นี่ไง-อีกเรื่องที่"เสื้อแดง"ไม่มีวันสำเหนียก? สั่งคุก6 ปี“สุธรรม อดีตผอ.ทศท."เอื้อAIS 6.6 หมื่นล้าน บอกอะไร-ตบหน้าคนอ้าง"รวยแล้วไม่โกง"มั้ย?

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

 


นี่ไง...อีกหนึ่งเรื่องที่ "เสื้อแดง" ไม่มีวันสำเหนียก หรือต่อให้พอได้ยินข่าวสารมาบ้าง...ก็ไม่มีทาง...ตาสว่าง เพราะเชื่ออย่างงมงายไปแล้วว่า...ทักษิณคือเทวดา และถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง แม้คำพิพากษาของศาลปราบโกง (อุทธรณ์) เมื่อวัน 2 วันก่อน จะสั่งจำคุก 6 ปี “นายสุธรรม มลิลา” อดีต ผอ.ทศท. ฐานทุจริตประพฤติมิชอบ ไปเซ็นลดส่วนแบ่งรายได้มือถือให้ AIS ของ "นายใหญ่" ทำรัฐเสียรายได้ 6.6 หมื่นล้าน พร้อมสั่งให้เจ้าตัวชดใช้ค่าเสียหาย 4.6 หมื่นล้าน...เรื่องนี้บอกอะไรกับสังคมไทย ใช่หรือไม่ว่า ตบหน้า "คนที่อ้างรวยแล้วไม่โกง" ไปฉาดใหญ่...เพราะท้ายที่สุดก็อาศัยอำนาจทางการเมือง...เมื่อตนเองเข้าไปเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว...และใช้มันกดดันกลาย ๆ เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์...กระทั่งทำให้ผู้เซ็นแก้ไขให้อย่าง “สุธรรม มลิลา” อดีต ผอ.ทศท. ติดร่างแหซวยไปด้วย...ถูกสั่งคุก 6 ปี แต่โชคดีที่ยังได้ประกันสู้คดีในชั้นฎีกา

 

หากจำกันได้ ก่อนเลือกตั้งใหญ่ปี 2544 ที่ "นายทักษิณ ชินวัตร" จะเข้าสู่การเมืองเต็มตัวในฐานะหัวหน้า "พรรคไทยรักไทย" วาทกรรม "รวยแล้วไม่โกง" สะพัดอยู่ในสังคมไทยจนขึ้นสู่กระแสสูง กระทั่งทำให้ "ทักษิณ" ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ จนได้ แม้จะมีบาดแผลมาจากกรณีซุกหุ้นด้วยอีกวลีที่ว่า "บกพร่องโดยสุจริต" จนเอาตัวรอดมาได้ก็ตาม

 

แต่แล้ววาทกรรม "รวยแล้วไม่โกง" ก็ได้รับการพิสูจน์ในเวลาไม่นานว่า...แท้แล้วนั่นล้วนเป็นคำโกหกมดเท็จของเศรษฐีผู้ละโมภ เพราะหลังทักษิณเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งในปี 44 นั้น เขาได้ใช้อำนาจทางการเมืองแก้ไขกฎหมาย และสัมปทานรัฐฯ หลายโครงการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเอง และวงวานศ์ว่านเครือของตนเองแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม

เอาแค่ที่เป็นคดีอยู่ก็แทบนับไม่ถ้วน ทั้งการปล่อยกู้ให้กลุ่มกฤษดามหานครของแบงค์กรุงไทยที่มิชอบ , สั่งเอ็กซิมแบงค์ปล่อยกู้รัฐบาลทหารพม่า เพื่อซื้ออุปกรณ์ในเครือบริษัทชินคอร์ป แก้กฎหมายแปลงภาษีสัมปทานมือถือเป็นสรรพสามิต...เอื้อประโยชน์ให้ตัวเองเต็ม ๆ รวมทั้งกรณีที่ดินรัชดาฯ ที่ศาลพิพากษาแล้ว...และทำให้ต่างกลายเป็นนักโทษหนีคดี...จากกรณีนี้ รวมทั้งอื่น ๆ อีกมาก จนรัฐบาลทักษิณถูกนิยามศัพท์ใหม่ในเรื่องนี้ว่า "ต้นกำเนิดคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย"


แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากหลายต่อหลายคดีดังกล่าวข้างต้น กลับมีอีก 1 คดีที่ผู้คนเกือบจะลืมเลือนไป นั่นคือ คดีที่ “นายสุธรรม มลิลา” อดีต ผอ.ทศท. ไปเซ็นลดส่วนแบ่งรายได้มือถือแบบบัตรเติมเงิน “วันทูคอล” เอื้อประโยชน์ให้ AIS หลังบริษัทของนายใหญ่ ทำหนังสือลงวันที่ 22 ม.ค. 2544 ถึง ผอ.ทศท. ขอให้พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid Card) โดยอ้างเพื่อความเป็นธรรมในการแข่งขันธุรกิจ แล้วนายสุธรรม ผอ.ทศท.ในขณะนั้นสนองตอบความต้องการทุกอย่าง กระทั่งถูกศาลอุทธรณ์สั่งคุกไป 6 ปี เมื่อวานนี้ ฐานทุจริตประพฤติมิชอบ ทำรัฐสูญรายได้ 6.6 หมื่นล้าน พร้อมสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายคืนแผ่นดินอีก 4.6 หมื่นล้าน (หากพิจารณาจากวันที่ลงหนังสือของ AIS จะพบว่า ทำขึ้นก่อนทักษิณเข้าสู่อำนาจทางการเมืองเล็กน้อย แต่หลังจากนั้น การประชุมของ ทศท. ต่อกรณีนี้ ล้วนเป็นไปภายใต้รัฐบาลทักษิณทั้งสิ้น)

 
หากจะทำความเข้าใจกับคดีนี้ ต้องย้อนไปช่วงก่อนหน้าที่ทักษิณ จะเข้าสู่อำนาจทางการเมือง บริษัท AIS ของเขาได้ทำสัญญาสัมปทานมือถือแบ่งรายได้จากการประกอบกิจการให้แก่ ทศท.ในอัตราก้าวหน้า โดยจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ 25% ในช่วงปี 2543-2548 และต้องเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในช่วงปี 2549-2553 ส่วน 5 ปีสุดท้ายคือช่วง 2553-2558 จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 35% ให้แก่ ทศท.


แต่หลังจากนายทักษิณเข้าสู่อำนาจรัฐ หนังสือที่ลงวันที่มาตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 2544 ของ AIS ดังกล่าวที่ส่งถึง ผอ.ทศท. ขอให้พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid Card) อ้างความเป็นธรรมในการแข่งขันธุรกิจ ก็ได้รับการสนองตอบ จากนายสุธรรม ผอ.ทศท.ในขณะนั้นในเวลาต่อมา โดยอุกอาจถึงขั้นไปแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา กำหนดส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์มือถือแบบใช้บัตรเติมเงินในอัตราร้อยละ 20 คงที่ตลอดอายุสัญญา กระทั่งนำมาสู่คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตฯ วานนี้

โดยศาลฯ ระบุชัดส่วนหนึ่งว่า ระหว่างวันที่ 12 เม.ย. – 15 พ.ค. 2544 จำเลยเป็น ผอ.การ ทศท. และ กก.ทศท.ได้กระทำความผิดกฎหมายหลายบท โดยทำสัญญาอนุญาตให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัดมหาชน (AIS) ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยบริษัทเอไอเอสจะต้องลงทุนอุปกรณ์ทั้งหมด และยกให้ ทศท.ก่อนที่จะนำไปให้บริการแก่ผู้ใช้บริการ และกำหนดให้เอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์ปีที่ 1-5 ร้อยละ 15 ปีที่ 6 -10 ร้อยละ 20 ปีที่ 11-15 ร้อยละ 25 และปีที่ 16 -20 ร้อยละ 30

