ฤา..เริ่มหลงกลิ่นอำนาจ?! "ปิยบุตร" งัดมุกเดิมอ้างปฏิรูป-แต่เปิดช่องแทรกแซงศาล ยิ่งให้อยู่ในอุ้งมือ"นกม.ที่พร่องจริยธรรม" นั่นยิ่งมีแต่หายนะ

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

 

หลังนายปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในหัวหอก "พรรคอนาคตใหม่" ได้ผุดไอเดียจัดการ “มรดกของคณะรัฐประหาร” และโยนมันออกมาให้สังคมได้ถกเถียงผ่านเฟซบุ๊กของตน โดยนำเสนอแนวคิดหลากหลายประเด็น และแตะไปหลายองค์กร โดยเฉพาะการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับศาล ในช่วงท้าย ๆ ของข้อเสนอ

เรื่องนี้ทำให้สังคมไทยต้องหันกลับมามองว่า แท้แล้วเรื่องนี้ไม่มีอะไรใหม่ เพราะสิ่งที่ "ปิยบุตร" ในนาม "พรรคอนาคตใหม่” เสนอในวันนี้ แทบไม่ต่างอะไรกับข้อเสนอของ "แก๊งนิติราษฎร์" ในวันก่อน ก่อนที่จะต้องค่อย ๆ ถอยฉากตัวเองออกไป เหตุสังคมรู้ทัน และโดนก้อนอิฐปาสวนกลับมาจำนวนมาก เพราะมันไม่ต่างอะไรกับการให้ศาลฯ อยู่ในอุ้งมือ "นักการเมืองที่ล้วนแต่พร่องจริยธรรม" เลยสักนิด

โดยรายละเอียด ที่ปิยบุตร เสนอให้ปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวกับศาล ผ่านเฟซบุ๊กของตน คือ

1. ผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง ต้องได้รับการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

2. กำหนดให้มีผู้พิพากษาสมทบที่ได้รับการเลือกจากประชาชนหรือองค์คณะที่มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยในศาลระดับล่าง

3. กำหนดให้มีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง และเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ

4. คณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาและตุลาการต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชน

5. ปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยกระบวนการได้มาซึ่งผู้พิพากษาตุลาการและว่าด้วยหน่วยธุรการของศาล

6. แก้ไขที่มาของศาลรัฐธรรมนูญให้มีความเชื่อมโยงกับประชาชนและผู้แทนของประชาชน

7. กำหนดให้มีผู้ตรวจการศาลแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของศาล ตรวจสอบระเบียบต่างๆของศาลที่เพิ่มเงินให้แก่ตนเอง ตรวจสอบหลักสูตรอบรมต่างๆที่ศาลจัดขึ้น และรับเรื่องร้องเรียนจากผู้พิพากษา

8. กำหนดให้การศึกษาอบรมผู้พิพากษาและตุลาการต้องมีวิชาที่ว่าด้วยประชาธิปไตย และประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยร่วมสมัย

9. กำหนดความผิดอาญาในกรณีที่ผู้พิพากษาและตุลาการจงใจใช้กฎหมายอย่างบิดผัน บิดเบือน

10. รับรองเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นต่อศาลและคำพิพากษา ไว้ในรัฐธรรมนูญ แก้ไขปรับปรุงกฎหมายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ดูหมิ่นศาล กำหนดกรอบการใช้กฎหมายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ดูหมิ่นศาล

โดย นายปิยบุตร ระบุเอาไว้ตอนท้ายข้อเสนอว่า "ความคิดข้อเสนอต่างๆ เพราะตนอยากทดลองโยนความคิดนี้ ให้สังคมได้ลองถกเถียงอภิปรายกัน" ทั้งระบุด้วยว่า "เป็นความคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย และต้องการแก้ไขปัญหาที่คณะรัฐประหารได้ก่อทิ้งเอาไว้ และไม่อยากให้วงจรรัฐประหารกลับมาอีก"


อย่างไรก็ตาม หากยังจำกันได้ข้อเสนอของ "ปิยบุตร" ในนาม "พรรคอนาคตใหม่” ในวันนี้แทบไม่ต่างอะไรกับข้อเสนอของ "แก๊งนิติราษฎร์" อันเป็นกลุ่มอาจารย์สอนกฎหมายที่เขาร่วมก๊วนอยู่ด้วยในช่วงปี 2555 หรือเมื่อกว่า 6 ปีก่อนที่ทั้งแก๊ง "ร้อนวิชา" อย่างหนักถึงขั้นเสนอจัดทำ "รัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ – ศาล – กองทัพ -สถาบันการเมือง” โดยพวกเขาอ้างว่า เพื่อให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ (ตามมุมมองของพวกเขา-ผู้เขียน)

ครั้งนั้นข้อเสนอของพวกเขามีด้วยกัน 8 ข้อ โดยเฉพาะข้อ 2 ที่ล้วงลูกไปถึงที่มาขององค์คณะผู้พิพากษานั้น เป็นข้อเสนอเดียวกับที่โยนออกมาในวันนี้แบบเป๊ะ ๆ  เพราะข้อ 2 ระบุเอาไว้ว่า

