ลอกคราบความบิดเบือน? เปลือย"ธนาธร-ปิยะบุตร" แก้ ม.112"เพื่อไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองจริงหรือ" เพราะก่อนหน้ามีเสื้อแดง-เรื่องนี้ไม่มีปัญหา

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

 

ดูเหมือนการก่อเกิด "พรรคอนาคตใหม่" ของ “ไพร่หมื่นล้าน - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่แตะมือกับ "อดีตอาจารย์นิติราษฎร์" อย่าง "นายปิยะบุตร แสงกนกกุล" จะนำมาซึ่งการถูกขุดคุ้ยหลายต่อหลายเรื่องที่เขาเคยพูดไว้ในอดีต ทั้งในส่วนของธนาธรเอง และในส่วนของปิยะบุตร โดยเฉพาะรายหลังการที่เขาอยู่ในกลุ่มคนที่เคยเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยอ้างว่า "เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อจัดการฝ่ายตรงข้าม" นั้น ดูจะยิ่งเพิ่มน้ำหนักทำให้คนรู้ทันคลางแคลงใจต่อกรณีนี้ของพวกเขาอย่างไม่เสื่อมคลาย


ยิ่งล่าสุดวานนี้ การที่ "วรเจตน์ ภาคีรัตน์" ออกมาปกป้องศิษย์รัก "ปิยบุตร" ทำนอง "เรื่อง ๑๑๒ ไม่ควรมาโจมตีปิยบุตร หากเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ชี้มาที่ผมหรือนิติราษฎร์ก็ได้ ปิยบุตรขาดจากนิติราษฎร์ไปแล้วเพราะไปทำงานการเมือง แต่นิติราษฎร์คือทางวิชาการ แต่ละคนยืนคนละบทบาทแล้ว สื่อทำอะไรบางอย่าง ไม่ควรมโน ไม่เคารพต่อคนอ่าน ไม่มืออาชีพ แม้ผมเสียดายปิยบุตรแต่ก็เคารพเขา เมื่อเข้าสู่การเมืองจะเจออีกหลายอย่างที่ไม่เคยเจอในชีวิต โดยเฉพาะการเมืองไทย สังคมไทยไปต่อไม่ได้" นั่นยิ่งทำให้สังคมกังขาในเรื่องนี้มากขึ้นว่า...เป็นการแก้ตัวให้กันแบบน้ำขุ่น ๆ และแบ่งหน้าที่กันทำงานหรือไม่

เพราะนายปิยะบุตร นั้นเคยกล่าวอ้างถึงเรื่องนี้ในนาม "นิติราษฎร์" ในคราวนั้น และสังคมต่างบันทึกไว้ว่า

 

“ผมเคยร่วมกับอาจารย์หลายคนเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะทุกท่านคงทราบดีว่ามาตรา 112 ถูกนำไปใช้กลั่นแกล้งกันและทำลายศัตรูทางการเมืองฝั่งตรงข้ามที่คิดเห็นแตกต่างกัน การเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ

 

“ณ วันนี้มีหลายกรณีที่เป็นตัวบ่งชี้ให้เราเห็นว่าแม้กระทั่งรัฐและกลไกของรัฐเองก็มีปฏิกิริยาในแง่ของการจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายอาญามาตรานี้เช่นเดียวกัน ในอดีตเคยมีการตั้งคณะกรรมการศึกษา ปัจจุบันคงเห็นหนังสือของสำนักงานอัยการสูงสุดออกมาว่าต่อไปนี้จะให้อัยการสูงสุดเท่านั้นที่เป็นคนพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ เราเห็นทิศทางของศาลที่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 มากขึ้น เราเห็นทิศทางของการมีคำพิพากษาจำนวนมากที่ยกฟ้อง นั่นหมายความว่ารัฐเองก็ตระหนักดีถึงปัญหาของมาตรา 112” หนึ่งในผู้ก่อตั้ง "พรรคอนาคตใหม่" อ้าง


 อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างที่ว่า "เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อจัดการกับฝ่ายตรงข้าม" ของคู่หูไพร่หมื่นล้านนั้น ดูจะสวนทางกับความเป็นจริงอยู่มาก

เพราะในความเป็นจริงแต่ดั้งแต่เดิมมา ผู้ทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ก่อนปี 2550 มีการจัดทำประมวลกฎหมายอาญาขึ้น ชื่อ "กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127" มาตรา 98 ระบุโทษไม่เกิน 7 ปี (ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ) และปรับไม่เกิน 5,000 บาทด้วย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี 2500 ได้จัดทำประมวลกฎหมายขึ้นใหม่ ชื่อ "ประมวลกฎหมายอาญา"  ในมาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี (ไม่มีโทษปรับ) ต่อมาภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 โดยเพิ่มโทษเป็นโทษจำคุกขั้นต่ำ 3 ปี ไม่เกิน 15 ปี (กำหนดโทษขั้นต่ำเอาไว้ด้วย) มีไม่มากราย มีตัวเลขที่แน่ชัดจาก "ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง" หรือ TCIJ ว่า ในระหว่างปี 2535 – 2547 ตัวเลขของคดี ม.112 ที่มีการฟ้องร้องกันในศาลเฉลี่ยแล้วมีน้อยกว่า 10 คดี   

