ยังไม่ไปไหน-ก็เละแล้ว?! "ซ้ายใหญ่-ใจ" จี้จุดไพร่หมื่นล้าน ไทยซัมมิทฯ เคยละเมิดสิทธิคนงานขั้นรุนแรง หรือที่แท้พรรคฯไม่สนใจ ปชต.ของแรงงาน?

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

 

ยังไม่ไปไหน-ก็เละแล้ว?! "ซ้ายรุ่นใหญ่ ใจ อึ๊งภากรณ์"  นักวิชาการฝ่ายซ้ายของชาวเสื้อแดง และเป็นอดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ปัจจุบันหลบหนีคดี ม.112 อยู่ต่างประเทศ ได้เขียนบทความเรื่อง "คำถามคาใจกับการก่อตั้งพรรคคนรุ่นใหม่ของปิยบุตรกับธนาธร" ลงในเว็บบล็อกส่วนตัว เพื่อแสดงความคิดเห็นกรณี นายธนากร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท และ นายปิยะบุตร แสงกนกกุล อดีตนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง "อนาคตใหม่" วานนี้

 

โดยข้อเขียนของ "ใจ" น่าสนใจหลายประเด็น แค่เฉพาะการตั้งคำถามเชิงย้อนเกล็ดอุดมการณ์พรรคฯ ของธนาธร ที่ไทยซัมมิทฯ เคยละเมิดสิทธิคนงานขั้นรุนแรงในปี 2549 และปี 2557 แล้ว "ใจ" ตั้งคำถามว่า สิ่งเหล่านี้จะขัดแย้งกับนโยบายของพรรคคนรุ่นใหม่ที่ประกาศว่าจะพาคนไทยออกจากยุคเผด็จการหรือไม่? หรือพรรคจะไม่สนใจประชาธิปไตยในสถานที่ทำงาน?...นั่นก็นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่งแล้ว

 

โดยรายละเอียดที่  บุตรชายคนสุดท้องของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ระบุไว้ คือ

 

 การที่ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศตั้งพรรคแนวทางใหม่ของคนรุ่นใหม่ ที่ชูแนวคิดพรรคซ้ายใหม่ในยุโรป เป็นการเริ่มต้นที่ดี และคนจำนวนมากก็คงตั้งความหวังไว้กับการสร้างพรรคนี้

 

อย่างไรก็ตามผมมีคำถามคาใจหลายประเด็น ที่ผมอยากจะถาม เพื่อให้พวกเราที่รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมร่วมกันพิจารณา

 

การที่ อ.ปิยบุตร เอ่ยถึง พรรคซีรีซา (Syriza) ของกรีซ พรรคโพเดมอส (Podemos) ของสเปน และพรรคห้าดาว ของอิตาลี่ ในแง่หนึ่งก็ดี เพราะกล้าพูดถึงฝ่ายซ้ายหรือพรรคทางเลือกใหม่อย่างเปิดเผย

แต่พรรคที่ อ.ปิยบุตร เลือกมานี้ล้วนแต่มีปัญหาที่ชวนให้เราตั้งคำถามต่อไป

พรรคซีรีซา ชนะการเลือกตั้งและสร้างความหวังกับประชาชนธรรมดาในกรีซจำนวนมาก แต่ในไม่กี่เดือนก็หักหลังประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่ยกเลิกนโยบายรัดเข็มขัดตามแนวเสรีนิยม (Neoliberal) ซึ่งนโยบายดังกล่าวองค์กรระหว่างประเทศในอียูบังคับให้ทำ ตอนนี้รัฐบาลซีรีซาตัดสวัสดิการคนชรา ตัดการบริการของรัฐ และกดค่าแรงหรือปลดคนงานออกในระดับที่รุนแรงกว่าพรรคอนุรักษฺนิยมในอดีต ประเด็นคือถ้า อ.ปิยบุตร เสนอว่าจะต้านนโยบายเสรีนิยม ซึ่งเป็นเรื่องดี พรรคคนรุ่นใหม่ของไทยจะคัดค้านนโยบาย “การรักษาวินัยทางการคลัง” ที่รัฐบาลทหารและรัฐบาลประชาธิปัตย์ใช้มาตลอดอย่างไร? นโยบายดังกล่าวถูกบรรจุในยุทธศาสตร์แห่งชาติของเผด็จการด้วย พรรคคนรุ่นใหม่จะเสนอให้มีการเพิ่มบทบาทและงบประมาณรัฐในการพัฒนาระดับความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ทำงานหรือไม่? จะเสนอให้สร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าแบบยุโรปหรือไม่? และจะมีการเพิ่มรายได้รัฐผ่านการเก็บภาษีจากคนรวยและบริษัทใหญ่ในอัตราก้าวหน้าหรือไม่? เพราะการต่อต้านแนวเสรีนิยมต้องมีองค์ประกอบดังกล่าว (ดู http://bit.ly/2tWNJ3V)

