเป็นแค่ต้นร่างอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการนำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ดังกล่าว หารือร่วมกับภาคเอกชน ทั้งสมาคมประมง และสภาองค์การนายจ้างฯ แล้วถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะ 

มาตรา 34 ที่เปิดช่องให้นายจ้างปิดงาน หรือ ลูกจ้างนัดหนุดงานได้ เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่ต้องแจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้า 24 ช.ม.
มาตรา 58 นายจ้างซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ทำงานในประเทศไทยเกิน 1 ปีขึ้นไป มีสิทธิจัดตั้งสมาคมนายจ้างได้
มาตรา 89 ลูกจ้างซึ่งไม่ได้มีสัญชาติไทย 10 คนขึ้นไป ทำงานในประเทศไทยเกิน 1 ปีขึ้นไป มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานได้

นั่นเท่ากับว่า คนต่างด้าวสามารถจัดตั้งได้ทั้งสมาคมนายจ้าง และสหภาพแรงงานได้ และไม่ได้กำหนดด้วยว่า บริษัทหรือโรงงาน 1 แห่ง จะมีสหภาพแรงงานได้ไม่เกินเท่าไหร่ เขียนไว้แค่ว่า รวมตัว 10 คนขึ้นไป จัดตั้งสหภาพได้เลย

ซึ่งผู้แทนจากสมาคมประมงที่เข้าร่วมประชุม เชื่อว่า รายละเอียดส่วนนี้ถูกเขัยนเพิ่มเข้ามาภายหลัง เพราะร่างฉบับเดิมไม่ได้เขียนเรื่องนี้เอาไว้แต่แรก ถ้าปล่อยผ่านออกไปแบบนี้ จะไม่มีใครกล้าเข้ามาลงทุนในประเทศ เพราะกลัวมีปัญหาด้านแรงงาน

ขณะที่นางเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า มาตราที่เป็นปัญหานี้อ้างอิงมาจากสนธิสัญญาของ ILO 8798 แต่อยากชี้ให้เห็นว่า ประเทศในอาเซียนและประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ , ญี่ปุ่น , จีน หรือแม้แต่สิงคโปร์ ไม่มีประเทศใดเขียนกฎหมายลักษณะนี้ เพราะเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติอย่างใหญ่หลวง เนื่องจากทุกวันนี้มีต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก 

ขณะเดียวกันการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวจัดตั้งสหภาพแรงงานได้โดยไม่จำกัดจำนวน จะกระทบต่อการบริหารจัดการของบริษัทหรือโรงงาน เพราะทุกวันนี้สภาพแรงงานมีแต่คนไทยก็ยังมีปัญหา พูดคุยกันไม่รู้เรื่อง

 

ด้านสมาคมประมงฯ เป็นองค์กรที่สองที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านร่าง กม.ฉบับนี้ โดยนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมประมงฯ เปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณาร่าง กม.ที่มีตัวแทนจากสมาคมนายจ้างและสมาคมลูกจ้างร่วมเป็นกรรมการด้วย ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ในร่างแรกที่เสนอขึ้นมา ไม่ได้เขียนเรื่องการให้คนต่างด้าวตั้งสมาคมนายจ้างหรือตั้งสหภาพแรงงานเอาไว้ รายละเอียดเรืองนี้เพิ่งถูกนำมาเขียนในภายหลัง 

ซึ่งสมาคมประมงฯ มีจุดยืนชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับร่าง กม.ฉบับนี้ เพราะเรือประมง 1 ลำ มีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่ประมาณ 10 กว่าคน ถ้าอนุญาตให้ตั้งสหภาพแรงงานได้ เท่ากับว่าเรือประมงทุกลำจะมีสหภาพแรงงาน ถ้าสหภาพไม่พอใจเรื่องอะไร แล้วนัดหยุดงาน ไม่ออกเรือ จะกระทบต่อผู้ประกอบการ แล้วถ้านัดไม่ออกเรือพร้อมๆ กันจะกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ


ทั้งนี้นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ยอมรับว่า ในร่างกฎหมายเขียนเรื่องนี้เอาไว้จริง แต่ยังเป็นแค่ต้นร่าง เพื่อนำมาทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากภาคเอกชนและคนที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้ข้อมูลมาครบทุกมิติแล้ว ก็จะนำมาปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายให้สมบูรณ์แล้วเสนอขอความเห็นของจาก ครม. ก่อนส่งให้ สนช.ออกเป็นกฎหมายต่อไป

 

ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่าย กม.บอกว่า ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะมีสัญญาว่าจ้างและระเบียบการง่าจ้างอยู่แล้ว ประธานสมาคมประมงฯ ตั้งข้อสังเกตว่า กม.ใหญ่กว่าสัญญาว่าจ้างอยู่แล้ว ถ้า กม.เปิดช่องให้ต่างด้าวตั้งสหภาพแรงงานได้ แม้สัญญาว่าจ้างจะห้ามตั้ง ก็ไม่มีใครสนใจ เพราะ กม.ใหญ่กว่า และสัญญาว่าจ้างในภาคประมงไม่เคยมีความหมายอะไรอยู่แล้ว เพราะทุกวันนี้การจ้างแรงงานต่างด้าวจะทำสัญญากัน 1 ปี แต่อยู่ทำงานจริงๆ แต่ 2-3 เดือนก็หนีไปทำงานอื่นแล้ว นายจ้างทำอะไรไม่ได้ ภาครัฐก็ควบคุม หรือ บังคับให้เป็นไปตามสัญญาไม่ได้เช่นกัน 

สุดท้าย คงต้องรอดูว่ากระทรวงแรงงานจะมีการปรับแก้ ตามข้อเสนอแนะก่อนเข้า ครม.หรือไม่ที่  ทั้งนี้คงต้องขึ้นกับรัฐบาลว่า จะใหร่างกฎหมายฉบับนี้ช่วยส่งเสริมการลงทุน หรือจะดึงให้นักลงทุนย้ายออกนอกประเทศ