ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

   คำประกาศกร้าวจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ไล่ตะเพิดอดีตสส.พรรคที่คิดจะหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกฯหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า  จะว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรแม้แต่น้อย  เพราะนายอภิสิทธิ์ก็ได้ยืนยันหลักการประชาธิปไตยที่นายอภิสิทธิ์ยึดหมั่นมาโดดยตลอด

   หากย้อนไปเมื่อ1 เม.ย.61 หลังการเปิดให้พรรคการเมืองเก่าได้ยืนยันสมาชิกพรรคฯเป็นวันแรก ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ให้ สัมภาษณ์ถึงทิศทางอนาคตพรรคต่อจากนี้  ช่วงหนึ่ง นายอภิสิทธิ์ กล่าว่า 

  “ผมยืนยันด้วยว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะเดินตามวิถีทางประชาธิปไตย หากสนับสนุนพรรคก็ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรคให้เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนหากใครจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ต้องมาที่นี่ เพราะมีทางเลือกอื่นให้เลือกอยู่แล้ว และแต่ส่วนตัวผมไม่สามารถตอบแทนพรรคได้ว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ หรือทหารมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แล้วจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ แต่ผมขอให้ส.ว.ที่มาจากการสรรหาเคารพเสียงของประชาชนที่ได้เลือกมาด้วย” 

แบ่งเป็น 3 ขั้วการเมือง  เสียงพรรคเพื่อไทย เสียงพรรคประชาธิปัตย์ เสียงจากสมาชิกวุฒิสภา  250 เสียง และพรรคที่หนุนพล.อ.ประยุทธ์ โดยการจะจัดนายกรัฐมนตรีได้  ต้องมี2 ขั้วจบมือกันกลายเป็น1ขั้วใหญ่  การสรรหานายกฯหลังการเลือกตั้งจะต้องใช้เสียงของสมาชิกรัฐสภาคือ สส. 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 250 คน รวมกันให้ได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภาคือ 375 เสียงขึ้นไป โดยสว. 250 คน มาจากการสรรหาโดยคสช.ทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งด้วยระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่ทุกคะแนนเสียงมีค่าในการคำนวณ สส.ที่แต่ละพรรคจะได้รับทำให้พรรคใหญ่จะได้สส.น้อยลงโดยจะถูกเฉลี่ยไปให้พรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก

แต่อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันเปิดทางให้มีนายกฯคนนอกได้ โดยหากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในรอบแรก พรรคการเมืองไม่สามารถเลือกนายกฯที่มาจากหัวหน้าพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้ก็จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อเสนอชื่อและลงมติเลือกนายกฯที่เป็นคนนอกพรรคการเมือง และการเลือกนายกฯจากหัวหน้าพรรคการเมืองเมื่อไม่สามารถตกลงกันได้มาถึงทางตัน แน่นอนว่าจะต้องผ่าทางตันด้วยการสรรหาคนนอกมาเป็นผู้นำประเทศ 

เพราะฉะนั้นทางเลือกแรกก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ จับกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะมีความเป็นได้หรือไม่ แม้ทั้งสองพรรคปูมหลังความแค้นชนิดไม่เผาผี อีกทั้งอุดมการณ์จุดยืนและแนวทางการเมืองของทั้งสองพรรคต่างกัน แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นต้องประเมินในสถานะการเมืองปัจจุบัน ซึ่งขึ้นกับการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะที่ผ่านทางพรรคเพื่อไทย ได้แบท่ารออยู่แล้ว

 ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เองก่อนหน้านี้ได้เคยพูดชัดเจนถึงโอกาสความเป็นไปได้ ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่มีนายทักษิณ  อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ถ้าตราบใดที่ทักษิณยังสั่งการควบคุมได้อยู่แบบนี้ ไม่มีทางเป็นไปได้" 

2 พรรคเพื่อไทย จับกับสมาชิกวุฒิสภาและพรรคที่หนุนพล.อ.ประยุทธ์  ซึ่งทางเลือกนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะระบอบทักษิณถือเอาว่าพล.อ.ประยุทธ์เป็นศัตรูตัวฉกาจ ที่ค่อยขัดขวางเส้นทางสู่อำนาจของระบอบทักษิณ ทางเลือกนี้ปิดประตูตายไปได้เลย

