ขว้างงูไม่พ้นคออีกแล้ว? "กูรูหน้าแหก-พิชัย" หวังเหน็บคสช.เรื่องพลังงาน อ้างถ่านหินล้าหลังแล้ว ดันลืมข่าว"นายใหญ่" ซื้อเหมืองฯปี55 กระฉ่อนโลก

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

 

ขว้างงูไม่พ้นคออีกแล้ว?! "กูรูเศรษฐกิจจอมปลอมแห่งพรรคเพื่อไทย พิชัย นริพทะพันธุ์" ผู้หน้าแหกมาจากกรณี "แจ๊ค หม่า" เมื่อสัปดาห์ก่อน ไม่เข็ดออกมาขย่ม คสช.อีกครั้ง รอบนี้หวังเหน็บเรื่องนโยบายพลังงาน โดยอ้างทำนอง รัฐบาลกำลังเดินผิดทาง สวนกระแสโลกในเรื่องดังกล่าว เหตุประกาศไม่รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นเวลา 5 ปี ทั้งระบุปัจจุบันทิศทางของโลกผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินน้อยลงแล้ว แต่ไทยยังพยายามผลักดันเรื่องนี้อยู่ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้มีการทุจริตการซื้อหุ้นเหมืองถ่านหินในอินโดนิเซียหรือไม่ แต่ทว่า "นายพิชัย" กลับลืมไปว่า "นายใหญ่ทักษิณ" เคยทุ่มเงินกว่า  400 ล้านบาท เพื่อเข้าทำเหมืองถ่านหินในประเทศแอฟริกาใต้ในปี 2555 และถึงแม้จะมีการออกมาประกาศว่า...ขายหุ้นไปแล้วในตอนหลัง แถมถัดจากนั้นอีก 1 ปี คือในปี 2556 กลับมีข่าวซื้อหุ้นบริษัทเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย...เสียอีก

 

เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวัน 2 วันก่อน ที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยุครัฐบาล "หญิงปู" ออกมากล่าวทำนอง ตามที่จะมีการเปิดประมูลแหล่งพลังงาน บงกช และ เอราวัณ ก็อยากให้รัฐบาลคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศ และเห็นควรที่จะนำก๊าซขึ้นมาใช้ก่อนที่อนาคตการใช้พลังงานของโลกจะเปลี่ยนไป โดยเขายืนยันว่า จากการติดตามนโยบายพลังงานของรัฐบาลพบว่า รัฐบาลกำลังเดินผิดทาง สวนกระแสกับทิศทางของโลก โดยกระทรวงพลังงานได้ประกาศหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นเวลา 5 ปี โดยเฉพาะไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ และ พลังลม ซึ่งสวนกับกระแสของโลกที่ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและมีต้นทุนลดลงเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของไทยต้องหยุดชะงัก ขนาดในประเทศอังกฤษยังติดตั้งแผงโซล่าร์ผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดให้กับประชาชนรายได้น้อยฟรี 800,000 ครอบครัว และรัฐบาลยังรับซื้อไฟฟ้าในราคา Feed-in-tariff ด้วย

นายพิชัย อ้างด้วยว่า อีกทั้งการที่แผนนโยบายพีดีพีใหม่ ที่จะให้ กฟผ ผลิตไฟฟ้าในสัดส่วน 51% จะยิ่งเป็นการย้อนยุค เพราะควรจะส่งเสริมให้เอกชนดำเนินการมากกว่าเพราะมีประสิทธิภาพกว่า ในต่างประเทศที่เจริญแล้วเขาก็ส่งเสริมให้เอกชนทำ และก็มีระบบที่ดีควบคุม ไม่ต้องกังวลเรื่องความมั่นคง เพราะเอกชนเองก็คงไม่อยากล้มละลายหากมีปัญหาการผลิตไฟฟ้า