ต่อมา เอไอเอสมีหนังสือลงวันที่ 22 ม.ค.44 ถึง ผอ.ทศท. ขอให้พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ฯ โดยให้เหตุผลว่า ทศท.ปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายกรณีการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (Tac) จากเดิมอัตราร้อยละ 200 ต่อเลขหมาย ต่อเดือน เป็นอัตราร้อยละ 18 ของหน้าบัตร แต่นายวิเชียร นาคสีนวล ผอ.บริหารผลประโยชน์ เห็นว่า กรณีมิใช่เป็นการปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่าย แต่เป็นการกำหนดอัตราค่าเชื่อมโยงขึ้นใหม่ และมิใช่การลดส่วนแบ่งรายได้ เหตุผลไม่สมเหตุผล จึงไม่พิจารณาปรับลดส่วนแบ่งรายได้ และเมื่อเทียบกับเงินที่บริษัท Tac จ่ายให้บริษัท กสท. และ ทศท.แล้ว บริษัท Tac จ่ายเงินมากกว่าเอไอเอสจ่ายให้ ทศท.


ต่อมา มีการจัดทำกรณีศึกษาแบบอัตราก้าวหน้าและอัตราคงที่ เสนอต่อนางทัศนีย์ มโนรถ รอง ผอ.ทศท. และนายสายัณห์ ถิ่นสำราญ ผอ.การเงินและงบประมาณได้สั่งให้ศึกษาเพิ่มเติม โดยหลังจากมีการประชุม คณะกรรมการกลั่นกรองวาระการประชุมแล้ว ได้รับข้อเสนอของเอไอเอส และกำหนดส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าในอัตราร้อยละ 20 คงที่ตลอดอายุสัญญา จำเลยได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารผลประโยชน์ทำเอกสารเสนอกรรมการ ทศท.ให้ทันการประชุมครั้งต่อไป และการประชุม ทศท.ครั้งที่ 5/2544 เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2544 ที่ประชุมมีความเห็นว่าที่เอไอเอสขอลดส่วนแบ่งรายได้จากอัตราร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 20 นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมแล้ว ทศท.และประชาชนน่าจะได้รับประโยชน์โดยตรง จึงมีมติเห็นชอบส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบบัตรจ่ายเงินล่วงหน้าวันทูคอลที่ ทศท.จะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าหน้าบัตร โดยมีเงื่อนไขให้ ทศท.เจรจากับเอไอเอสให้ได้ข้อยุติก่อน ฯลฯ (โปรดอ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม)

ตอนท้ายของคำพิพากษาที่ยาวเหยียดนั้น ศาลฯ ยังระบุว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 มาตรา 157 จึงพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) จำคุก 9 ปี พยานหลักฐานที่จำเลยนำเข้าไต่สวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 6 ปี และให้จำเลยชำระเงิน 46,855,463,990.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 33,030,343,367.97 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2559

ว่าไปแล้ว...คำพิพากษาข้างต้นนั้น...เปลื้องเปลือยคำว่า "รวยแล้วไม่โกง" ของนายใหญ่จนสิ้น และหากจะพูดกันด้วยความเป็นธรรม แม้คดีนี้ศาลชั้นต้นเคยยกฟ้อง นายสุธรรมจำเลยมาก่อนหน้า และการกลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในวันนี้...จะยังเหลือประตูให้ นายสุธรรมสู้ในชั้นฎีกาได้อีกรอบ และเจ้าตัวก็ได้ยื่นประกันตัวออกไปด้วยวงเงินประกัน 8 แสนบาทแล้ว..แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องสนุกที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลตอนแก่...จากกรณี "เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้ลองนั่ง แต่เอากระดูกมาแขวนคอ" แน่...และชะตากรรมนั้นก็หมิ่นเหม่-ผูกไว้บนเส้นด้ายอย่างยิ่ง เพราะคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์นั้น...แจ่มชัดจนยากจะโต้แย้ง และต่อให้เป็นทนายมือดี...ก็อาจยังต้องเหนื่อยหนัก...หากหวังจะชนะในศาลฎีกา

 

อ่าน รับใช้พวกขี้ฉ้อโดนอีกหนึ่ง?! ศาลอุทธรณ์ฯ สั่งคุก 6 ปี "สุธรรม มลิลา" อดีตบิ๊ก ทศท. เอื้อ AIS ทำรัฐสูญรายได้ 6.6 หมื่นล้าน