ขณะที่ในช่วงปี 2548 – 2552 หลังการรัฐประหารของ คมช.ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน ตัวเลขของคดีขยับไปที่ 547 คดี และขยับขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็นหลายพันคดีในปัจจุบัน

คำถามคือ...เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น กฎหมายนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ตามที่ปิยะบุตร...ผู้เสนอให้แก้ไขกล่าวอ้างจริงหรือ หากดูจากวันเวลานั่นน่าจะได้คำตอบที่ชัดเจน เพราะก่อนหน้าการก่อเกิดของ "ระบอบทักษิณ และคนเสื้อแดง" คือในช่วงปี 2535 – 2547 ตัวเลขของคดี ม.112 มีน้อยกว่า 10 คดี นั่นย่อมสะท้อนชัดโดยตัวเองอยู่แล้วว่า ยุทธศาสตร์ที่ "ระบอบทักษิณ" ใช้ปลุกระดมมวลชนคนเสื้อแดงลงสู่ท้องถนน เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่เป็นปฏิปักษ์กับพวกเขา...ก็คือการหยิบเอา "ม.112 มาเป็นเครื่องมือ และหวังผลทางการเมือง" โดยกล่าวโจมตีรัฐบาลที่อยู่ขั้วตรงข้ามพวกเขา แล้วโยงอำนาจรัฐไปยังสถาบันฯ  เพื่อหวังผลทางการเมืองอย่างที่กล่าว เช่นกับที่พวกเขากุเรื่อง "ไพร่-อำมาตย์" ซึ่งไม่มีอยู่จริงในสังคมปัจจุบัน ขึ้นมาหลอกล่อให้คนเสื้อแดงลงสู่ท้องถนน...เพื่อเป็นเบี้ยทางการเมืองให้กับพวกตน

เรื่องนี้เป็นความจริงเชิงประจักษ์จากเอกสารที่ปรากฎในที่ชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงบริเวณแยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ ช่วงเดือนเมษายนต่อพฤษภาคม ปี 2553 ก่อนถูกรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สลายการชุมนุม อย่าง “วิทยานิพนธ์คนเสื้อแดง” ที่กำหนดยุทธศาสตร์ 5 ประสาน 1 เป้าหมาย ให้คนเสื้อแดงกลุ่มต่าง ๆ นำไปกำหนดยุทธวิธีล้วนเกี่ยวพันกับสถาบันฯ ทั้งสิ้น

รวมทั้งคำปราศรัยอันดุเดือดของแกนนำอย่าง "นายจุตพร พรหมพันธุ์" ที่กล่าวพาดพิงถึงเรื่องนี้...ซึ่งสาธารณชนต่างรับทราบกันดี และมิอาจนำมากล่าวซ้ำในที่นี้ได้...นั่นยิ่งสะท้อนว่า ใครเป็นคนหยิบเรื่องนี้มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

มีผู้รู้ตั้งข้อสังเกตแบบฟันธงว่า ที่คดี ม. 112 มีผู้ต้องหาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในระยะหลังนั้น เป็นเพราะขบวนการไม่เอาสถาบันฯ มีความชัดเจน และแสดงตัวตนมากขึ้น มีคนกล้ากระทำความผิดที่เข้าข่ายมาตรานี้เพิ่มมากขึ้น คดีก็ต้องมากขึ้นเป็นธรรมดา กฎหมายอยู่นิ่งๆ แต่คนทำผิดเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายเอง กฎหมายก็ต้องทำหน้าที่ของมัน เหมือนกับคดียาเสพติดมีผู้กระทำผิดเพิ่มมากขึ้น ก็เพราะระยะหลังยาเสพติดระบาดมากเป็นเรื่องธรรมดา และเหตุนี้กฎหมาย ม.112 ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็น"

 

แม้ผู้รู้ท่านนั้นจะไม่ระบุว่า ขบวนการไม่เอาสถาบันฯ นั้นเป็นคนกลุ่มไหน แต่สังคมก็ทราบกันดีว่า...ย่อมหมายถึงคนเสื้อแดง...ดังที่มีคำกล่าวกันอย่างกว้างขวางว่า "เสื้อแดงไม่ได้ล้มเจ้าทุกคน แต่ทุกคนที่ล้มเจ้าล้วนเป็นเสื้อแดง" นั่นก็สะท้อนทุกอย่างในตัวเองอยู่แล้ว

 

ดังนั้น การที่ปิยะบุตร ที่แตะมือกับ “ไพร่หมื่นล้านอย่างธนาธร" ตั้งพรรคฯ และมองว่า ที่ต้องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยอ้างว่า "เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง" นั้น ล้วนเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่มาก  อย่างน้อยการมีกฎหมายนี้ไว้ ก็เพื่อให้...พวกไม่หวังดีต่อสถาบันฯ คิดให้มากหากจะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงไป ซึ่งว่าไปแล้วทั้ง “ธนาธร” และ "ปิยะบุตร" น่าจะรู้ดีว่า...หมายถึงใคร