การส่งเสริมให้ กฟผ. ผลิตมากขึ้นนี้ ไม่แน่ใจว่าจะ เท่ากับ เป็นการส่งเสริมให้ใช้ถ่านหินมากยิ่งขึ้นหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันทิศทางของโลกผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินน้อยลงแล้ว แต่ประเทศไทยยังพยายามจะผลักดันการใช้ถ่านหินอยู่ พร้อมกับ ข้อสงสัยว่ามีการทุจริตการซื้อหุ้นเหมืองถ่านหินในอินโดนิเซียที่ไม่สมเหตุสมผล จ่ายเงินหมื่นกว่าล้านแต่ได้หุ้นแค่ 11-12% เท่านั้น และข้อครหาการจัดซื้อโรงไฟฟ้าถ่านหินในราคามหาโหดแพงกว่าปกติเป็นเท่าๆ

“จึงอยากให้มีการตรวจสอบให้แน่ชัด และอยากให้ทบทวนนโยบายและแผนพีดีพีเสียใหม่ ไม่อยากให้มีการกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศผิดทิศทาง เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น ประเทศจะเสียหายอย่างมากในอนาคต ทั้งนี้นโยบายพลังงานของพรรคเพื่อไทยจะสอดคล้องกับทิศทางของโลก เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน และจะมีการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นในทุกโครงการพลังงานของรัฐบาลนี้” นายพิชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม "กูรูเศรษฐกิจจอมปลอมของพรรคเพื่อไทยอย่างนายพิชัย" คงลืมไปว่า ช่วงปี 2555 "ทักษิณ ชินวัตร" เจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง (แม้ช่วงหลังจะอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องกับพรรคแล้วก็ตาม) และเป็นนายใหญ่ของพวกเขา กลับมีข่าวครึกโครมว่า เขาเตรียมทุ่มเงินกว่า  400 ล้านบาท เพื่อเข้าทำเหมืองถ่านหินในประเทศแอฟริกาใต้ ร่วมกับ "มิแรนดา มิเนรัล โฮลดิงส์" บริษัทเหมืองชื่อดังในพื้นที่ ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่ย่านมาร์แชลล์ สตรีท ในกรุงโจฮันเนสเบิร์ก เมืองหลวงของแอฟริกาใต้


โดยเรื่องนี้ ถูกเปิดเผยผ่าน "เว็บไซต์ ไมน์นิ่งวีคลี (miningweekly.com)" ซึ่งเป็นเว็บข่าวในวงการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศแอฟริกาใต้รายงานว่า บริษัทกลุ่มทุนของ อดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ชื่อว่า Global PS Telecom Investment Company ที่มีฐานที่ตั้งอยู่ใน เมืองดูไบ ได้กว้านซื้อของหุ้นริษัท Miranda Minerals ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ กรุงโยฮันเนสเบิร์กไปกว่า 34.99 % เป็นเงินกว่า 420 ล้านบาท

โดย พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวถึงเรื่องนี้่ในครั้งนั้นว่า ที่เลือกบริษัท มิรันด้า เพราะเป็นบริษัทการลงทุนเพื่อที่จะทำการสำรวจแร่และผลิตแร่กึ่งสำเร็จใน ภูมิภาคแอฟริกาใต้ ซึ่งเน้นไปที่ถ่านหิน ซึ่งเป็นสินค้าที่ต่างประเทศ มีความต้องการ เช่นเดียวกับแร่อื่นๆที่ทำให้บริษัทโกลบอลพีเอสรู้สึกตื่นเต้น

ในรายงานข่าวยังระบุด้วยว่า เหมืองถ่านหินที่ นายทักษิณ เตรียมเข้าไปลงทุนในครั้งนั้น ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดควาซูลู-นาตาล ทางภาคตะวันออกของแอฟริกาใต้ โดยกำหนดการทำเหมืองถ่านหินดังกล่าวจะเริ่มต้นภายในปี 2555 สอดคล้องกับการออกมายืนยันของ ดร.เลเลา โมฮูบา ประธานบริษัทมิแรนดา มิเนรัล โฮลดิงส์ ที่เพิ่งก้าวขึ้นมารับตำแหน่งไม่นาน ที่ออกมาเปิดเผยในเรื่องดังกล่าวว่า ทางบริษัทจะเริ่มกระบวนการขุดถ่านหินจากเหมืองในจังหวัดดังกล่าวภายในปี 2555 นี้

