นับหนึ่งแล้ว?! "ไพบูลย์"ยื่นฟ้อง "อดีตอธิบดีอัยการฯ" ปมสั่งคดี กปปส.มิชอบ ยันชัดเร่งรีบผิดปกติ-พิจารณาเอกสาร 6 หมื่นแผ่นแค่ 6 วัน

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

 

นับหนึ่งแล้ว?! "ไพบูลย์  นิติตะวัน" อดีตสมาชิก สปช. และผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป ยื่นฟ้อง "อดีตอธิบดีอัยการฯ"  ปมสั่งคดี "กปปส." ข้อหากบฏ ยันชัดสั่งคดีเร่งรีบผิดปกติ พิจารณาเอกสารเกือบ 6 หมื่นแผ่นใช้เวลาแค่เพียง 6 วัน ไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้าข่ายผิด 157


วันนี้ (7 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน  อดีตสมาชิก สปช. และผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป ได้กล่าวถึงกรณีอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ได้เร่งรีบมีคำสั่งเห็นควรสั่งฟ้องกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ทั้งหมด 51 คน ซึ่งมีนายไพบูลย์อยู่หนึ่งในนั้น ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ทั้งที่ใช้เวลาเพียง 6 วัน ในการพิจารณาสำนวนคดีจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จำนวน 217 แฟ้ม ประกอบด้วยเอกสารจำนวน 57,514 แผ่น

 

 

โดยคดีนี้เป็นเหตุการณ์ที่สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 7 พ.ค.57 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 28  ต้องพ้นจากเก้าอี้รักษาการนายกฯ พร้อมกับ 9 รัฐมนตรี ตามคำฟ้องของนายไพบูลย์ ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาในขณะนั้น  และส่งผลให้คณะรัฐมนตรีขณะนั้นสิ้นสภาพ และเกิดสูญญากาศทางการเมืองจนทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจฯในวันที่ 22 พ.ค.2557

และเป็นมูลเหตุให้วันต่อมาในวันที่ 8 พ.ค.2557 อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษในขณะนั้น ได้เร่งรีบมีคำสั่งเห็นควรสั่งฟ้องกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ทั้งหมด 51 คนซึ่งมีนายไพบูลย์อยู่หนึ่งในนั้น ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ทั้งที่ใช้เวลาเพียง 6 วันเท่านั้น ในการพิจารณาสำนวนคดีจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จำนวน 217 แฟ้ม ประกอบด้วยเอกสารจำนวน 57,514 แผ่น

นายไพบูลย์ ระบุว่า ตนจึงได้ยื่นฟ้องดำเนินคดีอาญา อดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ผู้มีคำสั่งฟ้องคดีการชุมนุม กปปส.เมื่อปี 2557 เป็นจำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 โดยกล่าวหาว่า อดีตอธิบดีอัยการฯ ได้สั่งคดีอย่างเร่งรีบรวบรัดผิดปกติ ไม่เป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งคดีโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่ประชาชนให้เป็นบรรทัดฐาน ในการสั่งคดีของอัยการ จะต้องเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมต่อประชาชน จึงนำคดีมาฟ้องอดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