"2.ผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง ต้องได้รับการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา"

ช่วงนั้นพลันที่ "แก๊งนิติราษฎร์" นำเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา โดยเฉพาะประเด็นที่มาของผู้พิพากษา (ซึ่งในที่นี้ก็จะกล่าวเฉพาะประเด็นนี้) ก็ถูกสังคมในวงกว้างโยนก้อนอิฐสวนกลับไปในทันที

บางคนบางคณะถึงกับเผาหุ่น “แก๊งนิติราษฎร์" จากเหตนี้ด้วยซ้ำ เพราะหลายคนรู้สึกอดรนทนไม่ไหวกับความเหิมเกริมคนกลุ่มนี้ ทั้งยังมองทะลุไปเห็นว่า แท้แล้วจุดหมายปลายทางของพวกเขาต้องการสิ่งใดกันแน่


โดยเฉพาะข้ออ้างที่ว่า ปฏิรูประบบศาลตามข้อ 2 นั้น ต่อให้มองด้วยหัวใจที่เป็นธรรมก็ยังไม่เห็นทางว่า จะเป็นการปฏิรูปตรงไหน จะมีก็แต่เป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายการเมือง ซึ่งในเมืองไทยต่างก็ทราบกันดีว่า...มีจริยธรรมสูงส่งหรือต่ำเตี้ยเรี่ยดินถึงขีดสุดเพียงไหน...เข้ามาแทรกแซงอำนาจตุลาการได้อย่างสะดวกโยธิน และนั่นเท่ากับเป็นการบ่อนเซาะฝ่ายตุลาการ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 โครงสร้างอำนาจหลักในระบอบประชาธิปไตย (ที่พวกเขามักชอบหยิบมาอ้าง-ผู้เขียน) ที่ถูกออกแบบมาให้คานอำนาจกับอีก 2 ส่วน ทั้งฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติเอาไว้ เพราะเมื่อฝ่ายตุลาการขาดความเป็นอิสระ และไปขึ้นตรงต่อนักการเมืองคือฝ่ายบริหาร ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นเพมาจากนักธุรกิจหลากหลายประเภท ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายด้วยแล้ว...นั่นยิ่งทำให้ความพินาศอยู่ใกล้แค่เอื้อม...เพราะดุลยอำนาจถูกทำลายจนสูญสิ้นไปแล้ว และความน่าเชื่อถือของศาลจะถูกลดลงทันที กระทั่งอาจไม่หลงเหลือในสายตาประชาชน

จริงอยู่ แม้ปิยะบุตร จะห้อยท้ายไว้ว่า เขาพร้อมไปอภิปรายข้อเสนอเหล่านี้ในทุกเวที และข้อเสนอข้ออื่นๆ จะดูน่าสนใจ แต่เอาเข้าใจก็คงไม่มีใครหลงติดเบ็ดไปร่วมขยายประเด็นให้เขาง่าย ๆ เพราะที่ผ่านมาการให้มีการถ่วงดุล และตรวจสอบซึ่งกันและกัน นับเป็นหนึ่งในที่พึ่งพิงของสังคม ในยามที่อำนาจส่วนหนึ่งส่วนใดถูกแทรกแซง ขาดความเป็นอิสระ อำนาจส่วนที่เหลือก็จะได้เข้ามาคลี่คลายปัญหาให้กับบ้านเมือง

เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งเกิด "ตุลาการภิวัฒน์" ขึ้น หลังจากที่ "ฝ่ายนิติบัญญัติ และบริหาร" ถูกระบอบทักษิณรวบอำนาจไว้จนหมดสิ้นในช่วงเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ห้วงยามนั้นเหลือแต่ "อำนาจตุลาการ" ที่ยังเป็นเสาหลักให้แก่บ้านเมือง และกลายเป็นที่พึ่งเพียงหนึ่งเดียวของสังคมในตอนนั้น

...เมื่อสาธยายมาจนถึงตรงนี้ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องมีคำถามว่า แท้แล้ว "ปิยบุตร" หวังบ่อนเซาะอำนาจตุลาการ และรวบไปไว้ในมือนักการเมือง...ที่ทุกวันนี้ตนเองเริ่ม ๆ ที่จะไปเดินบนเส้นทางนั้น...ใช่หรือไม่

เพราะผู้สันทัดกรณีต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์ (ซึ่งก็คือข้อเสนอของ "ปิยบุตร" ในนาม "พรรคอนาคตใหม่” ในวันนี้) ช่างไม่ต่างอะไรจากการสนับสนุนให้นักการเมือง “รวบอำนาจ” ทุกฝ่ายเอาไว้ในมือตนเอง ซึ่งคนพวกนี้จำนวนมากล้วน "พร่องจริยธรรม" จริงไม่จริงดูได้จากความโยงใยในคดีทุจริตต่างๆ เอาก็ได้...และเมื่อนั้นความวิบัติคงมาเยือนสังคมไทยในเวลาไม่ช้าไม่นานแน่ ๆ