แม้ในภายหลัง นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของนายทักษิณ จะออกมาชี้แจงว่า  บริษัท โกลบอล พีเอส ไมนิ่ง อินเวสเมนต์ ของนายทักษิณ ได้ขายหุ้นในบริษัท มิรันด้า ไปหมดแล้ว และนายทักษิณ ไม่ได้ถือหุ้นใน บริษัท มิรันด้าแล้ว (ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการยืนยันว่า นายทักษิณได้ซื้อหุ้น และลงทุนในเหมืองถ่านหินร่วมกับ "มิแรนดา" จริง ก่อนจะขายหุ้นออกไป ตามคำอ้างของนายนพดล)

แต่ทว่า...ไม่เพียงแต่แค่นั้น เพราะถัดมาอีกแค่ปีเดียว คือในปี 2556 "ทักษิณ" ก็มีชื่อพัวพันในการซื้อหุ้นบริษัทเหมืองถ่านหินของตระกูลบัครี มหาเศรษฐีอินโดนีเซียขึ้นมาอีกครั้ง โดยเรื่องนี้ถูกเปิดเผยผ่าน "เว็บไซต์ซันเดย์ ไทม์ส" สื่อออนไลน์ชื่อดังของเมืองผู้ดี โดยต์ซันเดย์ ไทม์ส รายงานว่า "ทักษิณ" เจรจาซื้อหุ้น 23.8% ของตระกูลบัครี มหาเศรษฐีอินโดนีเซียที่ถืออยู่ใน "บริษัทเหมืองถ่านหิน ภูมิ พีแอลซี" ส่วนมูลค่าในการเจรจาเพื่อซื้อหุ้นดังกล่าว ยังไม่เป็นที่แน่ชัด โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ว่าจ้างยูบีเอส เป็นผู้เข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้

สำหรับ "บริษัทเหมืองถ่านหิน ภูมิ พีแอลซี" ก่อตั้งขึ้นโดย แนท รอธไชลด์ และตระกูลบาครี แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่ายมีข้อพิพาทกันภายในบอร์ดบริหาร บริษัทโดนตรวจสอบในเรื่องทำผิดกฎข้อบังคับทางการเงิน และราคาถ่านหินที่ร่วงลงอย่างหนัก ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ภูมิ และบาครี กำลังหาทางออกในหลายๆ ด้าน รายงานข่าวในคราวนั้นยังระบุด้วยว่า การเข้ามาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้เกิดความกังวลว่า ข้อตกลงระหว่างภูมิ กับบาครี อาจยุติไปแล้ว และบรรดานักลงทุนก็กังวลว่า ข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นกับ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น อาจน่าสนใจน้อยกว่าข้อตกลงเดิม แต่ทั้ง "ภูมิ และพ.ต.ท.ทักษิณ" ก็ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในเรื่องนี้

นั่นเป็นแค่ 2 ตัวอย่างเล็ก ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ "นายพิชัย" พูดและพยายามหยิบมาตี คสช.นั้น...เป็นการขว้างงูไม่พ้นคอ เพราะแม้ทิศทางโลกมีแนวโน้มว่า จะผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินน้อยลงตามที่นายพิชัยอ้าง แต่นายใหญ่ของเขากลับไปลงทุนในเหมืองถ่านหิน ซึ่งว่าไปแล้วก็แค่ 5 - 6 ปีที่ผ่านมานี่เอง...ไม่ได้ยาวนานอะไร และถึงแม้จะอ้างว่า...ขายหุ้นไปแล้ว...แต่นั่นก็เท่ากับเป็นการยืนยันว่า ได้มีการซื้อหุ้น และลงทุนในเหมืองถ่านหินจริง ก่อนจะขายหุ้นออกไปด้วยเหตุผลใดก็ตาม

และนั่นจึงเป็นเหตุที่ต้องกล่าวว่า...ที่สุด "นายพิชัย" ก็ขว้างงูไม่พ้นคออีกครั้ง...เพราะสิ่งที่พยายามจะเหน็บ คสช. โดยเฉพาะเรื่องถ่านหินนั้น....ล้วนเคยเป็นสิ่งที่นายใหญ่...เข้าไปลงทุนมาแล้ว