แล้วการที่รองประธานบริษัทซัมมิท ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแกนนำสำคัญของพรรค จะทำให้พรรคไม่เสนอนโยบายการเก็บภาษีก้าวหน้าหรือไม่?

พรรคซิรีซาและพรรคซ้ายอื่นๆ ในยุโรปมีความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ กับขบวนการสหภาพแรงงาน ผมหวังว่าพรรคคนรุ่นใหม่ในไทยจะขยันในการสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพแรงงาน เรื่องนี้สำคัญเพราะพรรคกระแสหลักเก่าๆ ของไทยล้วนแต่เป็นพรรคของชนชั้นนายทุนทั้งสิ้น สหภาพแรงงานเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีความสำคัญ และเป็นการจัดตั้งของคนชั้นล่าง ผมหวังว่าการที่ อ.ปิยบุตร เคยพูดว่า “ชนชั้นไม่ใช่ประเด็นในไทย” ไม่ได้เป็นการจงใจปิดหูปิดตาถึงความเหลื่อมล้ำ และความขัดแย้งทางชนชั้นที่ดำรงอยู่ เพื่อสร้างแนวร่วมกับนายทุนบริษัทซัมมิท

ในปี 2549 พนักงานบริษัทไทยซัมมิท อีสเทิร์น ซีบอร์ด ออโต้พาร์ท อินดัสตรี จำกัด จำนวน 260 คน ถูกเลิกจ้างงานเพราะได้ไปสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้าประเทศไทย ต่อมาในปี 2557  บริษัทซัมมิทมีการกดดันให้พนักงานทำงานล่วงเวลา แทนที่จะจ่ายค่าจ้างในระดับเพียงพอและรับสมัครคนงานเพิ่ม และบริษัทก็ลงโทษพนักงานที่ไม่ให้ความร่วมมือในการทำงานล่วงเวลา

นอกจากนี้ทางบริษัทได้ออกคำสั่งให้กรรมการสหภาพ 4 ท่าน คือ ประธาน รองประธาน กรรมการพื้นที่แหลมฉบัง และกรรมการพื้นที่ระยอง หยุดปฏิบัติงาน เพื่อหวังปลดออก สรุปแล้วบริษัทซัมมิทของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีประวัติการปราบปรามสหภาพแรงงาน และละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในการรวมตัวกันของลูกจ้าง สิ่งเหล่านี้จะขัดแย้งกับนโยบายของพรรคคนรุ่นใหม่ที่ประกาศว่าจะพาคนไทยออกจากยุคเผด็จการหรือไม่? หรือพรรคจะไม่สนใจประชาธิปไตยในสถานที่ทำงาน? นอกจากนี้พรรคจะมีนโยบายที่ดีกว่ารัฐบาลอื่นๆ ในเรื่องการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่? จะมีนโยบายในการลดชั่วโมงการทำงานของคนทำงานเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตหรือไม่?

พรรคโพเดมอส ของสเปนเป็นพรรคที่อ้างว่า มีประชาธิปไตยภายในระดับสูง และในรูปแบบใหม่ๆ ที่อาศัยอินเตอร์เน็ท แต่การที่พยายามปฏิเสธโครงสร้างรวมศูนย์ที่มีผู้แทนพรรคในระดับต่างๆ และการเลือกตั้งภายในจากการประชุมพรรค ทำให้แกนนำที่ปรากฏหน้าบ่อยๆในสื่อ และมี “บารมี” กลายเป็นแกนนำที่ถูกตรวจสอบยากและมีแนวโน้มตัดสินใจทุกอย่างแทนสมาชิก

การที่ อ.ปิยบุตร เสนอว่าพรรคคนรุ่นใหม่จะเน้นการกระจายอำนาจ ไม่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง กระจายงานภารกิจไปให้กลุ่มต่างๆ พื้นที่ต่างๆ จังหวัดต่างๆ จะทำให้สมาชิกธรรมดาสามารถควบคุมตรวจสอบผู้นำพรรคในระดับประเทศได้หรือไม่? หรือจะกลายเป็นว่าคนที่มีความมั่นใจสูงและมีชื่อเสียงจะมีอิทธิพลสูงไปโดบปริยาย? โครงสร้างแบบนี้จะทำให้สมาชิกธรรมดากำหนดนโยบายระดับชาติได้ง่ายหรือยาก?

พรรคโพเดมอส ใช้ความคิดชาตินิยมจนมีบทบาทในการสนับสนุนการปกป้องรัฐสเปนจากการแบ่งแยกที่อาจเกิดขึ้นจากขบวนการอิสรภาพของคาตาโลเนีย ดังนั้นเราต้องถามว่าในกรณีสังคมเรา พรรคคนรุ่นใหม่จะมีท่าทีอย่างไรต่อความต้องการที่จะปกครองตนเองของชาวปาตานี?

พรรคห้าดาว ของอิตาลี เป็นพรรคที่เกือบจะไม่มีนโยบายอะไรนอกจากการประกาศว่าพรรคไม่เหมือนพวกนักการเมืองรุ่นเก่า ในอดีตประเทศไทยก็เคยมี “พรรคพลังใหม่” หลังการลุกฮือ 14 ตุลา พรรคนี้ก็เกือบจะไม่มีนโยบายอะไรที่จับต้องได้ นอกจากการพูดว่าเป็นพรรคเอียงซ้ายของคนรุ่นใหม่ พรรคของปิยบุตรกับธนาธรจะออกมาในรูปแบบคล้ายกันหรือไม่ ผมหวังว่าคงไม่ แต่ไม่แน่ใจ

แต่ในแง่หนึ่ง พรรคห้าดาวของอิตาลี่ มีนโยบายแย่มาก คือ ต่อต้านผู้ลี้ภัยและคนที่พยายามย้ายถิ่นมาอยู่ในยุโรป ซึ่งเป็นนโยบายเหยียดสีผิวกับเชื้อชาติ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพรรคคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะตั้งขึ้น จะส่งเสริมสิทธิของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในไทยและสิทธิของคนที่เกิดในไทยแต่ยังไม่มีสัญชาติ

การพาสังคมไทยออกจากเผด็จการมีอีกหลายประเด็นที่สำคัญที่ต้องพูดถึง เช่นการยกเลิกกฏหมาย112 การปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน การลดบทบาทและงบประมาณทหาร การส่งเสริมพลังงานทางเลือกเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และในการยกเลิกเผด็จการของพวกหัวอนุรักษ์นิยมต่อสิทธิเสรีภาพของสตรี ต้องมีการพูดถึงสิทธิที่จะทำแท้งซึ่งเป็นสิทธิเหนือร่างกายตัวเอง

แน่นอนพรรคใหม่นี้ คงไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้หลังการเลือกตั้งครั้งแรก เพราะคงใช้เวลาที่จะได้รับการนิยมในสังคม และ อ.ปิยบุตร ได้เสนอว่าพรรคมุ่งหมายทำงานระยะยาวและต้องเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ประเด็นคือจะมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางสังคมในเรื่องสำคัญๆ โดยไม่เน้นรัฐสภาอย่างเดียวหรือไม่


ขอบคุณข้อเขียน :  "ใจ อึ๊งภากรณ์"