3 พรรคประชาธิปัตย์ จับกับสมาชิกวุฒิสภาและพรรคที่หนุนพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อนายอภิสิทธิ์ออกมาประกาศเช่นนั้นแล้ว ก็ดูจะปิดตายอีกเช่นกัน เว้นแต่ว่าจะมีการเปลี่ยนหัวหน้าพรรค ซึ่ง นายอภิสิทธิ์เองก็ได้ประกาศในวันที่ยืนยันสมาชิกพรรคว่า

“พรรคยุคใหม่ จะมีนโยบายให้สมาชิกพรรค หยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรง มีกลไกลตรวจสอบภายในเพื่อความโปร่งใสและยกระดับมาตรฐาน จริยธรรมสูงกว่ากฎหมาย มีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โดยเราจะเน้นอบรมสัมมนาบุคลากรทั้งในและนอกพรรค เรื่องประชาธิปไตย และนโยบายสาธารณะอย่างต่อเนื่อง จะต้องเป็นพรรคการเมืองที่ตอบสนองประชาชน สร้างนโยบายจากการมีส่วนร่วม อิงหลักวิชาการ งานวิจัย เชื่อมโยงกับปราชญ์ชาวบ้าน ทดลองนำร่องนโยบายในพื้นที่”

การเลือกหัวหน้าพรรค แบบไพรมารีโหวตนั้น จากแต่เดิมอำนาจในการเลือกหัวหน้าพรรคเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารพรรค เมื่อเปลี่ยนเป็นระบบไพรมารีโหวต นั้นก็หมายความว่า อำนาจไปอยู่ที่ สมาชิกพรรคแล้ว ดังนั้นในพรรคประชาธิปัตย์ ก็มมีอยู่ 2 กระแส ด้านหนึ่งก็ยืนยันหนักแน่นตามแนวคิดของนายอภิสิทธิ์ นั้นก็คือการที่จะไม่เข้ารวมกับเผด็จการ แต่อีกด้านหนึ่งกระแสที่สอง เห็นว่าความคิดดังกล่าวเป็นความคิดไร้เดียงสาทางการเมือง หากจำเป็นก็ควรจะจับมือกับสมาชิกวุฒิสภา เพื่อหนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกต่อไป ก็จะทำให้เป็นรัฐบาลได้อย่างยาวนาน ตามแบบฉบับในสมัยของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  ครั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

ล่าสุด3 เม.ย.61  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า
“พูดอะไรมาก็ระมัดระวังไว้ด้วย การพูดจาต่างๆ ต้องระมัดระวัง และอยู่ที่ประชาชนเขาจะเชื่อถือได้แค่ไหนอย่างไร ผมไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องมาสนับสนุน แต่กรุณาพูดจาให้มันดีๆ ใครจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนผมก็แล้วแต่เขา ไอ้การพูดอย่างนี้มันฟังดูดีหรือเปล่า ให้เกียรติซึ่งกันและกันหรือเปล่า ถ้าบางเวลาผมมีอารมณ์ขึ้นมาแล้ว ผมพูดไปมันก็เสียหายด้วยกันทั้งหมด ผมไม่อยากจะมีอารมณ์ตรงนี้ประชาชนก็ไปใคร่ครวญเอาเองและดูด้วยวันหน้าเขาจะทำตัวกันอย่างไรที่ออกมาพูดกันวันนี้ลองคอยดูวันหน้าก็แล้วกันเลือกตั้งแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นแล้วเขาจะเปลี่ยนท่าทีอะไรกันอย่างไรก็ไปคอยดูตรงนู้นแล้วกัน แล้วค่อยไปถามเขาอีกที”
อย่างไรก็ตามก็ต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะมีการดำเนินการเลือกหัวหน้าพรรคเมื่อไหร่ แต่ผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตามแต่ ก็ต้องชื่นชม นายอภิสิทธิ์ ที่ทำให้เป็นตัวอย่างสำหรับพรรคการเมืองที่ให้สมาชิกได้มีโอกาสหยังเสียงเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรง